×

ประธานรัฐสภาเผย วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบแคนดิเดตไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ สส.-สว. ใช้เวลาอภิปรายเลือกนายกฯ 5 ชม. จบภายใน 17.30 น.

โดย THE STANDARD TEAM
18.08.2023
  • LOADING...

วันนี้ (18 สิงหาคม) ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย และสมาชิกวุฒิสภา โดยได้ข้อสรุปว่า การอภิปรายเรื่องผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคมนั้น จะใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น สว. 2 ชั่วโมง และ สส. 3 ชั่วโมง จากนั้นจะมีการลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. คาดว่าในเวลา 17.30 น. จะเสร็จสิ้นการลงมติ เป็นข้อตกลงร่วมกัน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับแจ้งจากประธานฝ่ายกฎหมายของสภาว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ และข้อบังคับในการประชุมก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในการร่างข้อบังคับของรัฐสภาเมื่อปี 2563 ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมชัดเจนในวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 โดยมีมติของที่ประชุมคือวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่ง กมธ. เสียงข้างมากเห็นตามข้อบังคับที่ 36 ว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติตามนี้ คือไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

 

ขณะที่วาระของการประชุมวาระแรกคือ การเสนอญัตติด่วนในการประชุมที่ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา โดยมี รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอให้มีการทบทวนมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กรณีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีซ้ำ ถือเป็นญัตติหรือไม่นั้น ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในการให้รังสิมันต์ได้แสดงเจตนารมณ์ของการเสนอ แต่ข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถจะนำมาทบทวนได้ เพราะหากมีการทบทวนจะเกิดปัญหาว่า เมื่อสภามีมติออกไปแล้วสามารถทบทวนได้ จะทำให้การเชื่อถือต่อการลงมติมีปัญหา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเมื่อมีการนำเสนอแล้ว ให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตัดสินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ประกอบข้อบังคับที่ 5 และ 151 คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่สามารถนำมาเสนอได้ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว ซึ่งหากญัตติอื่นๆ มีการทบทวนก็จะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 นั้นก็ไม่ได้บอกให้ต้องทบทวน จึงดำเนินการตามนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X