วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เป็นวันที่คณะนายทหารชั้นประทวนระดับนายสิบจำนวนหนึ่งในหน่วยทหารในพระนคร กำหนดจะลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ทำการตามกำหนด เพราะฝ่ายผู้บังคับบัญชาระดับบนทราบถึงแผนการ จึงสั่งให้ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นสังกัดที่นายสิบผู้ก่อการสังกัดอยู่ นำกำลังเข้าจับกุมตัวนายสิบทหารที่เป็นเป้าหมายว่าจะก่อการยึดอำนาจเสียตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ดังนั้นการยึดอำนาจจึงไม่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘กบฏนายสิบ’
คดีกบฏนายสิบนี้ท้ายที่สุดมีจำเลยถูกฟ้องคดีรวมทั้งหมด 13 คน เป็นทหารจำนวน 12 คน เป็นพลเรือนคนเดียวคือ นุ่ม ณ พัทลุง การดำเนินคดีพิเศษนี้รวดเร็วมาก โดยในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2478 มีการตัดสินคดีโดย ส.อ. สวัสดิ์ มหะหมัด ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับสารภาพ ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนอีก 12 คนให้การรับสารภาพ จึงถูกตัดสินให้จำคุก ซึ่งมีทั้งจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 20 ปี โดย นุ่ม ณ พัทลุง เป็นคนเดียวที่ถูกตัดสินให้จำคุก 16 ปี ต่อมาในสมัย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ถูกจำคุกก็ได้รับการอภัยโทษ
อ้างอิง: ฐานข้อมูลการเมือง การปกครอง สถาบันพระปกเกล้า