×

‘เกรียนลูกหนังออนไลน์’ จากเหยียดผิวนักฟุตบอลถึงขู่ฆ่ากรรมการ ความรุนแรงรูปแบบใหม่ในวงการลูกหนัง

09.02.2021
  • LOADING...
‘เกรียนลูกหนังออนไลน์’ จากเหยียดผิวนักฟุตบอลถึงขู่ฆ่ากรรมการ ความรุนแรงรูปแบบใหม่ในวงการลูกหนัง

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักฟุตบอลมีชื่อเสียงหลายราย อาทิ อักเซล ตวนเซเบ, อองโตนี มาร์กซิยาล, โรแมง ซอว์เยอร์ส, อเล็กซ์ ยานเควิตซ์, รีซ เจมส์ และ ลอเรน เจมส์ (นักฟุตบอลหญิงน้องสาวของรีซ) ที่ถูกเหยียดสีผิวบนโซเชียลมีเดีย
  • ในฤดูกาลที่แล้วมีจำนวนเกมฟุตบอลลงแข่งขันในอังกฤษและเวลส์ทุกระดับจำนวน 2,663 นัด และมีจำนวนถึง 287 นัด หรือมากกว่า 10% ของจำนวนเกมทั้งหมดที่จะต้องมีเหตุการณ์การกระทำผิดในเรื่องนี้
  • สมาคมฟุตบอล (FA) เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเร่งดำเนินการอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะกับบริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย 

ปกติแล้วในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงล่วงเข้าเดือนมีนาคมของทุกปี ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นช่วงเวลาที่เรียกขานกันว่า Black History Month หรือเดือนแห่งประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน

 

โดยตลอดทั้งเดือนจะมีการเชิดชูผลงานและบทบาทสำคัญของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันต่อประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการให้ความรู้แก่ผู้คนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติซึ่งหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจผู้คนมายาวนานหลายร้อยปี

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการต่อสู้ รณรงค์ และเรียกร้องอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ได้ปลุกกระแส Black Lives Matter ที่ได้รับการขานรับโดยเฉพาะในวงการกีฬา ที่เหล่านักกีฬาระดับโลกได้แสดงจุดยืนต่อต้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน

 

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่นักกีฬาเหล่านี้ทำคือการนั่งคุกเข่าลงในช่วงระหว่างก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไม่เป็นทางการ เพราะแม้จะไม่มีการบังคับ ใครใคร่ทำก็ทำ ใครไม่สะดวกใจก็ไม่ว่ากล่าว แต่ก็มีการตกลงร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ที่จะแสดงออกถึงเรื่องนี้ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาและคุณค่าของความเป็นคนที่เท่าเท่ียมกัน

 

ธรรมเนียมการคุกเข่านี้ยังได้เดินทางมาถึงในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่เหล่านักฟุตบอลและสตาฟฟ์โค้ชยินดีที่จะทำ ด้วยหวังว่าทำให้แฟนบอลรับรู้และเข้าใจมากขึ้น

 

แต่ดูเหมือนความพยายามหลายเดือนที่ผ่านมาจะไม่เป็นผล เมื่อปัญหาการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรงกำลังกลับมาอีกครั้ง โดยเจตนาร้ายนั้นเหมือนเก่า แค่เปลี่ยนวิธีใหม่จากการตะโกนด่ากันในสนามเป็นการอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียแทน

 

จากตู้ไปรษณีย์ อีเมล ถึงแอ็กหลุมและอินบ็อกซ์ 

 

ในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวนักฟุตบอลมีชื่อเสียงหลายรายที่ถูกแฟนฟุตบอล (ที่ไม่สมควรจะเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนบอล) ส่งข้อความในเชิงการเหยียดสีผิวใส่

 

รายชื่อนักฟุตบอลดังกล่าวมีทั้ง อักเซล ตวนเซเบ, อองโตนี มาร์กซิยาล, โรแมง ซอว์เยอร์ส, อเล็กซ์ ยานเควิตซ์, รีซ เจมส์ และ ลอเรน เจมส์ (นักฟุตบอลหญิงน้องสาวของรีซ)

 

แม้แต่คนที่เป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด เองก็ไม่ถูกละเว้น

 

สิ่งที่นักฟุตบอลเหล่านี้ (และเชื่อว่ามีอีกมากที่โดนแต่ไม่เป็นข่าว) ทำก็ไม่ต่างอะไรจากที่ ไซริลล์ รีจิส อดีตนักฟุตบอลผิวดำที่ติดทีมชาติอังกฤษคนแรกเคยถูกกระทำเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ด้วยการส่งลูกกระสุนพร้อมข้อความอาฆาตมาดร้ายมาให้ทางไปรษณีย์ หรือ อัฟราม แกรนต์ อดีตผู้จัดการทีมเชลซี ที่ได้อีเมลหลายสิบฉบับที่มีข้อความเหยียดหยันเชื้อชาติอิสราเอลของเขาเมื่อครั้งรับตำแหน่งเมื่อปี 2008

 

แฟนบอลเหยียดผิวพวกนี้แค่เปลี่ยนวิธีใหม่จากไปรษณีย์และอีเมลมาเป็นการส่งความเกลียดชังผ่านอินบ็อกซ์ (หรือ Replies ในทวิตเตอร์) เท่านั้น โดยที่จำนวนไม่น้อยมีการปิดบังตัวตนที่แท้จริงด้วยการใช้ ‘แอ็กหลุม’ (บัญชีรายชื่อที่ไม่ได้ใส่ข้อมูลจริงๆ) เพราะเชื่อว่าจะไม่ถูกจับได้

 

ความจริงสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักฟุตบอลผิวสีต้องเผชิญมาโดยตลอด แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้กลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้นมา เพราะมีนักฟุตบอลที่ถูกเล่นงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่เป็นเหยื่ออธรรมอย่างรุนแรง

 

สิ่งที่น่าตกใจคือ ในฤดูกาลที่แล้วมีจำนวนเกมฟุตบอลลงแข่งขันในอังกฤษและเวลส์ทุกระดับจำนวน 2,663 นัด และมีจำนวนถึง 287 นัด หรือมากกว่า 10% ของจำนวนเกมทั้งหมดที่จะต้องมีเหตุการณ์การกระทำผิดในอาชญากรรมที่เกี่ยวกับความเกลียดชัง

 

จำนวนผู้ที่ถูกจับกุมเพราะการเหยียดผิวหรือตะโกนร้องเพลงในเชิงเหยียดผิวเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 150% แม้ว่าจะไม่มีแฟนบอลเข้าสนามได้เลยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

และล่าสุดยังมีการขู่ฆ่า ไมค์ ดีน ผู้ตัดสินระดับพรีเมียร์ลีกจนทำให้มีการร้องขอในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว 

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าเศร้า เพราะแม้ว่าดีนจะทำหน้าที่ผิดพลาดร้ายแรง แต่ก็ไม่มีใครควรจะถูกขู่ฆ่ายกครอบครัวเพราะการทำงานในสนามฟุตบอลแบบนี้

 

การเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดสีผิว

 

วิวัฒนาการของเกรียนลูกหนัง

 

ย้อนหลังกลับไปราว 30-40 ปีที่แล้ว ปัญหาใหญ่ของวงการฟุตบอลอังกฤษคืออันธพาลลูกหนังที่เรียกว่า ‘ฮูลิแกน’ (Hooliganism) ที่ซึ่งจะใช้การแสดงออกตามความเชื่อของตัวเองด้วยความรุนแรง เถื่อน ถ่อย

 

การแสดงออกเหล่านั้นเป็นการแสดงออกของกลุ่มแฟนบอลที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และเชื่อว่าหากพวกเขาแสดงความเข้มแข็งออกมาด้วยการใช้ความรุนแรงมากเท่าไรก็จะยิ่งได้รับการยอมรับมากขึ้นเท่านั้น

 

“คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีอะไรให้จดจำมากนักในชีวิตประจำวัน การทำสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า พวกเขาต้องการจะเล่นงานใครสักคนเพื่อให้รู้สึกว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่” ดร.เจมี คลีแลนด์ นักสังคมวิทยากล่าวถึงฮูลิแกนในอดีต ซึ่งนอกจากจะอาละวาดฟาดฟันกับกองเชียร์คู่แข่งแล้ว พวกเขายังอาฆาตต่อนักฟุตบอลที่มีสีผิวไม่เหมือนกับพวกเขาด้วย และปฏิบัติต่อคนผิวสีราวกับว่าไม่ใช่คนเหมือนกัน

 

รวมถึงบางครั้งก็ลามไปถึงกลุ่ม LGBT ที่กลายเป็นเป้าในการโจมตีด้วย

 

สำหรับในปัจจุบันแฟนบอลจำนวนมากก็ยังปฏิบัติในแบบเดียวกัน และที่แย่กว่าในอดีตคือคราวนี้พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ในมุมหนึ่งของโลกโซเชียลมีเดีย โลกที่ไม่มีใครที่จะคอยให้คำแนะนำ ตักเตือน หรืออย่างน้อยห้ามปรามหากสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมันเป็นการ ‘ล้ำเส้น’ เกินไป

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในกลุ่มแฟนบอลนิสัยเสียเหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าคนรุ่นก่อน​ โดยที่ปัญหาความห่างระหว่างแต่ละช่วงวัยยิ่งทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอิสระไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมใดๆ 

 

พวกเขาทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่สนใจขนบหรือค่านิยมใดๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกสังคมในทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนกันที่คนรุ่นก่อนต้องรับมือและพยายามทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ 

 

และปัญหาคือส่วนใหญ่จะเข้าใจไม่ตรงกัน โดยที่ไม่มีใครที่จะหาวิธีบอกให้พวกเขาได้รู้และเข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำเหยียดสีผิวหรือสบถคำหยาบ ด่าทอต่างๆ นานา มันไม่ใช่เรื่องคูลๆ ของคนคูลรุ่นใหม่เลย

 

ปิดประตูตีแมว

 

ในขณะที่แอ็กหลุมจำนวนมากไล่ถล่มนักฟุตบอลผิวสีและผู้ตัดสินที่พวกเขาชิงชังอย่างเมามัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็พยายามที่จะปิดประตูและวิ่งไล่จับกลุ่มคนเหล่านี้

 

แต่ปัญหาคือหลักฐานนั้นไม่ใช่ภาพหรือเสียงที่สามารถระบุตัวตนได้เหมือนเก่า มันเป็นเพียงแค่ข้อความบนโซเชียลมีเดีย และตัวตนที่เห็นนั้นก็ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

 

เรื่องนี้จึงถูกยกขึ้นเป็นประเด็นใหญ่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาในวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อมีความพยายามจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาครัฐ หรือสมาคมฟุตบอลที่ต้องการให้บริษัทผู้ประกอบกิจการให้บริการโซเชียลมีเดียให้ความร่วมมือกับทางการเพื่อจัดการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

 

มิเกล อาร์เตตา ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล เป็นหนึ่งในคนที่ออกมาเรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้พยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

“มันมีการเหยียดหยันด่าทอกันมากมายหลายรูปแบบ และผมคิดว่ามันควรจะถูกลบให้หายไปทั้งหมด ผมคิดว่าโซเชียลมีเดียควรจะมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างสูง เพราะก่อนนี้ก็มีการพูดถึงเรื่องของสภาพจิตใจของนักกีฬาและการที่พวกเขาถูกเล่นงานอย่างไร ผมเป็นคนเปิดกว้าง ผมพร้อมจะรับฟังความเห็นของทุกคน แต่ไม่ใช่การเหยียดหยามผู้คน ด่าทอผู้คน และใช้หน้าจอโทรศัพท์มือถือในการจะพล่ามอะไรก็ได้ใส่คนที่พวกเขาไม่ได้รู้จักด้วยซ้ำไป

 

“สิ่งนี้สำหรับผมแล้วมันจะต้องถูกทำให้หายไป เพราะมันสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเกมฟุตบอลและความเสียหายต่อคนส่วนใหญ่ ผมคิดว่าเราควรต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และพวกเขา (ผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย) ควรจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพวกเราและอุตสาหกรรมของเรา”

 

สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) เองก็เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะหลังจากที่ปัจจุบันนี้ลามมาถึงนักฟุตบอลหญิงอย่าง ลอเรน เจมส์ แข้งสาวทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด น้องสาวของ รีซ เจมส์ แบ็กขวาดาวเด่นของเชลซี

 

ลอเรน เจมส์ โพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า “ตอนนี้มันน่าเบื่อจริง อินสตาแกรมจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะเสียคนจำนวนมากบนแพลตฟอร์มของพวกเขาไป เพราะมันอาจจะเป็นทางเดียวที่พวกเขาจะรับฟัง

 

“เป็นไปได้ไหมที่อย่างน้อยเอาอีโมจิที่สื่อถึงความหมายในเชิงการเหยียดผิวออกไป เพราะมันง่ายสำหรับเด็กบางคนที่จะแค่พิมพ์อีโมจิลงไปในการพยายามจะสื่อความหมาย ทุกวันนี้มีแต่การพูดกันไม่เห็นทำอะไรกันได้จริงสักอย่าง ทุกอย่างก็เหมือนเดิม”

 

สำหรับทางการอังกฤษ โอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ย้ำว่ารัฐบาลอังกฤษจะดำเนินการอย่างจริงจัง และกำลังมีความคิดที่จะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้ตรวจสอบผู้ประกอบการกิจการโซเชียลมีเดียได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม จะได้สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้

 

ด้านอินสตาแกรมรับลูกด้วยการประกาศจุดยืนว่าไม่มีที่สำหรับคนเหยียดผิวบนโซเชียลมีเดีย และขณะนี้กำลังประสานงานกับนักฟุตบอล สโมสร และองค์กรฟุตบอลในการที่จะจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Lauren James (@laurennjjames)

 

 

ปัญหาของแฟนบอล (อาจ) ต้องใช้แฟนบอลแก้

 

ทุกครั้งที่การเหยียดสีผิวเกิดขึ้น จะมีการพูดเสมอว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการให้การศึกษาแก่ผู้คน

 

แต่ปัจจุบันสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะการรณรงค์ที่ผ่านมานั้นไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดไปหรืออย่างน้อยลดลง ในทางตรงกันข้ามตัวเลขจำนวนคดีและผู้กระทำผิดได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออาจจะแรงขึ้นและรับมือยากขึ้นด้วย

 

“ผมเห็นคนมากมายมีการถกเถียงกันว่าการให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ดูจากหลายๆ ทางแล้วผมคิดว่าเราผ่านจุดนั้นไปแล้ว และปัญหานั้นหยั่งรากลึกกว่านั้นมาก ทุกอย่างมันดูจะเกินกว่าที่จะควบคุมจนแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุม” ดร.คลีแลนด์ ให้ความเห็นเรื่องนี้

 

“แต่สังคมจำเป็นจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง โดยเฉพาะกับวิธีการที่เรารับมือกับคนอื่น”

 

นักวิชาการอีกคนที่ชี้ทางออกที่น่าสนใจคือ ดร.มาร์ก ดอยดจ์ ที่ระบุว่า หากปัญหานั้นเริ่มที่แฟนบอล บางครั้งก็ควรจะจบที่แฟนบอลด้วยกันเอง

 

“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถร่วมมือกันได้หากตระหนักว่ามันเป็นปัญหาใหญ่” นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไบรท์ตันให้ความเห็น “สโมสรสามารถมีส่วนสำคัญก็จริง แต่ทางที่ดีที่สุดคือการหาทางให้แฟนฟุตบอลเป็นฝ่ายเริ่มจากฐานแฟนบอลตัวเอง ไม่ใช่ไปเริ่มจากองค์กรอย่างยูฟ่า ไม่ใช่ตำรวจ แต่ต้องเริ่มจากเพื่อนของพวกเราเอง”

 

แต่ข้อเสนอแนะนี้เป็นเพียงแค่ความคิด และแนวทางในการจะนำไปปฏิบัติจริงนั้นเป็นสิ่งที่คงต้องมีการใช้กำลังสมองกันพอสมควร

 

เพียงแต่หากวงการฟุตบอลสามารถรวมพลังและผลักดันการแก้ไขปัญหา การห้ามปราม หยุดยั้งไม่ให้สิ่งน่ารังเกียจเหล่านี้เกิดขึ้นได้ คุมกำเนิดประชากรเกรียนลูกหนังออนไลน์ หรืออย่างน้อยที่สุดหยุดไม่ให้พวกเขาปากกล้าเกินความจำเป็นได้

 

มากบ้างน้อยบ้าง โลกก็มีความหวังที่จะสงบสุขขึ้นอย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising