วันนี้ (17 มกราคม) นับเป็นวันครบรอบ 1 เดือนหลังจากที่จังหวัดสมุทรสาครแถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก เป็นหญิงวัย 67 ปี อาชีพเจ้าของแพปลาในตลาดกุ้ง และในเวลาต่อมาก็ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆ และรับเป็นการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย
1 เดือนที่ผ่านมา ดูเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่ข้อมูลล่าสุดคือพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 60 จังหวัด และมีผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่กว่า 7,443 ราย
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือก่อนหน้านี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก การระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ร้านค้า หรือ SMEs
ช่างภาพ THE STANDARD สำรวจร้านค้าย่านบางรักและสีลม กับเสียงสะท้อนที่ดูแผ่วเบาและอ่อนแรงหลังต้องเจอกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญศึกรอบด้านทั้งเศรษฐกิจและโควิด-19 ระลอกใหม่ หลายคนเลือกสู้ต่อ หลายคนเลือกหยุดพักชั่วคราว หรือบางคนเลือกที่จะรูดม่านปิดฉาก แล้วค่อยหาโอกาสกลับมาสู้อีกครั้ง
เจ้าของร้านอาหารย่านบางรักปลดป้ายร้านออก เพื่อย้ายออกจากอาคารที่เช่า หลังจากที่เตรียมตัวจะเปิดในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ แต่ไม่สามารถที่จะเปิดต่อได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
เจ้าของร้านอาหารย่านบางรักกล่าวว่า ตนเองได้อดทนมาตั้งแต่การล็อกดาวน์ปีที่แล้ว และตั้งใจว่าจะเปิดร้านช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ แต่ไม่สามารถที่จะทำต่อได้ เนื่องจากคิดว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หนักกว่าเดิม จึงไม่สามารถเปิดร้านต่อไปได้ อีกทั้งไม่สามารถแบกรับภาระค่าเช่าอาคารได้ หลังจากนี้จะกลับไปตั้งหลักยังบ้านเกิดที่ภาคอีสาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปจากนี้
พนักงานขนย้ายสิ่งของจากร้านอาหารที่ขายให้นักท่องเที่ยวย่านถนนสีลมซึ่งต้องปิดกิจการลง โดยเจ้าของร้านกล่าวว่า หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์ครั้งที่แล้ว ตนเองได้ปรับเปลี่ยนมาขายอาหารอีสาน ซึ่งก็พอไปได้ แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ลูกค้าลดลงและไม่สามารถแบกรับค่าเช่าอาคารได้ จึงต้องปิดกิจการ
พนักงานขนย้ายสิ่งของจากร้านอาหารที่ขายให้นักท่องเที่ยวย่านถนนสีลมที่ต้องปิดกิจการ โดยเจ้าของร้านกล่าวว่า หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์ครั้งที่แล้ว ตนเองได้ปรับเปลี่ยนมาขายอาหารอีสาน ซึ่งก็พอไปได้ แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ลูกค้าลดลง และไม่สามารถแบกรับค่าเช่าอาคารได้ จึงต้องปิดกิจการ
พนักงานร้านอาหารย่านบางรักนั่งคอยลูกค้า ขณะที่ทางร้านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีจำนวนลูกค้าลดลง
ร้านตัดเสื้อผ้าบนถนนเจริญกรุง นำผ้าและเสื้อออกมาลดราคา หลังจากที่เปิดทำการเมื่อช่วงต้นปี การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขายเพื่อความอยู่รอด
ป้ายประกาศขายโรงแรมขนาดเล็กถูกติดไว้อยู่ในซอยย่านเจริญกรุง จากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องปิดและประกาศขายกิจการ
ป้ายประกาศให้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณถนนเจริญกรุง ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้อาคารในย่านถนนสายเศรษฐกิจมีการติดประกาศให้เช่า เซ้ง หรือไม่ก็ขาย
ป้ายประกาศสวัสดีปีใหม่ เปิดให้บริการวันที่ 4 มกราคม ของร้านนวดแผนโบราณย่านเจริญกรุง โดยกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 15) เพื่อควบคุมโควิด-19 ได้แก่ ผับ บาร์ สถานบันเทิง อาบอาบนวด นวดแผนโบราณ ฟิตเนส ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
พ่อค้ารถเข็นนั่งพักผ่อนอยู่ริมถนนเจริญกรุง ขณะที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้เดือดร้อน ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบในชื่อมาตรการ ‘เราชนะ’ จ่ายคนละ 3,500 บาท 2 เดือน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะจ่ายผู้ได้รับผลกระทบทั้งประเทศหรือเฉพาะในพื้นที่ที่มีการประกาศพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังรวม 28 จังหวัด
ป้าย ‘บ้านนี้ไม่ต้อนรับโควิด’ ติดอยู่บริเวณหน้าบ้านหลังหนึ่งย่านคลองสาน
ป้าย ‘โควิดระบาด กรุณาใส่หน้ากากตลอดเวลา กันละอองน้ำลายสู่ผู้อื่น’ ถูกติดอยู่ที่ประตูของร้านอาหารย่านคลองสานที่ปิดกิจการจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
“เงียบ” คำพูดของคนขับรถสามล้อที่จอดพักระหว่างรอเวลาเพื่อออกหาผู้โดยสาร ริมถนนลาดหญ้า
ร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ย่านดาวคะนอง ต้องปิดบริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า