×

ไทย-พม่า ความเหมือนที่แตกต่าง ‘ชาญวิทย์’ ชี้ วิธีคิดแบบรัฐข้าราชการไม่น่าพิศมัย ต้องการจินตนาการใหม่แก้ปัญหาสงครามกลางเมือง

02.02.2022
  • LOADING...

วานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาวิชาการ ‘1 ปีหลังรัฐประหารพม่า’ ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ PBIC Thammasat จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา (ARCM-CE) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB)

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์รับเชิญแห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง พม่า ความหวังบนก้าวย่างที่ถอยหลัง โดยชาญวิทย์ กล่าวว่า 1 ปีหลังการรัฐประหารในพม่าโดย พล.อ.อาวุโส  มิน อ่อง หล่าย เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ จึงอยากจะตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น 1. สถานการณ์พม่าระดับโลก 2. สถานการณ์ในพม่า 3. ผลกระทบของสถานการณ์ในพม่าต่อไทย 

 

  1. สถานการณ์ในระดับโลก 

 

ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารในพม่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ วงการระหว่างประเทศ วงการสื่อ วงการวิชาการทั่วโลกจ้องดูเรื่องของพม่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะนับแต่กรณี ‘เขมร 4 ฝ่าย’ ในทศวรรษ 1970-1980 เรื่องราวของเขมรจบลงโดยคนจำนวนหนึ่งในกรณีนั้นถูกดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กรณีของพม่าเป็นกรณีใหญ่ที่สุด ได้รับความสนใจมากที่สุด ดังนั้นเรื่องพม่าจึงไม่ใช่เรื่องของพม่าเท่านั้น 

 

  1. สถานการณ์ในพม่า 

 

1 ปีหลังการรัฐประหารของกองทัพตั๊ดมาดอว์, พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ยังไม่สามารถชนะศึกนี้ได้ ผมใช้คำพูดที่เป็นเนกาทีฟ 1 ปีผ่านไปแล้วยังไม่ชนะ ในขณะที่ประชาราษฎรชาวบ้านทั่วประเทศทั้งที่เป็นพม่าแท้ๆ ในเมืองใหญ่ๆ ในดิวิชัน หรือมณฑล และกลุ่มที่เป็นชนชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นสเตท ได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน โดยคนจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ 

 

คนเจเนอเรชัน X-Y-Z เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านี้ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมสงบ มีปฏิบัติการแบบสงครามจรยุทธ์ สร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหารเป็นจำนวนมาก

 

เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น NUG (The National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar) ขณะที่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวัน Union Day สนธิสัญญาปางโหลง แต่รัฐบาลปัจจุบันเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Republic of the Union ซึ่งแปลว่าอะไร

 

กรณีนี้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น บางคนเรียกรัฐบาลออนไลน์ ของผู้นำพรรค NLD ที่ได้รับการยอมรับจากบรรดามหาอำนาจโลกตะวันตก มีคนตั้งข้อสังเกตว่า NUG เป็นคนรุ่นที่สอง ต่อจากรุ่นของ ออง ซาน ซูจี แล้ว ซูจีเกิดปี 1945 เป็นเจเนอเรชันที่กำลังจะล้มหายตายจากไปแล้ว 

 

ซูจีถูกกล่าวหาโกงการเลือกตั้ง ถูกตัดสินโดยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ฟังแล้วคุ้นๆ ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว 8 ปี ยังมีคดีเหลืออีกเกือบ 10 คดี รวมความแล้วถ้าเขาทำได้ เธอคงถูกจำคุกจนตายเพราะเวลาเหลือน้อยมาก 

 

ในประเด็นใกล้เคียงกันสิ่งที่เรียกว่า PDF หรือ The People’s Defence Force มีเป็นจำนวนร้อยๆ กองกำลังทั่วประเทศ ทำการฝึกอาวุธกับกองทัพของชนกลุ่มน้อยติดชายแดนไทยทางด้านจังหวัดตาก มียุทธวิธีการต่อสู้แบบสงครามกองโจรใช้ความรุนแรง เขาบอกว่าเขาไม่อหิงสาอโหสิแบบผู้นำพรรค NLD รุ่นเก่าอีกต่อไปแล้ว 

 

ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากๆ ว่าจะเอาอย่างไร       

 

ขอตั้งคำถามว่า ตอนนี้พม่ามีสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบแล้วหรือไม่ หรือกำลังไปสู่จุดนั้น แล้วพม่ากำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) หรือไม่ ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญมากในการติดตามเรื่องพม่า 

 

ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราติดตามอย่างละเอียดก็จะเห็นได้ว่า ผลของสงครามที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ได้เกิดกาลียุคใช่ไหม 

 

ประชาราษฎร ชาวบ้านธรรมดา ต้องหนีตาย เกิดความอดอยาก พลัดที่นาคาที่อยู่ ตลอดแนวพรมแดนไทยสองพันกว่ากิโลเมตร มีผู้ลี้ภัยจำนวนเป็นแสนๆ โดยเฉพาะตามแนวรัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก แม่สอด เมียวดี ไล่ลงมาถึงกาญจนบุรี 

 

ประชากรพม่ามีประมาณ 54 ล้านคน คนที่ถูกผลกระทบของสงครามเล็ก-ใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นมีประมาณ 20 ล้านคน คนที่พลัดที่นาคาที่อยู่ประมาณ 1-2 ล้านคน เพราะฉะนั้นมีคนจำนวนมากเลยที่กำลังเกิดความทุกข์ยาก คนที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจำนวนถึง 14 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้เมื่อเราดูแล้วคิดว่าน่ากลัวมากๆ เพราะกระทบเมืองไทยแน่ๆ ผู้คนจำนวนมากเหล่านี้อยู่ตามชายแดนทั้ง 2 ด้านของพม่า ทิศตะวันออกคือประเทศไทยสองพันกว่ากิโลเมตร อย่างไรเราก็ปิดไม่ได้แน่ๆ และทางด้านตะวันตก คือที่ติดกับรัฐยะไข่ กลุ่มโรฮีนจา ติดบังกลาเทศ              

 

  1. ผลกระทบของสถานการณ์ในพม่าต่อไทย

 

พม่ากับไทย Same same but different กล่าวคือในขณะที่พม่ากำลัง Exploding แตกกระจัดกระจาย, ส่วนประเทศไทยกำลัง Imploding ล้มลุกคลุกคลาน แล้วไทยจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องของพม่าและเรื่องของไทยเองที่มีปัญหาเหมือนกันมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตย เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องของคนรุ่นใหม่ๆ เรื่องของการรัฐประหาร เรื่องของกระบวนการใช้อำนาจตุลาการ 

 

ยกเว้นที่ไม่เหมือนคือ พม่าไม่มีสถาบันกษัตริย์แบบของไทย

 

นโยบายต่างประเทศของไทยเคยได้รับการยกย่องในโลกสากล ไม่ว่าจะเป็นสมัยสงครามของลัทธิอาณานิคมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสมัยสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นสมัยโลกาภิวัฒน์ที่ไทยสามารถจะปรับตัวเป็นไผ่ลู่ตามลม ทำตนเป็นชาติอารยะน่านับถือในโลกสากล อย่างสมัยการเปิดทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ สมัยอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยสร้างความสัมพันธ์อันดีใหม่กับเวียดนามในสมัยเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมัยสงครามกลางเมืองเขมร ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ไทยมีเกียรติประวัติในฐานะเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก เหล่านี้น่าเชื่อได้ว่าผู้นำไทยในยุคปัจจุบันจะต้องคิดหนักว่า จะทำอย่างไรกับปัญหาของพม่าที่อยู่ใกล้แสนใกล้กับคนไทยเรา อยากจะเชื่อว่าวิธีคิด จินตนาการแบบเก่าๆ ของรัฐข้าราชการไทยไม่ใช่สิ่งที่น่าพิศมัยอีกต่อไป 

 

“ผมอยากจะเชื่อว่าไทยต้องการนโยบายต่อพม่าที่นำโดยผู้นำที่มีจินตนาการใหม่ต่อปัญหาสงครามกลางเมืองในพม่า สรุป ดูพม่าแล้วย้อนดูตัวเองและต้องคิดอะไรใหม่ๆ” ชาญวิทย์กล่าว

 

สำหรับการเสวนาวิชาการ ‘1 ปีหลังรัฐประหารพม่า’ วิทยากรประกอบด้วย นฤมล ทับจุมพล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เชี่ยวชาญพม่า-อาเซียน, ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกียรติ สิทธีอมร รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, ถวิล เปลี่ยนศรี ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา, ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามได้ใน THE STANDARD  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising