บลจ.วรรณ คาด ดอกเบี้ย Fed ใกล้จุดสูงสุดแล้ว แนะจับตาหากเกิด Recession มีลุ้นทำ Fed กลับทิศนโยบายในไตรมาส 4 ซึ่งจะเป็นบวกให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกทะยานต่อ หลังจากผ่านไป 1 เดือน หุ้นสหรัฐฯ-จีนบวกไปแล้ว 10-20%
พจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า หลังจากผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) นัดแรก มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จึงประเมินว่าการประชุมของ Fed ในเดือนมีนาคมนี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ให้ลดลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% จากปัจจุบันที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 6%
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป หากในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้มีข้อมูลออกมาว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก็มีโอกาสที่จะเห็น Fed ดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4/66 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed ที่เริ่มมีทิศทางใกล้ถึงจุดสูงสุดและมีแนวโน้มปรับตัวลง บลจ.วรรณ มีมุมมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยจะทำให้ตลาดหุ้นโลกกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้นอีกครั้ง สะท้อนได้จากข้อมูลในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวบวกขึ้นมาถึงประมาณ 10% ขณะที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมา 20% รวมถึงตลาดหุ้นเวียดนามก็ปรับตัวขึ้นมาด้วย
“แนวโน้มดอกเบี้ยปีนี้เข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ทำให้ความกังวลที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้วเริ่มหายไป ซึ่งดอกเบี้ยที่คาดว่ามีแนวโน้มลดลงจะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดเกิดภาวะ Risk On”
นอกจากนี้ยังต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงเรื่องปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังน่ากังวลและยังประเมินสถานการณ์ได้ยาก หลังจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เดิมคาดว่าจะจบใน 3-4 เดือน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยืดเยื้อมานาน 12 เดือน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง รวมทั้งยังต้องจับตาประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและไต้หวันด้วยว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงด้วยหรือไม่
พจน์กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีนี้มีโอกาสขยับขึ้นไปที่ระดับ 1,750 จุด จากปัจจัยบวกที่แนวโน้มการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมีประเด็นบวกภายในจากการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งมีประเด็นบวกที่จีนเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี บลจ.วรรณ ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นต่างประเทศมากกว่าในประเทศ เนื่องจากดัชนี SET Index ในปัจจุบันนั้นมีโอกาสขึ้นได้จำกัด จึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเกิน 5% ค่อนข้างยาก โดยระดับดัชนีปัจจุบันที่เข้าใกล้ 1,700 จุด เริ่มขยับเข้าใกล้ที่ระดับ 1,750 จุดแล้ว อีกทั้งหากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) ตามที่ประกาศไว้ไม่ได้เลื่อนออกไป ก็จะเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุน (Sentiment) เพิ่มเติมเข้ามาในตลาดหุ้นไทยด้วย
สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศในปีนี้ประเมินว่ามีโอกาสที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับ 10% หลังจากตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยภาพรวมจัดพอร์ตการลงทุนปีนี้แนะนำให้ลงทุนเน้นในหุ้นต่างประเทศ 50%, หุ้นไทย 10%, ตราสารหนี้ 20% และลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอีก 20%
ด้าน สุทธิโรจน์ สิทธิวัฒนานนท์ หัวหน้าฝ่ายจัดการลงทุนตลาดต่างประเทศ บลจ.วรรณ กล่าวว่า มองตลาดหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจในปีนี้คือตลาดหุ้นจีน เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไปถึง 30-40% ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ที่กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
ขณะที่ในปีนี้จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจและการบริโภคของจีนกลับมาฟื้นตัวและเติบโตขึ้นได้ค่อนข้างดี โดยคาดว่า GDP ของจีนในปีนี้จะเติบโตประมาณ 5% ดีขึ้นจากปี 2565 ที่เติบโตขึ้นเพียง 3% เมื่อเปรียบกับปี 2564 ดังนั้นประเมินว่าตลาดหุ้นจีนในปีนี้จึงมีโอกาสที่จะกลับมาสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน