×

ON THIS DAY: 21 สิงหาคม 1959 ฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐฯ

21.08.2024
  • LOADING...

21 สิงหาคม 1959 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ลงนามประกาศรับฮาวายเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐลำดับที่ 50 หรือเพียง 8 เดือนหลังจากที่ประกาศรับอลาสก้าเข้าเป็นรัฐที่ 49

 

ในอดีตฮาวายถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่น่าดึงดูดใจสำหรับสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 คณะมิชชันนารีชาวอเมริกันล่องเรือมาเยือนดินแดนนี้ และพบว่าพื้นที่ของฮาวายเอื้อต่อการปลูกอ้อย หลังจากนั้นบรรดานักลงทุนผิวขาวก็เข้ามาเยือนและกว้านซื้อพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลในฮาวายขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1870 มีหลายสนธิสัญญาที่ส่งผลให้การค้าของฮาวายผูกติดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีการทำสนธิสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocity Treaty) ซึ่งเปิดทางให้ฮาวายได้สิทธิพิเศษในการส่งน้ำตาลเข้าไปขายในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี ขณะที่สหรัฐฯ เองก็สามารถส่งสินค้ามาขายในฮาวายได้แบบไม่ต้องจ่ายภาษีด้วยเช่นเดียวกัน จนในช่วงหลังปี 1885 ชาวอเมริกันและชนเชื้อสายยุโรปก็กลายเป็นนายทุนเจ้าของไร่อ้อยบนพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะ อีกทั้งกลุ่มนายทุนดังกล่าวยังมีความทะเยอทะยานที่จะเข้าไปควบคุมรัฐบาลฮาวายด้วย

 

กลุ่มทุนผิวขาวผู้มั่งคั่งพยายามอย่างยิ่งที่จะตัดทอนอำนาจอธิปไตยของชนพื้นเมือง ในปี 1887 กลุ่มสันนิบาตชาวฮาวาย (The Hawaiian League) ซึ่งนำโดยกลุ่มนักธุรกิจผิวขาว บีบบังคับให้กษัตริย์เดวิด คาลาคาอัว (David Kalakaua) แห่งฮาวาย ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญดาบปลายปืน (Bayonet Constitution) โดยกษัตริย์คาลาคาอัวถูกกดดันให้ลงนามในขณะที่มีการเล็งปืนมาที่พระองค์ด้วย รัฐธรรมนูญนี้ลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ รวมถึงลดทอนอำนาจของชนพื้นเมือง ในทางกลับกันก็ให้อำนาจแก่นายทุนน้ำตาลเข้ามาควบคุมเกาะแห่งนี้ได้มากขึ้น

 

และในที่สุดวันที่ 17 มกราคม 1893 ชนชั้นนำและนักธุรกิจผิวขาวกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของฮาวายได้สำเร็จ โดยมีพระราชินีองค์สุดท้ายคือสมเด็จพระราชินีนาถลิลิอูโอคาลานี (Liliʻuokalani) กลุ่มชนชั้นนำได้รับความช่วยเหลือจากทูตอเมริกาประจำฮาวาย ซึ่งสมคบคิดนำเรือรบของสหรัฐฯ มาจอดที่ชายฝั่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ในเวลานั้นพวกเขาขู่ว่าจะบุกฮาวายหากองค์ราชินีขัดขืน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ของสหรัฐฯ กล่าวประณามการปฏิวัติ อีกทั้งยังกล่าวสนับสนุนพระราชินีด้วยวาจา แต่รัฐบาลเฉพาะกาลก็ปฏิเสธที่จะถอย และสถาปนาสาธารณรัฐฮาวายขึ้นในที่สุด

 

รัฐบาลใหม่ผลักดันให้มีการผนวกฮาวายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ทันที แต่ท่าทีดังกล่าวก็ทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมืองเป็นเวลานานถึง 5 ปีด้วยกัน โดยผู้สนับสนุนมองว่าฮาวายเป็นประตูสู่ตลาดเอเชีย และเป็นจุดที่เรือของทหารและเรือค้าขายสามารถมาจอดแวะพักในช่วงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ขณะผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการผนวกรวมฮาวายเป็นภาระ ผิดศีลธรรม และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1898 สหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องใช้ฮาวายเป็นฐานทัพสำหรับการต่อสู้ในสงครามสเปน-อเมริกา จึงผนวกรวมฮาวายเข้าเป็นดินแดนของตนอย่างเป็นทางการภายใต้สนธิสัญญา Newlands Resolution หลังจากนั้นฮาวายก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะการเป็นรัฐของสหรัฐฯ แม้การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความพยายามดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปหลายปี แต่ในที่สุดประชาชนชาวฮาวาย 2 ใน 3 ก็ลงมติเห็นชอบให้ฮาวายเข้าร่วมเป็นรัฐของสหรัฐฯ และในปี 1959 สภาคองเกรสก็ผ่านร่างกฎหมาย Hawaii’s Statehood Bill และนำไปสู่การลงนามของประธานาธิบดีในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising