ผลกระทบจากการล็อกดาวน์จนต้องปิดโรงเรียนตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 3 ของโควิดเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ทำให้เด็กและเยาวชนหลายคนจำต้องเรียนหนังสือออนไลน์เป็นระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งความเครียดของเด็กที่ต้องรับรู้เนื้อหาผ่านหน้าจอเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบางคนที่ประสบปัญหาอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ซึ่งความเครียดเช่นนี้ส่งผลไปถึงครอบครัวและตัวผู้สอนด้วย ทำให้นักวิชาการและเยาวชนที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัยเสนอให้หยุดเรียนพร้อมกันทั้งประเทศ 1 ปี เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียไปมากกว่านี้ ขณะที่ก็มีผู้แย้งว่าการหยุดเรียนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นวิธีหนีปัญหาที่ไม่ช่วยให้ไปถึงทางออกใดๆ ได้
- ภายหลังต้องปิดโรงเรียนและให้นักเรียน นักศึกษา เรียนออนไลน์แทนตามคำสั่งของรัฐบาล เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ผลปรากฏว่า มีการร้องเรียนอย่างหนักเนื่องมาจากความเครียดของผู้เรียนกับผู้สอน ตลอดจนความติดขัดด้านอุปกรณ์และเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว นักเรียน นักศึกษา หลายคนลงความเห็นว่า เครียดและเกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาหรือเรียนไม่รู้เรื่อง อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าเทอมเต็มจำนวน ทั้งที่เรียนที่บ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ ก็ต้องจ่ายเอง โดยที่รัฐไม่เคยมาดูแล ทั้งยังไม่ได้เจอสังคมใดๆ นอกจากนี้หลายวิชายังเรียกร้องให้ผู้เรียนต้องมีอุปกรณ์การเรียนมากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป เช่น ให้ทำข้อสอบกับคอมพิวเตอร์และตั้งกล้องโทรศัพท์มือถือเพื่อถ่ายตัวเองให้ผู้สอนเห็นว่าไม่ได้โกง เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากและลำบากสำหรับคนไม่มีอุปกรณ์มาก
- ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า เวลานี้เด็กไทยโดดเรียน 20% อันเนื่องมาจากความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลลบในเชิงคุณภาพการศึกษาและสภาพจิตใจของเด็กเอง ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ต่อ อีกทั้งการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัดสินใจให้เด็กเรียนออนไลน์นั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบด้าน โดยไม่มองโลกทัศน์ของการศึกษาเลย ทั้งยังไม่เตรียมการเพื่อเด็กๆ และยึดส่วนกลางเป็นหลัก โดยไม่ยึดที่โรงเรียน เพราะ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็ติดอยู่กับระบบราชการจนเกินไป โดยเสนอว่า ศธ. ยังควรนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้ในการจัดหาซื้อวัคซีนโควิดให้บุคลากรทางการศึกษากับนักเรียนจะดีกว่า
- นอกจากนี้ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ชี้ว่า หากให้นักเรียนเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานานกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กระดับปฐมวัยกับประถมศึกษา ดังนั้นจึงเสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยให้เหตุผลว่าการเรียนออนไลน์นั้นไร้ประสิทธิภาพ
“การเรียนออนไลน์อาจเหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือวิชาบรรยาย ส่วนวิชาปฏิบัติต่างๆ ทดลองทางออนไลน์ไม่ได้ ขณะที่เด็กเล็กนั้นไม่ว่าจะวิชาอะไรเขามีสมาธิกับคอมพิวเตอร์ได้ไม่เกิน 30 นาที” น.ท.สุมิตร กล่าว
- โดย น.ท.สุมิตร เสนอว่า หากสถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ แต่จะยังให้เรียนออนไลน์ไปอีก 1 ปี ก็เท่ากับว่าเด็กมหาวิทยาลัยเรียนจนถึงปี 3 โดยไม่เคยไปที่สถานศึกษาเลย ถามว่าการศึกษาจะมีคุณภาพได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การหยุดการศึกษาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นปัญหา หรือถ้าให้หยุดทั้งระบบเลยก็มีปัญหาเช่นกัน จึงต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน รัฐจึงต้องคิดถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก
- อย่างไรก็ตาม มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการให้หยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี ว่าจะทำให้เยาวชนเสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยนักเรียน นักศึกษา หลายคนพบว่า ไม่พร้อมจะเสียเวลาไปอีก 1 ปี ทั้งไม่วางใจว่าหากหยุดเรียนจริง ศธ. จะมีมาตรการรับมืออย่างไร ดังนั้นให้อดทนเรียนไปก่อนน่าจะเหมาะสมกว่า และควรไปกดดันรัฐบาลให้จัดหาวัคซีนมาฉีดประชาชนอย่างทั่วภายในสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเรียนออนไลน์ต่อไปจนถึงปีหน้า
- อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการให้เด็กหยุดเรียนนั้นไม่ใช่ทางออก เพราะปัญหาจริงๆ คือทุกวันนี้ไม่ใช่การเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบที่แท้จริง แต่เป็นการเรียนโดยใช้ระบบเดิม โครงสร้างเดิมตามปกติที่ใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย ดังนั้นจึงเกิดปัญหาขึ้นอยู่แล้วทั้งในเชิงเศรษฐกิจและคุณภาพในการเรียนรู้ โดยพบว่า มีเด็กออกจากการเรียนกลางคันสูงขึ้นอย่างมีนัย อย่างไรก็ดี การหยุดเรียนไม่ใช่ทางแก้ ทางแก้คือต้องให้ปรับตัวโดยให้โรงเรียนออกแบบหลักสูตรและตารางสอนใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้ทำ เนื่องจากคิดว่าการเรียนออนไลน์คงเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังการระบาดของไวรัส
- คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ชี้ว่า คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้นักเรียนหยุดเรียน 1 ปี เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งนี้ ทาง ศธ. เองก็เร่งพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อให้ตอบสนองต่อสภาวะที่ผู้เรียนต้องเผชิญ โดยทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำโครงการสอนออนไลน์ Project 14 รวมบทเรียนออนไลน์ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 – ชั้นมัธยมปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากทุกที่ด้วยตัวเอง
- ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้ว่า อยากให้มองว่าการเรียนออนไลน์จะสิ้นสุดภายในปี 2564 นี้ เพราะรัฐบาลได้วางแผนไว้แล้วว่าจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากที่สุดภายในสิ้นปี
- โดยล่าสุดมีมติ ครม. เห็นชอบ ออกมาตรการเยียวยานักเรียน โดยการลดค่าเล่าเรียน 2,000 บาท และเยียวยาผู้ปกครองอีก 2,000 บาท จากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับอาชีวศึกษา ในภาคเรียนที่ 1/2564 แล้ว
- อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีข้อสรุปต่อประเด็นข้อเสนอเรื่องการหยุดเรียน 1 ปี แต่การตัดสินใจในเรื่องการศึกษาไม่ว่าจะในประเด็นใด ก็เป็นเรื่องที่ ศธ. ต้องคิดให้รอบด้านและรีบตัดสินใจโดยใช้ผลประโยชน์ของเยาวชนเป็นหลัก และต้องฟังเสียงจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้เรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากยิ่งปล่อยให้ระยะเวลาเนิ่นนาน ผลเสียจะยิ่งตกอยู่กับคนกลุ่มนี้
- ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องรีบจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากระจายฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงให้ได้รวดเร็วที่สุดด้วย เพื่อให้สถานการณ์ในประเทศ รวมทั้งการเรียนการสอน กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด