ไม่บ่อยครั้งที่เราจะมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ‘ทาวน์ฮอลล์’ ประจำไตรมาสของบริษัทอื่นที่ไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของตัวเอง และก็คงจะไม่ผิดสักเท่าไร หากเราจะสรุปจากมุมมองความคิดเห็นส่วนตัวว่า การเข้าฟังทาวน์ฮอลล์ของ ‘บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป’ หรือ ‘KBTG’ ในครั้งนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับเราในหลากแง่มุม
ภายใต้อาคารขนาดใหญ่ความสูง 11 ชั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ย่านเมืองทองธานี พื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือนโรงงานผลิตนวัตกรรมทางการเงิน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งแน่นอนว่าแอปพลิเคชัน K PLUS ที่เราใช้โอน ถอน สแกนเงินจ่ายทุกวันนี้ก็เป็นผลผลิตจากการพัฒนาของ KBTG ด้วย
หลังจากที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกให้ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ภาพที่เราได้เห็นจาก KBTG คือการเปิดตัวนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ออกมาอย่างบ้าพลังสุดๆ
เริ่มต้นตั้งแต่ Contactless Technology (เทคโนโลยีช่วยลดการสัมผัสเพื่อการทำธุรกรรมและไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบาย), ขุนทอง แชตบอตผู้ช่วยเก็บเงินบน LINE, Eatable แพลตฟอร์มโซลูชันด้านอาหารแบบครบวงจร และ MAKE by KBank’ แอปพลิเคชันผู้ช่วยด้านการเงินของคนรุ่นใหม่โดยกสิกรไทย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เมื่อโลกในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความท้าทายต่างๆ ผุดขึ้นมาแบบไม่รู้จบในทุกๆ เสี้ยววินาที ดังนั้น KBTG ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีจึงต้องเร่งฝีก้าวปรับความเร็วในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ออกมาให้ตอบสนองความต้องการของตลาด และ Empower ผู้บริโภคให้ทันท่วงทีด้วย
และทั้งหมดนี้คือข้อคิดบางส่วนที่เราได้สรุปจากงานทาวน์ฮอลล์ ‘ONE KBTG’ มาแบ่งปันให้กับคุณ
การเป็น ‘ผู้บุกเบิก’ เป็นเรื่องที่สำคัญน้อยกว่า ‘การมัดใจลูกค้า’ ให้อยู่หมัด
เพราะเป็นงานในสเกลทาวน์ฮอลล์ที่พนักงานมากกว่า 1,500 ชีวิตมารวมตัวกัน ขัตติยา อินทรวิชัย แม่ทัพหญิงสุดแกร่ง ซีอีโอธนาคารกสิกรไทย จึงเดินทางมากล่าวเปิดงานด้วยตัวของเธอเอง
ขัตติยา บอกกับคน KBTG ว่า ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยแล้ง เรื่อยมาจนถึงโควิด-19 ที่พ่นพิษระบาดหนักทั่วทั้งโลก แต่ถึงอย่างไรก็ดี เป้าหมายหลักในการทำงานของ KBTG และกสิกรไทยจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ‘การ Empower’ เพิ่มอำนาจให้กับลูกค้ารายย่อยและลูกค้ากลุ่มองค์กรทุกชีวิต ครอบคลุมทั้งในมุมไลฟ์สไตล์ทั่วๆ ไป และการดำเนินธุรกิจ
โดยกลยุทธ์ New Growth ในสเตปถัดไปของกสิกรไทยและ KBTG คือการให้ความสำคัญกับการหารายได้จากธุรกิจใน 3 ส่วน ประกอบด้วย
- การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับ
- การนำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันและการลงทุนให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น
- การสเกลขึ้นเป็นผู้ให้บริการธนาคารระดับภูมิภาค
ซึ่งเป้าหมายและกลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ซีอีโอหญิงกสิกรไทย ย้ำว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากกสิกรไทยไม่มี ‘นวัตกรรม’ เทคโนโลยีและเดตาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากผลงานของ KBTG ซึ่งช่วยให้ธนาคารเพิ่ม Productivity และลดต้นทุนการให้บริการได้ถูกลงอย่างมหาศาล แถมยังเข้าถึงคนตัวเล็กๆ ได้อย่างตรงจุด ถูกกลุ่มเป้าหมายขึ้นอีกด้วย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เธอบอกกับพนักงานทั้ง 1,500 ชีวิตของ KBTG ว่า เป้าหมายในวันนี้ไม่ใช่การเป็น ‘ผู้บุกเบิก’ หรือทำทุกสิ่งทุกอย่างเป็นคนแรกของตลาด เพราะที่สุดแล้วผู้ใช้งานหรือลูกค้าจะจำผู้ให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และเป็นผู้ช่วยของเขาในทุกๆ จังหวะเวลาของชีวิตมากกว่า
“สิ่งที่ KBTG ต้องทำคือ เราไม่จำเป็นต้องเป็นรายแรกในตลาด แต่เราต้องพัฒนาให้ได้สม่ำเสมอ มุ่งมั่งพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินให้ดีที่สุดเพื่อคว้าใจลูกค้ามาครอง เพราะสุดท้ายแล้ว คนจะจำแค่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาเท่านั้น”
ขัตติยา ยังกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้อีกด้วยว่า กสิกรไทยและ KBTG เชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด สังเกตได้จากการที่พวกเขามีโอกาสทำงานกับพาร์ตเนอร์เบอร์ต้นๆ ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (Tight Relationship) ด้วยเชื่อว่า ถ้าต้องการเติบโตได้ไกลและมั่นคง ก็จะต้องทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งเช่นกัน
“เคยมีคำกล่าวที่บอกเอาไว้ว่า หากคุณต้องการที่จะวิ่งไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด คุณแค่ต้องไปด้วยตัวคุณเองตามลำพัง หากหวังจะไปให้ไกลก็ต้องไปด้วยกัน (กับพาร์ตเนอร์) แต่สำหรับกสิกรมองว่า หากคุณต้องการจะไปข้างหน้าให้ทั้งเร็วและไกลขึ้นแล้วล่ะก็ คุณแค่ต้องไปกับกสิกรไทยและ KBTG”
แม้แต่ผู้นำก็ไม่ควร ‘หยุดนิ่ง’ ท้าทายตัวเองทุกวันด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเสมอ
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่สิ่งหนึ่งที่ เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG ย้ำในทุกๆ ครั้งที่เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน คือการที่ KBTG จะต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาและทรานส์ฟอร์มตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้ได้อยู่เสมอ
ในงานทาวน์ฮอลล์ ONE KBTG ก็เช่นกัน เรืองโรจน์ย้ำว่าสาเหตุที่ KBTG ที่แม้จะเป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่ก็ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเนื่องจากโลกทุกวันนี้ ‘เปลี่ยนแปลง’ ไปอย่างมหาศาล เพราะจากเดิมอะไรๆ ก็ตามที่ควรจะเกิดขึ้นใน 2 ปี ทั้งหมดถูกเร่งให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน! สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ KBTG ที่จะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งผลักดันและฉุดให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้ ซึ่งคำว่า ‘อยู่รอด’ ในวันนี้ไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากในอนาคตจะมี ‘วิกฤตอื่นๆ’ เกิดขึ้นอีกมหาศาล ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อมหรือการดิสรัปต์จากเทคโนโลยี
“แม้แต่สิงคโปร์ หนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสถียรภาพทางการเงินมั่งคั่งและร่ำรวยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็ยังยอมรับว่าพวกเขาจะไม่สามารถพาตัวเองกลับไปอยู่ ณ ตำแหน่งที่เคยยืนก่อนที่โควิด-19 จะระบาดได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นแม้แต่ประเทศที่แข็งแกร่งยังบอกว่าถึงเวลาที่จะต้อง ‘เปลี่ยน’ เราเองก็พบว่า KBTG ก็ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเราเองเหมือนกัน
“แม้ว่าที่ผ่านมา KBTG จะทรานส์ฟอร์มตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ต่อไปเราจะต้องทรานส์ฟอร์มและเปลี่ยนตัวเองให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเราเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศไทย K PLUS ของเราให้บริการลูกค้ามากกว่า 14 ล้านรายทั่วประเทศ (ปลายปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเพิ่มเป็น 15 ล้านราย) และยังครองสัดส่วนการทำธุรกรรมมากกว่า 40% ของจำนวนการทำธุรกรรมทั้งประเทศอีกด้วย”
ซึ่งกระบวนการต่างๆ ที่จะถูกนำมาใช้กับการทรานส์ฟอร์ม KBTG นั้นจะยังคงเน้นการวาง ‘บุคลากรคน’ เป็นหัวใจสำคัญ โดยจะพัฒนากระบวนการทำงานและวิธีต่างๆ เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนทำงานมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและการทำงานมีประสิทธิภาพ
โดยยุทธศาสตร์หลักการทรานส์ฟอร์มของ KBTG ประกอบด้วย
- นำนวัตกรรมมาใช้ในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยให้พนักงานทุกคนร่วมกันสร้างนวัตกรรมด้วยกัน
- สร้างผู้เชี่ยวชาญหรือ Expert ในแต่ละด้านขึ้นมา ศึกษาเทรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจและสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา
- ทรานส์ฟอร์ม KBTG อย่างต่อเนื่อง
- พัฒนากระบวนการทำงานสู่ความเป็นเลิศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
- ขยายสู่การให้บริการในระดับภูมิภาค (ปีนี้ KBTG ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท K-Tech ที่เมืองเซินเจิ้น ในฐานะ ‘ฟินเทค’ ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวน)
- ผลักดันวัฒนธรรม ONE KBTG ให้เกิดขึ้นจริง
ประธาน KBTG บอกต่อว่า เป้าหมายและภาพฝันที่เขาตั้งใจจะให้เกิดขึ้นกับ KBTG คือการที่บริษัทของเขาจะต้องก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศไทยให้ได้ เพื่อให้คนภายนอกมองเข้ามาที่ประเทศไทยแล้วคิดถึง KBTG เป็นอันดับแรก เฉกเช่นที่ Go-Jek (อินโดนีเซีย) และ Grab (สิงคโปร์) ประสบความสำเร็จมาแล้ว
เปลี่ยนจาก ‘Me’ ให้เป็น ‘We’ ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จทั้งองคาพยพ
นอกเหนือจากแนวคิดการมัดใจผู้บริโภคด้วยบริการที่ดี ซึ่งถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนการไม่หยุดนิ่ง ทรานส์ฟอร์มตัวเองให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์อยู่เสมอ หนึ่งในสารที่ KBTG ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้กับพนักงานกว่า 1,500 ชีวิต คือการปลูกฝัง Mindset แบบ ‘ONE KBTG’
แนวคิดแบบ ONE KBTG คือการที่พนักงานทุกคนมองตัวเองเป็นคน KBTG เท่าๆ กัน ไม่มีการแบ่งแย่งด้วยคำว่า เธอ ฉัน แก พวกนั้น แต่ทุกคนคือ ‘เรา’ เท่ากันหมด โดยเรืองโรจน์เชื่อว่าการคิดแบบ ONE KBTG จะช่วยให้องค์กรสามารถผนึกกำลังในการต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง
ซึ่งวัฒนธรรม ONE KBTG ประกอบด้วย 4 ค่านิยม ในการมุ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน ได้แก่
- ONE Step Ahead: คิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ก้าวผ่านข้อจำกัดได้อย่างไร โดยคน KBTG แม้จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่จะต้องคิดให้ใหญ่ เรียนรู้ให้เร็ว ล้มได้ แต่ต้องเป็นการ ‘ล้มไปข้างหน้า’ พร้อมเปิดรับความท้าทาย และกล้าที่จะลอง
- ONE Goal: มีเป้าหมายร่วมเดียวกัน กล่าวคือเป็น ‘เป้าหมายระดับองค์กร’
- ONE Team: ‘ทีม’ ต้องมาก่อน ‘ตัวเอง’ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะต้องโฟกัสการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ ‘ตัวบุคคล’ ขณะเดียวกัน ทีมงานทุกคนจะต้องตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง สื่อสารให้มากขึ้น โดย ‘คิด’ และ ‘ลงมือทำ’ ในฐานะ ‘ONE Team ONE Goal ONE KBTG’
- Number ONE: มุ่งมั่นในการเป็นเบอร์หนึ่ง พัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดในทุกๆ วันด้วยการเพิ่มขีดศักยภาพตัวเอง เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ผลลัพธ์ของการมอบสิ่งใหม่ๆ ในตลาดอยู่เสมอ
เรืองโรจน์ กล่าวปิดท้ายว่าต่อจากนี้คน KBTG ทุกคนจะต้องกลับมุมคิดแล้ว กล่าวคือต้องเปลี่ยนจากการมองแบบ Me ให้เป็น We คิดถึงความสำเร็จขององค์กรเป็นอันดับแรก เพราะการจะชนะในศึกครั้งนี้ได้ต้องอาศัยกำลังและแรงของทุกๆ คน
“การชนะจะไม่มีความหมายใดๆ เลย หากปราศจากทีมที่จะร่วมฉลองไปกับเรา เช่นเดียวกับที่ ‘ความพ่ายแพ้’ ซึ่งจะดำรงอยู่เพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้น เมื่อคุณยืนหยัดก้าวข้ามมันไปพร้อมกับทีม
“เราจะยืนหยัดไปด้วยกัน สู้มันไปด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน และเมื่อนั้นเราจะ ‘แข็งแกร่ง’ มากขึ้น เมื่อเรารวมกันเป็นหนึ่งเดียว”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์