เหตุการณ์ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา (Rwandan Genocide)’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยชาวทุตซี (Genocide Against the Tutsi)’ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7 เมษายน – 15 กรกฎาคม 1994 ในช่วงสงครามกลางเมืองรวันดา โดยกองกำลังติดอาวุธชาวฮูตู (Hutu) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรวันดา ลงมือสังหารหมู่ชาวทุตซี ตลอดจนชาวฮูตูสายกลาง และชาวทวา (Twa) บางส่วน ในระยะเวลากว่า 100 วัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 5-8 แสนคน
ชนวนเหตุการณ์ต้องย้อนกลับไปในปี 1990 เมื่อแนวร่วมรักชาติรวันดา (RPF) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาวทุตซี ทำการบุกโจมตีพื้นที่ตอนเหนือของรวันดา ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองกับฝ่ายรัฐบาล
การสู้รบที่ยืดเยื้อกว่า 3 ปี ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบอย่างเด็ดขาด ขณะที่รัฐบาลรวันดาซึ่งนำโดย ยูเวนัล ฮับยาริมานา (Juvenal Habyarimana) ประธานาธิบดีชาวฮูตู พยายามที่จะยุติสงครามอย่างสันติ และได้มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับ RPF เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1993
เหตุการณ์สู้รบดูเหมือนจะสงบลง กระทั่งวันที่ 6 เมษายน 1994 เครื่องบินบรรทุกฮับยาริมานา และ ซีเปรียน นเตอร์ยามิรา (Cyprien Ntaryamira) ประธานาธิบดีบุรุนดีชาวฮูตู ถูกยิงตกระหว่างลงจอดที่กรุงคิกาลี ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการลอบสังหาร และเป็นฝ่าย RPF ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง
ผลที่ตามมาทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในรวันดา และนำมาซึ่งการยุติข้อตกลงสันติภาพ
ขณะที่การสังหารหมู่เริ่มขึ้นทันทีในวันรุ่งขึ้น เมื่อกองกำลังทหาร ตำรวจ และทหารอาสาชาวฮูตู ปฏิบัติการบุกสังหารบุคคลสำคัญชาวทุตซี ตลอดจนผู้นำทางทหารและการเมืองสายกลางของฮูตู
ความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก แต่ไม่มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซงและยับยั้งการสังหารหมู่ได้
สงครามกลางเมืองกลับมาปะทุอีกครั้ง โดยกองกำลัง RPF บุกยึดดินแดนของรัฐบาลทั้งหมด และยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โดยรัฐบาลและกลุ่มชาวฮูตูกว่า 2 ล้านคนต้องอพยพหนีการแก้แค้นไปยังซาอีร์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก)
ขณะที่รัฐบาลรวันดากำหนดให้วันที่ 7 เมษายน เป็นวันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังกำหนดให้การสนับสนุนแนวคิดหรืออุดมการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และลัทธิแบ่งแยกถือเป็นความผิดทางอาญา
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
อ้างอิง: