×

ผู้เสียหายเข้าให้ข้อมูล-แจ้งความกับตำรวจ ปคบ. หลังร่วมลงทุนธุรกิจขายตรงออนไลน์ ด้านทนายเดชาพุ่งเป้าที่คดีแชร์ลูกโซ่ ขยายต่อถึงฐานความผิดฟอกเงิน

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2024
  • LOADING...
ขายตรง

วันนี้ (10 ตุลาคม) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัท ขายตรง ออนไลน์ จำนวน 20 คน เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

 

รภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า บุคคลผู้เสียหายในกลุ่มขณะนี้ที่รวมตัวกันมีประมาณ 500 คน แต่มีบางคนที่วันนี้ไม่สะดวกเดินทางมาเพราะอยู่ต่างจังหวัด และติดธุระส่วนตัว สาเหตุที่มาในวันนี้เพราะเห็นว่า พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงพาผู้เสียหายมาให้ข้อมูลกับตำรวจในประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าเพราะเหตุใดธุรกิจของบริษัทนี้ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก 

 

บางคนขายของไม่ได้ อีกทั้งถูกชักชวนให้เข้าไปเรียน เข้าร่วมงานอีเวนต์ จนมีคนเชื่อแล้วยอมลงทุน บางคนใช้เงินเกษียณที่เป็นเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุน บางคนใช้เงินเก็บที่เก็บมาทั้งชีวิตลงทุนจนหมด สุดท้ายกลายเป็นหนี้สินจนคิดจะฆ่าตัวตาย 

 

การเดินทางมาในวันนี้ไม่ใช่การกล่าวหาว่า สิ่งที่บริษัททำนั้นผิดกฎหมาย แต่เพื่อหาคำตอบว่าเพราะอะไรธุรกิจนี้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้กลุ่มผู้เสียหายได้โชว์สินค้าของบริษัทและฉีกซองเทสินค้าทิ้งเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะสินค้า

 

ทางตัวแทนของผู้เสียหายเปิดเผยถึงบริษัทว่า ผู้เสียหายทุกคนเริ่มรู้จักธุรกิจของบริษัทนี้ในลักษณะเดียวกัน คือโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อโซเชียลมีเดีย โดยธุรกิจนี้จะยิงโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด หลายคนต้องการหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เลยสนใจที่จะลงเรียน ซึ่งเป็นการเรียนแบบออนไลน์ โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวน 98 บาท หรือ 99 บาท 

 

สองวันแรกจะเป็นการเรียนการสอนเรื่องธุรกิจของบริษัท จากนั้นวันที่สามจะมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่าแม่ทีมลงมาสอน หากใครสนใจทำธุรกิจก็จะให้ข้อมูลว่า ธุรกิจนี้เป็นการสร้างรายได้เพิ่มโดยที่ไม่ต้องกักตุนของ ไม่ต้องมีสินค้าในมือ มีระบบช่วยเหลือหลังบ้านทั้งหมด

 

จากนั้นจะมีการเสนอให้เรียนคอร์สที่ราคาสูงขึ้นในราคา 2,500 บาท ซึ่งคอร์สนี้จะสามารถเรียนรู้ระบบของบริษัทได้มากขึ้นกว่าเดิม จากนั้นจะมีโค้ชนัดมาเรียนที่โรงเรียน เป็นการเรียนในห้อง นอกจากนี้จะมีครูพี่เลี้ยงหรือแม่ทีมมาช่วยประกบ หากเริ่มสนใจจะลงทุนแล้วจะมีคอร์สเรียนที่สูงขึ้นไปอีกในราคา 25,000 บาท โดยในคอร์สนี้จะถูกชักจูงว่าหากทำธุรกิจจะทำให้มีรายได้เพิ่ม และทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป หากใครสนใจจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนจำนวน 250,000 บาท

 

ผู้เสียหายกล่าวต่อว่า ตอนแรกยอมรับว่ายังไม่มั่นใจที่จะลงทุน 250,000 บาท แต่พอผ่านไปสักพักได้มีโอกาสร่วมงานประจำเดือนของบริษัท ทั้งอบรมและประชุม พอเริ่มเข้าไปอบรมก็จะมีดารานักแสดงชื่อดังมาพูดจนสร้างความเชื่อมั่น ทำให้รู้สึกว่าบริษัทนี้มีระบบรองรับทุกอย่าง ระบบหลังบ้านก็ดี การตลาดก็ดี และสินค้าก็ดี โดยดารานักแสดงชื่อดังจะพบเจอได้เฉพาะงานอีเวนต์ ซึ่งจะมีค่าบัตรเข้าร่วมงานจำนวน 1,500 บาท เท่าที่เห็นมี 3 คนด้วยกัน ซึ่ง 3 คนนี้เท่าที่ได้ยินมาไม่ใช่แค่เป็นพรีเซนเตอร์ แต่เป็นถึงระดับผู้บริหารที่คนจะเรียกกันว่า ‘บอส’

 

พอเริ่มสนใจในการจะลงทุนธุรกิจแต่ตอนแรกเงินมีไม่พอ บัตรเครดิตก็มีไม่พอ จนมีแม่ทีมเป็นคนแนะนำให้ขยายวงเงินในบัตรเครดิต พร้อมแนะนำให้โทรไปหาธนาคารเพื่อขยายวงเงิน ประกอบกับในตอนนั้นแม่ทีมพูดกระตุ้นว่าส่วนแบ่งและผลกำไรจะได้อย่างไรบ้างตามที่แม่ทีมบอก จึงทำให้ตัดสินใจเข้าไปลงทุน โดยใช้เงินเก็บทุกบาทในชีวิตพร้อมกับเงินในบัตรเครดิต จนตอนนั้นไม่เหลือแม้แต่เงินจะกินข้าว 

 

พอหลังจากลงทุนไปแล้วกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่การขายของเหมือนที่บอกไว้แต่แรก แต่เป็นการให้เราไปโฆษณาในโซเชียลมีเดียเหมือนกับที่เคยเจอตอนแรก ด้วยการยิงแอดโฆษณาลงในเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการขายสินค้าเหมือนกับที่ตัวเองนั้นได้ซื้อมา ซึ่งการโฆษณาทางบริษัทก็จะมีสคริปต์ให้พูดทุกอย่าง หากสามารถหาดีลเลอร์หรือสมาชิกใหม่มาได้จะได้เปอร์เซ็นต์จากการหาคนมาสมัครต่อหัว ซึ่งเปอร์เซ็นต์แล้วแต่สินค้าตัวนั้นๆ 

 

ผู้เสียหายรายนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายเริ่มมาแปลกใจเพราะหลังจากที่เริ่มเรียนไปเรื่อยๆ รู้สึกได้ว่าไม่ชอบมาพากล สุดท้ายก็ไม่ได้สอนให้ขายของ แต่สอนให้หาคนมากระจายสินค้าด้วยการยิงแอดโฆษณา หาดีลเลอร์มาลงทุนแบบตัวเอง ซึ่งในตอนนั้นแม้จะไม่มีเงินในการยิงแอดโฆษณา แม่ทีมมีการแนะนำให้เอารถไปรีไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมายิงแอดโฆษณาหาลูกค้าคนอื่น หานักเรียนคนอื่นเข้ามาเรียน ทั้งแนะนำให้มีการชวนเพื่อน มีเบอร์โทรศัพท์คนไหนก็ให้โทรชวนคนนั้น จนตอนนี้ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต เงินที่ใช้ไปลงทุนก็ไม่เคยเห็นผล

 

อีกหนึ่งผู้เสียหายระบุว่า นำเงินเก็บจำนวน 206,000 บาทไปลงทุนจนเกือบคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากว่าตนเองตกงานอยู่แล้วจึงอยากสร้างธุรกิจด้วยการนำเงินไปลงทุน เพราะคิดว่าทำไปอาจได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว เพราะตอนแรกเข้าใจว่าใช้เงินลงทุนแค่ 2,500 บาท พอจ่ายไปแล้วจะต้องไปเรียนเหมือนกับผู้เสียหายรายอื่น โดยมีการขายฝันว่าหากลงทุนแล้วจะได้นู่นได้นี่มา และมีการพูดสโลแกนว่า ‘ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย’

 

ซึ่งเงินเก็บตนเองที่ลงทุนไป 206,000 บาท จนถึงทุกวันนี้ก็ยังใช้หนี้อยู่ แล้วมามีปัญหาชีวิตเพราะคนในครอบครัวไม่มีใครเข้าใจ คนในครอบครัวต้องแตกแยกเพราะตนเอง จนช่วงระยะเวลาหนึ่งตนเองมีภาวะซึมเศร้าและเคยคิดสั้นที่จะฆ่าตัวตายมาแล้ว

 

รภัสสิทธิ์ระบุว่า ทางมูลนิธิฯ พาผู้เสียหายมาให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ตรวจสอบว่าบริษัทนี้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนและผิดฐานแชร์ลูกโซ่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีความผิดในเรื่องการโฆษณาเกินความเป็นจริงและเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หรือไม่ และต่อมาคือผิด พ.ร.บ. ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ. 2445 หรือไม่ นอกจากนั้นอาจมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 เรื่องนำเข้าข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่

 

ขณะเดียวกัน เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ พร้อมด้วย แทนคุณ จิตต์อิสระ และผู้เสียหายกว่า 10 ราย มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีที่ บก.ปคบ. โดยให้ความสำคัญกับกรณีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะนำไปสู่คดีการฟอกเงิน และหากพยานหลักฐานเพียงพอก็จะขอให้ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 

 

แทนคุณระบุว่า พฤติการณ์ของบริษัทนี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อมีผู้หลงเชื่อจะชักชวนให้ร่วมลงทุน เปิดคอร์สราคา 97 บาท ก่อนขยับเป็นขั้นบันไดไปจนถึง 250,000 บาท เพื่อเป็นดีลเลอร์ และสามารถสร้างทีมและรับผลประโยชน์เพิ่ม หลังจากนั้นจะมีการโน้มน้าวเชิญชวนให้ยิงแอดโฆษณาหารายได้ เฉลี่ยแล้ว 1 คนจะเสียหายอย่างน้อย 5 แสนกว่าบาท 

 

จากข้อมูลล่าสุด มีผู้เสียหายที่มาร้องเรียนที่ทนายเดชาแล้วมากกว่า 500 คน และวันนี้เป็นตัวแทนมา 10 คน ส่วนผู้เสียหายรายอื่นเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่บ้านตนเอง

 

แทนคุณกล่าวต่อว่า จากการสอบถามผู้เสียหายพบว่า ดาราที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารโดยตรง มี 5-6 คน กลุ่มสอง กลุ่มของพรีเซนเตอร์ที่บริษัทจ้างมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีจำนวนหลายคน และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่มีความสัมพันธ์และถูกเชิญเข้าไปร่วมอีเวนต์ของบริษัท ทางผู้เสียหายยืนยันว่าดารากลุ่มแรกเข้ามาบริหารจริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising