×

One Take บทบันทึกอีก ‘หนึ่งเทก’ ในสงครามมิตรภาพและคราบน้ำตา

19.06.2020
  • LOADING...

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง One Take

 

‘To be continued ค่ะ เพราะมันต้องมีอีกหลายภาคแน่ๆ เลย มีภาคต่อไปที่ไม่เหมือนภาคนี้ไง จะได้รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ทั้งกับตัวเมมเบอร์และทั้ง Documentary เอง’

 

ประโยคสั้นๆ ที่เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ทิ้งท้ายเอาไว้ใน Girls Don’t Cry ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของเด็กสาวนักล่าฝัน BNK48 โดยผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในปี 2018 

 

ได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกครั้ง One Take สารคดีลำดับที่ 2 ของ BNK48 ที่ได้โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล มาเป็นผู้กำกับช่วยสานต่อเรื่องราวบนเส้นทางแห่งความฝัน ที่แสดงให้เห็นถึง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ อย่างที่เจนนิษฐ์พูดเอาไว้ไม่มีผิด

 

 

One Take จะพาเราไปสำรวจความคิดและความรู้สึกของเหล่าเมมเบอร์รุ่นที่หนึ่งและสองในงาน General Election ครั้งแรก อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้และคราบน้ำตาของเหล่าเด็กสาวนักล่าฝันทั้ง 51 คน 

 

ถึงแม้ว่างาน General Election ครั้งแรกจะผ่านมาแล้วมากกว่า 1 ปี และงาน General Election ครั้งที่ 2 ก็เพิ่งสิ้นสุดลงไป ทำให้ One Take ดูเป็นสารคดีที่มาช้าและผิดช่วงเวลาที่ควรจะเป็น 

 

แต่อย่างน้อยที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกความคิดและห้วงอารมณ์ของพวกเธอในช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ โดยเฉพาะแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของเหล่าเมมเบอร์รุ่นที่ 1 เมื่อสนามแข่งขันในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่พวกเธออีกต่อไป 

 

การมาถึงของเมมเบอร์รุ่นที่ 2 นับว่าเป็นหนึ่งในผลลัพธ์จากความสำเร็จของ BNK48 ที่ค่อยๆ ขยับขยายและเติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่เพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทย และทำให้พวกเธอกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว 

 

แต่มันก็กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเมมเบอร์รุ่นที่ 1 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพื้นที่แห่งโอกาสของพวกเธอเริ่มถูกบีบให้แคบลง ซึ่งโดนัทก็ได้เลือกใช้บทสัมภาษณ์ของเมมเบอร์รุ่นที่ 1 มานำเสนอให้เราได้เข้าใจแรงกดดันที่พวกเธอต้องแบกรับ ณ ช่วงเวลานั้นได้อย่างซื่อตรงและจริงใจ 

 

 

เช่นเดียวกับเมมเบอร์รุ่น 2 ที่ต้องเผชิญหน้ากับกำแพงความสำเร็จที่รุ่นพี่ของพวกเธอสร้างไว้ และต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจแย่งชิงตำแหน่งเซ็มบัตสึทั้ง 16 คน เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าพวกเธอก็มีความสามารถ และเหมาะสมที่จะยืนอยู่ในตำแหน่งเซ็มบัตสึเช่นเดียวกับรุ่นพี่ 

 

และเป็นอีกครั้งที่เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเธอแสดงให้เราเห็นว่า สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและจะยังคงอยู่ตลอดไปบนเส้นทางสายไอดอล คือความโหดร้ายของ ‘ระบบ’ ที่พร้อมจะเข้ามาจัดอันดับและตัดสินพวกเธอด้วย ‘ตัวเลข’ อยู่เสมอ

 

 

จุดหนึ่งที่เราชื่นชอบในการนำเสนอของ One Take นั้นคือการนำภาพในคลาสแอ็กติ้งของเหล่าเมมเบอร์มาเล่าสลับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแข่งขัน General Election เพื่อมาช่วยขยายให้ผู้ชมได้เห็นภาพถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เหล่าเมมเบอร์ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด บนสนามรบที่มี ‘เพื่อน’ ของตัวเองเป็น ‘คู่แข่ง’ 

 

ซึ่งน่าจะเป็นการอธิบายคำว่า ‘ความกดดัน’ ที่พวกเธอต้องแบกรับให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนที่สุดแล้ว

 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ดูจะกลายเป็นของคู่กันของเหล่าเมมเบอร์ คือการเผชิญหน้ากับเหล่าคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนภายนอก ทั้งการตัดสินความสามารถและคุณค่าของพวกเธอ

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำอีกหน้าที่หนึ่ง คือเป็นสื่อกลางให้พวกเธอได้ส่งต่อความรู้สึกของตัวเอง ผ่านคลาสการแสดงที่พวกเธอได้เขียนบทและสวมบทบาท เพื่อบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อคำดูถูกที่พวกเธอเคยเผชิญ จุดนี้นี่เองที่ทำให้เราได้เห็นว่าเหล่าเด็กสาวนักล่าฝันเหล่านี้ได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จากจุดเดิมที่พวกเธอเคยยืนมาไกลมากทีเดียว

 

และในเวลาเดียวกัน มันก็แสดงให้เราเห็นว่าไอดอลอย่างพวกเธอก็เป็นมนุษย์ที่โกรธและเจ็บเป็นเช่นเดียวกับเราทุกคน 

 

 

One Take คงจะเป็นอีกหน้ากระดาษที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้และการเติบโตของเหล่าเด็กสาวนักล่าฝัน ณ ช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ เพื่อบอกเล่าว่าพวกเธอได้เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเริ่มต้นมากขนาดไหน 

 

ซึ่งเราก็คงจะต้องเฝ้าติดตามและเป็นกำลังใจให้กับพวกเธอต่อไป เพราะในเวลานี้ พวกเธอก็ยังคงเดินหน้าสู่เส้นทางแห่งความฝันที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เพื่อเรียนรู้และเติบโตเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่าจุดเดิมที่เคยยืน 

 

ระหว่างที่ดู One Take จะมีความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา คือสารคดีเรื่องนี้ขาดจุดไคลแม็กซ์ที่จะขยี้ความรู้สึกคนดูให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ จนรู้สึกว่าเนื้อหาค่อนข้างจืดชืดกว่าที่เราคาดหวังงอยู่พอสมควร

 

แต่เมื่อลองคิดดูอีกทางหนึ่ง อาจเป็นเพียงตัวเราเท่านั้นที่อยากเห็นจุดพีกของเมมเบอร์ทั้งหมด โดยไม่ทันคิดเลยว่าบางทีการปล่อยให้เธอได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ต้องโลดโผนโจนทะยานไปในท้องทะเลแห่งความเจ็บปวด ไม่ต้องถูกเปิดบาดแผลที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต 

 

ก็อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่นำเสนอออกไปใน ‘เทกหนึ่ง’ ของชีวิต ที่ไม่โหดร้ายเกินไปนักสำหรับเด็กสาวช่างฝันอย่างพวกเธอ

 

ภาพประกอบโดย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X