×

‘ONEE’ ปักธงแพลตฟอร์มทีวีฐานรายได้หลักใน 3-5 ปี ท่ามกลางสงครามคอนเทนต์และการดิสรัปชัน กับ 2 ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรรู้

20.10.2021
  • LOADING...
ONEE

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ONEE ประกาศเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 496,252,500 ล้านหุ้น และกำหนดกรอบราคา 7.50-8.50 บาทต่อหุ้น
  • มูลค่าระดมทุน ณ ราคา IPO อยู่ที่ 17,859-20,240 ล้านบาท ส่งให้ ONEE ขึ้นแทนหุ้นสื่อบันเทิงอันดับที่ 4 ของกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ทันที 
  • เงินระดมทุนราว 3,443-3,908 ล้านบาท จะใช้สำหรับพัฒนาการผลิตรายการ และเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ONEE ปักธงสัดส่วนรายได้จากสื่อทีวี 40-45% ใน 3-5 ปีจากนี้ ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นๆ เติบโตควบคู่กัน ด้วยกลยุทธ์นักผลิตคอนเทนต์ที่มีแพลตฟอร์มครบวงจร 

วันที่ 20 ตุลาคม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ONEE เปิดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) เป็นวันแรก โดย ONEE เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 496,252,500 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO 

 

โดยจำนวนหุ้น IPO ไม่เกิน 496,252,500 ล้านหุ้น มาจาก 

 

  1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 476,250,000 หุ้น 
  2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท ซีเนริโอ จำกัด จำนวนไม่เกิน 20,002,500 หุ้น

 

สัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO กลุ่ม ONEE รวม 496,252,500 หุ้น ดังนี้

  • บุคคลทั่วไปตามการจำหน่ายของหลักทรัพย์ 108,500,000 หุ้น สัดส่วน 21.9%
  • นักลงทุนสถาบัน หรือนิติบุคคล 297,752,500 หุ้น สัดส่วน 60%
  • ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 36,500,000 หุ้น สัดส่วน 7.4%
  • บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท 25,000,000 หุ้น สัดส่วน 5%
  • พนักงานบริษัท 28,500,000 หุ้น สัดส่วน 5.7%

 

เคาะช่วงราคา IPO ‘7.50-8.50 บาท’

ONEE เปิดจองซื้อหุ้น IPO ตั้งแต่วันที่ 20-21 และ 25-26 ตุลาคม 2564 ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และบริษัทหลักทรัพย์อีก 6 ราย คือ กรุงไทย ซีมิโก้, ทิสโก้, ธนชาต, ฟินันเซีย ไซรัส, หยวนต้า และเอเซีย พลัส

 

บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 7.50-8.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 3,722-4,218 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ช่วงราคาที่นำมาใช้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) จากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 20.5-23.2 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 กรกกฎาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564) อย่างไรก็ตาม ได้เทียบเคียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีจำนวน 2 บริษัทที่มีลักษณะประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน ซึ่งมีระดับ P/E อยู่ที่ 32.9-75.1 เท่า

 

มาร์เก็ตแคปขึ้นแท่นอันดับ 4 ของกลุ่มสื่อ

ณ ช่วงราคา IPO ดังกล่าว ONEE จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ที่ 17,859.4-20,240.6 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ แซงหน้า GRAMMY ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ONEE

 

โดยจากการสำรวจมาร์เก็ตแคปของกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 5 อันดับแรก ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 พบว่า

อันดับ 1 คือ VGI มาร์เก็ตแคป 56,403 ล้านบาท 

อันดับ 2 BEC มาร์เก็ตแคป 26,400 ล้านบาท 

อันดับ 3 PLANB มาร์เก็ตแคป 26,207 ล้านบาท 

อันดับ 4 MAJOR มาร์เก็ตแคป 19,951 ล้านบาท 

อันดับ 5 GRAMMY มาร์เก็ตแคป 13,283 ล้านบาท

 

เตรียมนำเงิน 3,900 ล้านบาท หนุนกลยุทธ์การเติบโต

ONEE มีมูลค่าการระดมทุนทั้งสิ้น 3,443-3,908 ล้านบาท จะใช้สร้างกลยุทธ์การเติบโตในช่วง 3-5 ปีจากนี้ ประกอบด้วย 

 

  1. ลงทุนผลิตรายการและเพิ่มรายการ 500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ลงทุนระบบไอทีและพัฒนาช่องทางออนไลน์ 130 ล้าน และจ่ายเงินค่าซื้อกิจการกลุ่ม GMMCH 2,200 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

  1. พัฒนารายการและเพิ่มงบผลิตคอนเทนต์ทางทีวีช่อง one31 เพื่อรักษาเรตติ้งไพรม์ไทม์อันดับ 3 และผลิตรายการให้กับทีวีช่องอื่นๆ

 

  1. ร่วมลงทุน (Co-Invest) หรือร่วมผลิตรายการ (Co-Produce) กับพันธมิตรระดับโลก 3-4 ราย เพื่อผลิตคอนเทนต์เผยแผร่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ไทยมีจุดเด่นความแตกต่างความเป็นไทยที่ชาวโลกสนใจ และเน้นการเล่าเรื่องให้เป็นอินเตอร์ เพื่อไปทำตลาดระดับโลกและสู้คู่แข่งได้

 

  1. ขยายการผลิตคอนเทนต์ตลาดต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น จาก 4 ประเทศ เป็น 11 ประเทศ ในอีก 3-5 ปี

 

ทั้งนี้ ONEE มีเป้าหมายสัดส่วนรายได้ใน 3-5 ปี ข้างหน้า ประกอบด้วยรายได้จากช่องทางโทรทัศน์ (TV) จะมีสัดส่วนที่ 40-45% จากเดิม 48%, ช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนที่ 25-28% จากเดิม 21%, ช่องทางตลาดต่างประเทศ จะมีสัดส่วนที่ 7-10% จากเดิม 5% และช่องอื่นๆ จะมีสัดส่วนที่ 27% จากเดิม 12-25%

 

ปักป้าย ‘ทีวี’ เป็นฐานรายได้หลัก

เป้าหมายสัดส่วนรายได้ดังกล่าวตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ONEE ที่เชื่อมั่นว่า Content is King และธุรกิจทีวีก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคอยู่เช่นเดิม 

 

โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจทีวีถูกมองเป็นสื่อขาลงจากยุคดิจิทัลดิสรัปชัน แต่ถกลเกียรติเชื่อมาตลอดว่าธุรกิจทวีไม่มีวันตาย เพราะยังตอบโจทย์ผู้ชมเปิดทีวีดูเป็นเพื่อน เป็นสื่อหลักสร้างกระแส โดยมีออนไลน์มาช่วยเสริม 

 

“โมเดลธุรกิจ ONEE เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในทุกช่องทาง เราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีช่องทีวีเป็นของตัวเอง และพร้อมหาโอกาสใหม่ๆ จากการเติบโตของแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ไม่ใช่ว่าคนจะไม่ดูคอนเทนต์หรือดูลดลง แต่นั่นหมายถึงคนดูคอนเทนต์มากขึ้นจากแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือก จึงต้องหาโอกาสใหม่ๆ ในการหารายได้จากคอนเทนต์ ผ่านออนไลน์ โซเชียลมีเดีย OTT Platforms” ถกลเกียรติกล่าวในงานแถลงข่าว IPO Press Conference & Retail Investors Roadshow

 

โดย ONEE ถือเป็นผู้นำในการผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพครบทุกช่องทาง ด้วยโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรและศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านสื่อและความบันเทิงที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Vertically Integrated Service Provider) ตั้งแต่การเป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการ (Content Creator) ไปจนถึงการเป็นเจ้าของช่องทางเผยแพร่ที่ครอบคลุมทั้งช่องทางออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ (Online) 

 

ปัจจุบัน ONEE แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ 

 

  1. ธุรกิจผลิตรายการ บริหารลิขสิทธิ์ และให้บริการช่องโทรทัศน์ คือ ช่อง one31 (กลุ่มบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่) และช่อง GMM25 (กลุ่มบริษัททำหน้าที่เป็นตัวแทนการตลาด) และช่องทางออนไลน์รวมถึงช่องทางต่างประเทศ (Online และ International Sales) 
  2. ธุรกิจรายการวิทยุ เผยแพร่ผ่านคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของกลุ่มบริษัททั้งหมด 3 รายการคือ EFM 94 เมกะเฮิรตซ์, GREENWAVE 106.5 เมกะเฮิรตซ์ และรายการ Chill Online 
  3. ธุรกิจรับจ้างผลิตและบริการ และรับจ้างบริการจัดอีเวนต์ให้แก่ผู้ว่าจ้างต่างๆ 
  4. ธุรกิจอีเวนต์ เช่น งานพบปะกับศิลปิน (Fan Meeting) งานคอนเสิร์ต และงานสัมมนากิจกรรมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ 
  5. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน ธุรกิจขายสินค้ากับรายการหรือศิลปินของกลุ่มบริษัท และธุรกิจให้บริการเช่าสถานที่สำหรับการถ่ายทำงานและจัดอีเวนต์ 

 

เสี่ยง ‘งดจ่ายปันผล’ งวดผลประกอบการปี 2564 

ONEE ระบุในไฟลิ่งว่ามีความเสี่ยงหลัก 2 ประการ คือ ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและภาวะอุตสาหกรรม และความเสี่ยงเกี่ยวกับการถือหุ้นของบริษัท

 

โดยความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและภาวะอุตสาหกรรมนั้นสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตรายการบางประเภท รวมถึงการปรับตัวลดลงของงบประมาณค่าใช้จ่ายในสื่อโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง โดยทำให้รายได้งวด 6 เดือนแรกปี 2564 เทียบกับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ลดลง ดังนี้ 

 

  1. ธุรกิจผลิตรายการวิทยุ รายได้ลดลง 20.1%
  2. ธุรกิจรับจ้างผลิตและบริการ รายได้ลดลงลดลง 37.2%
  3. ธุรกิจจัดอีเวนต์ รายได้ลดลง 80.5% 

 

ONEE คาดว่าค่าใช้จ่ายสื่อโฆษณาในอุตสาหกรรมโดยรวมอาจปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3/64 เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 2/64 ประกอบกับมาตรการที่เข้มงวดจากหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้มีข้อจำกัดในการถ่ายทำรายการบางประเภท ซึ่งอาจจะส่งผลให้รายได้รวมของกลุ่มบริษัทปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3/64 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/64 

 

อีกทั้ง ONEE อาจยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เนื่องจากบริษัทและบริษัทย่อยยังมีขาดทุนสะสม รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ กับสถาบันการเงิน รวมถึงการประกอบธุรกิจของบริษัท โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ดังนั้น ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับเงินปันผลจากบริษัทย่อยของบริษัท

 

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการจำนวน 148.86 ล้านบาท จึงทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้จนกว่าผลขาดทุนสะสมดังกล่าวจะหมดไป โดยผลประกอบการและความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทย่อยมีผลต่อการบริหารจัดการกระแสเงินสดโดยรวมของบริษัท

 

ทั้งนี้ บริษัทย่อยของบริษัท ได้แก่ ONE31 และ GMMCH ยังมีผลขาดทุนสะสม ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นกิจการ และเป็นผลกระทบทางบัญชีจากการเข้าซื้อหุ้นกลุ่ม GMMCH จึงทำให้บริษัทย่อยดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการจ่ายปันเงินผลตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลได้ 

 

อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 มีมติอนุมัติการลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสมของบริษัทย่อย ซึ่ง ONE31 และ GMMCH ได้ดำเนินการจดทะเบียนลดทุนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 และคาดว่าบริษัทย่อยดังกล่าวจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทได้ภายในไตรมาส 4/64 โดยบริษัทคาดว่าผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทจะหมดไปภายในไตรมาส 4/64 ภายหลังจากที่บริษัทได้รับเงินปันผลจากบริษัทย่อยดังกล่าว และได้ดำเนินการตามแผนการโอนทุนสำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเสนอขายหุ้นของบริษัท

 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีภาระหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลผูกพันกลุ่มบริษัท และอาจจำกัดแผนการลงทุนและความคล่องตัวทางการเงิน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มบริษัทมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทั้งเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวทั้งสิ้นจำนวน 3,289 ล้านบาท ดังนั้น กลุ่มบริษัทจึงมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยและคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน และปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ได้ระบุในสัญญาเงินกู้ โดยภาระหนี้สินดังกล่าวอาจจำกัดความคล่องตัวของกลุ่มบริษัทในการวางแผนหรือการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ รวมถึงอาจลดความสามารถในการจ่ายเงินปันผล อย่างไรก็ตาม ONEE จะดำเนินการชำระคืนเงินกู้ตามสัญญาให้สินเชื่อวงเงินจำนวน 2,200 ล้านบาท ด้วยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ตามข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้ 

 

ขณะที่ความเสี่ยงเกี่ยวกับการถือหุ้นของบริษัทนั้น เกิดจากการมีอิทธิพลของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจต่อเนื่องไปถึงความเสี่ยงจากการขายหุ้นของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising