×

ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีหรือไม่? กรมสรรพากรแจงออฟไลน์-ออนไลน์ต้องเท่าเทียมกัน

27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รองอธิบดีกรมสรรพากรมองว่าไม่ว่าจะขายของออนไลน์หรือออฟไลน์ ผู้ประกอบการก็จะต้องเสียภาษีเหมือนๆ กัน ในอัตราที่เท่ากัน ไม่ได้มีฝั่งใดได้รับสิทธิพิเศษกว่าใคร เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการทำธุรกิจ
  • กฎหมายที่สรรพากรกำลังดำเนินขั้นตอนการเสนอให้ประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ คือกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศต้องเสียภาษีเมื่อเข้ามาดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย เพื่อป้องกันภาวะเงินรั่วไหลออกต่างประเทศ ไม่ใช่กฎหมายสำหรับผู้ค้าอีคอมเมิร์ซแต่อย่างใด
  • นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเชื่อว่าการที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ แห่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยถือเป็นผลดีกับประเทศในระยะสั้นและกลาง แต่ในระยะยาวอาจเกิดการผูกขาดกับตลาดได้หากไม่ระวังให้ดี

 

หนึ่งในประเด็นคำถามที่คาใจพ่อค้าแม่ค้าไทยบนโลกโซเชียลมากที่สุดในระยะหลังๆ มานี้คือ การขายของออนไลน์ยังต้องเสียภาษีอยู่หรือไม่? เพราะฝั่งกรมสรรพากรโดยอธิบดี ‘ประสงค์ พูนธเนศ’ ก็มีความชัดเจนถึงการออกนโยบายการจัดเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้

 

แต่ที่สุดแล้วนโยบายที่ชัดเจนและเป็นทางการจากทางภาครัฐก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเสียที สร้างความกังวลใจต่อผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายย่อยหลายๆ เจ้าอย่างต่อเนื่องทุกวี่วัน

 

กลางปีที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com โดยภาวุธบอกว่าตนเห็นด้วยกับนโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ที่ทำให้เกิดเงินรั่วไหลออกนอกประเทศมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับผู้ค้ารายเล็กๆ รัฐควรจะมีนโยบายที่ส่งเสริมมากว่าการ Disrupt (คลิกอ่านได้ที่นี่)

 

ขณะที่เมื่อติดต่อไปยัง ประสงค์ พูนธเนศ เพื่อขอทราบความชัดเจน รายละเอียด นโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ที่จะเกิดขึ้น กลับได้รับคำตอบว่ายังไม่สะดวกเพราะมาตรการต่างๆ ยังอยู่ในวาระขั้นตอนการหารืออยู่

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้เข้าร่วมงาน ‘มหกรรมอีคอมเมิร์ซแห่งชาติ Thailand e-Commerce Week 2017’ ที่ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) เป็นผู้จัดขึ้น ซึ่งช่วงไฮไลต์ของงานอยู่ที่หัวข้อเสวนาเรื่องการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ

 

 

รองอธิบดีกรมสรรพากรชี้ขายของออนไลน์-ออฟไลน์ การจัดเก็บภาษีไม่ต่างกัน เพื่อความเสมอภาค

แพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกลางวงเสวนาว่าการขายของออนไลน์และออฟไลน์จะต่างกันก็แค่ปัจจัยเรื่องช่องทางเท่านั้น เพราะฉะนั้นแนวทางในการจัดเก็บภาษีของผู้ค้าทั้ง 2 ประเภทนี้ก็คงไม่แตกต่างจากกันสักเท่าไร เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความยุติธรรมในการทำการค้า

 

“ไม่ว่าจะเป็นการค้าแบบออฟไลน์หรือออนไลน์สิ่งที่ต่างกันคือช่องทาง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีความยุติธรรมเพื่อให้เกิด Fair game และการเก็บภาษีก็คงไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ค้า SME รายเล็กๆ บางรายหลังนำค่าใช้จ่ายมาหักลบแล้วอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ

 

“การที่ผู้ประกอบการไม่ได้อยู่ในระบบภาษีในอนาคตจะโตยาก ไม่ว่าจะการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือขอสินเชื่อก็จะเหนื่อยไปหมด กรมสรรพากรจึงอยากสนับสนุนให้ผู้ค้าทุกรายเข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องเพื่อความสะดวกของตัวท่านเอง และเราก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือท่านเต็มที่อยู่แล้ว ที่สำคัญคือมั่นใจได้ว่าเมื่อท่านเข้าสู่ระบบการเสียภาษีแล้วนอกจากจะขยายธุรกิจได้อย่างไร้ปัญหาก็จะนอนหลับสบายแน่นอน”

 

ขณะที่เมื่อ สุรางคณา วายุภาพ ผอ. สพธอ. ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้ยกประเด็นเรื่องทิศทางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจบปี 2560 นี้ มูลค่าการค้าออนไลน์จะมีมากถึง 2.8 พันล้าน เช่นนั้นแล้วสรรพากรจะมีนโยบายพิเศษ หรือพอจะเป็นไปได้ไหมกับการจำกัดเพดานภาษีแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ค้าออนไลน์?

 

“ในความเป็นจริงเรา (กรมสรรพากร) ไม่สามารถออกภาษีให้เฉพาะเคสได้ ไม่สามารถเลือกได้ว่าผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจะต้องเสียภาษีอีกแบบต่างจากการเสียภาษีของผู้ประกอบการทั่วๆ ไป แต่สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งบริษัทอาจจะได้รับประโยชน์มากกว่า

 

“ถ้าดูย้อนหลังไปสองปีก็จะพบว่าสรรพากรช่วยผู้ประกอบการเยอะมาก เราไม่เคยย้อนไปดูประวัติเก่าๆ เลย เพราะมีกฎหมายบังคับอยู่ และก็ไม่ได้เรียกเก็บภาษีย้อนหลังด้วย แต่สิ่งที่ท่านต้องทำตามต่อไปคือ ‘ต้อง’ แสดงรายรับและรายจ่ายที่ถูกต้อง สรรพากรสนับสนุนให้ผู้ค้าทุกท่านเข้าสู่ระบบภาษีอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเพื่อการเติบโตขององค์กรในขนาดที่ใหญ่ขึ้น”

 

เมื่อถามถึงแนวทางที่กรมสรรพากรจะใช้จัดการกับผู้ประกอบการสื่อรายใหญ่ๆ จากต่างประเทศอย่างเช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิลที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แพตริเซีย มองว่า

 

“ผู้ประกอบการรายยักษ์ขนาดนั้นพวกเขาไม่ได้ไม่เข้าสู่ระบบการเสียภาษี แต่พยายามใช้โครงสร้างบางอย่างในการออกจากระบบมากกว่า เพราะในหลายๆ ประเทศก็มีกฎหมายบังคับการดำเนินธุรกิจของพวกเขาอยู่ แต่ปัญหาของเราคือไม่ได้มีกฎหมายเหล่านั้น สิ่งที่เราทำคือพยายามจะแก้ไขกฎหมายเพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีกับผู้ค้าต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย อย่าเข้าใจผิดว่าเราพยายามจะออกกฎหมายอีคอมเมิร์ซ เพราะเราไม่ได้ทำแบบนั้น เราแค่พยายามจะทำให้ผู้ค้าออนไลน์และออฟไลน์ปฏิบัติเหมือนกันในการเสียภาษี เพราะเราอยากเห็นการดำเนินธุรกิจที่ยุติธรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยไม่ถูกบีบตายจากช่องว่างทางกฎหมายเรื่องภาษีที่ผู้ประกอบการต่างประเทศใช้ประโยชน์”

 

นอกจากนี้ แพตริเซีย ยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุกประเทศก็เจอปัญหาการเรียกเก็บภาษีจากผู้ค้ารายใหญ่จากต่างประเทศเหมือนกันหมด (เฟซบุ๊ก, กูเกิล) และพวกเขาก็พยายามจะหาทางออกจากปัญหานี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งกฎหมายที่ทางสรรพากรไทยกำลังร่างอยู่ในขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอตามขั้นตอนอยู่ แต่ประชาพิจารณ์น่าจะเห็นชัดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ส่วนผู้ประกอบการจากต่างประเทศก็ให้ความเห็นถึงความกังวลที่พวกเขามีต่อประชาพิจารณ์นี้เช่นกัน”

 

 

นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย เชื่อศึกอีคอมเมิร์ซไทยดุเดือดดีต่อประเทศ แต่ระยะยาวอาจไม่แน่ ด้านตัวแทน ธปท. แจง ‘พร้อมเพย์’ ปลอดภัย 100%

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าวงการอีคอมเมิร์ซไทยดูจะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ประกอบการรายยักษ์จากจีนกระโจนเข้ามาบุกตลาดไทยมากขึ้น อย่างเช่น JD.com ที่จับมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ในการทำตลาดในประเทศไทย

 

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ในฐานะของนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปัจจุบันว่า การมีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่เข้ามา ถ้ามองในระยะสั้นและกลางถือว่าดีมาก เพราะเขาเทงบลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ถ้ามองในระยะยาวก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าสุดท้ายแล้วผู้ประกอบการท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบเดือดร้อนไหม?

 

“การแข่งขันตอนน้ีต้องยอมรับว่า Local Market Place จะสู้ได้ท้าทายมากขึ้น แต่พวกเขาก็จะต้องแตกต่างและมีลักษณะจำเพาะไม่เหมือนกับผู้ค้ารายใหญ่ๆ เหมือนกัน

 

“รัฐจะต้องดูให้ดีว่าจะเกิดการผูกขาดจากผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หรือเปล่า เพราะเมื่อระบบนิเวศ (Ecosystem) มันผูกด้วยกันทั้งหมด มันก็จะเกิดผลกระทบต่อทั้งภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ฝั่งการค้าปลีกหรือฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น คงต้องดูว่ากฎหมายเรื่องการผูกขาดการค้าในไทยจะนำมาใช้ได้ไหม?”

 

ในงานเสวนายังมีการยกประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ขึ้นมาขยายความด้วย จากการเปลี่ยนผ่านของการใช้เงินสด ธนบัตรเงินตรา ไปสู่การใช้ QR Code พร้อมเพย์ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ‘สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)’ อีกด้วย

 

Photo: BOT

 

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินกล่าวว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มองเห็นทิศทางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเช่นกัน ซึ่งปัจจัยสนับสนุนด้านการชำระเงินก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีระบบชำระเงินที่สะดวกจะช่วยให้การค้าขายคล่องตัวมากขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับสมาคมธนาคารพัฒนาระบบการชำระเงินที่ง่ายและดีมากขึ้น

“อย่างต้นปีเราก็ทำเรื่องพร้อมเพย์ที่ทำให้ประชาชนและนิติบุคคลสามารถชำระเงินและโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์ได้ หลังจากนั้นเราก็พัฒนาให้ E-wallet สามารถโอนเงินเข้าสู่ธนาคารได้อีก

 

“ในเรื่องความปลอดภัยเรามีบริษัทดูแลที่เป็นมาตรฐานสากล และเราก็ยังตรวจเช็กมาตรฐานอยู่แล้วทุกปี จึงมั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย และตั้งแต่ที่เราทำพร้อมเพย์มาก็ต้องเรียนย้ำอีกครั้งว่าสรรพกรไม่เคยขอเรียกดูข้อมูลผู้ใช้งานเลยสักครั้ง และก็ไม่สามารถทำได้ด้วย เนื่องจากพร้อมเพย์เป็นแค่ระบบการชำระเงิน

 

Photo: Pixabay

 

ส่วนการชำระเงินผ่านการสแกน QR Code ที่ธนาคารในประเทศไทยหลายแห่งตกลงปลงใจที่จะใช้ระบบนี้ร่วมกันเป็นมาตรฐานนั้น ทางสิริธิดาเล่าถึงที่มาว่าเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้จากโมเดลของธนาคารต่างประเทศหลายๆ แห่ง ซึ่งช่วยให้เกิดความสะดวกต่อทั้งตัวผู้ค้าและผู้ขายนั่นเอง

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X