×

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณที่ถูกหลงลืมจากสิทธิขั้นพื้นฐาน

13.01.2021
  • LOADING...
อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • อมก๋อยเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยมานานหลายร้อยหลายพันปีแล้ว หากพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยในพื้นที่ราบเป็นที่อาศัยของคนเมือง ส่วนบนภูเขานั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะโบราณ ที่ต่อมาได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปทางเหนือราวๆ สมัยรัชกาลที่ 5 
  • ชื่อของอำเภอ ‘อมก๋อย’ มาจากคำในภาษาลัวะ ซึ่ง ‘อม’ แปลว่า น้ำ ‘ก๋อย’ คือชื่อของลำห้วย ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยง หรือคนทางนั้นเรียกตนเองว่า ปกากะญอ (ปกาญอ) ก็อาศัยมาตั้งแต่สมัยล้านนาและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน 
  • ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีบนพื้นที่สูงที่มีจำกัด ทำให้คนไทยไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของคนกลุ่มอื่นๆ มากนัก ยิ่งประวัติศาสตร์ชาติและปัจจัยอีกหลายๆ อย่าง ทำให้เรารู้จักแต่เรื่องราวของคนไทย ส่งผลทำให้มองกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเป็นคนอื่น ซึ่งทำให้พวกเขามักตกหล่นหลงลืมจากสิทธิขั้นพื้นฐานหลายๆ อย่างไป

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของแม่ตื่น อำเภออมก๋อย กลายเป็นประเด็นใหญ่โตระดับประเทศ จากการที่พิมรี่พายได้ขึ้นไปบริจาคสิ่งของให้กับชาวบ้านบ้านแม่เกิบ ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกมากมาย มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เตือนด้วยมุมมองอันหวังดี ต่างๆ นานา ในขณะเดียวกัน ศรีสุวรรณ จรรยา ก็ออกมากล่าวหาชาวบ้านว่าบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่ วาทกรรมเกี่ยวกับชาวเขากับป่าไม้ และสิทธิชนพื้นเมืองดั้งเดิม 

 

แต่ผมอยากจะบอกว่า พื้นที่อมก๋อยมีคนอยู่อาศัยมานานหลายร้อยหลายพันปีแล้ว ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยในพื้นที่ราบเป็นที่อาศัยของคนเมือง ส่วนบนภูเขานั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะโบราณ ที่ต่อมาได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปทางเหนือราวๆ สมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อของอำเภอคือ ‘อมก๋อย’ จริงๆ ก็มาจากคำในภาษาลัวะ ซึ่งอมแปลว่า น้ำ ก๋อย คือชื่อของลำห้วยนั่นเอง ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยง หรือคนทางนั้นเรียกตนเองว่า ปกากะญอ (ปกาญอ) ก็อาศัยมาตั้งแต่สมัยล้านนาและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน 

 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

เด็กชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) ที่บ้านห้วยปูน้อย อำเภออมก๋อย แอ็กท่าถ่ายรูปให้ผู้เขียน ระหว่างการสำรวจทางโบราณคดี

 

ปัญหาอยู่ตรงที่เมื่อแนวคิดเรื่องการจัดพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์เข้ามานั้น ทำให้สิทธิชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Indigenous Rights) ที่พึงมีนั้นเกิดปัญหาขึ้น โดยพยายามแยกคนออกจากป่า เพราะวาทกรรมว่าชาวเขาคือพวกตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ที่ป่าจำนวนมหาศาลหลายล้านไร่นั้น สืบกันจริงๆ แล้ว ถูกทำลายจากการอนุญาตของรัฐและนายทุนแทบทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมปัญหาที่ยุคหนึ่งมองว่าชาวเขาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ ทางการจึงอพยพพวกเขาออกจากป่า ซึ่งรัฐสร้างความชอบธรรมของการกระทำดังกล่าวด้วยข้ออ้างว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่าหรืออาจไปเข้าพวกกับคอมมิวนิสต์  

 

ปัญหาข้างต้นนี้ซับซ้อนมาก เอาเป็นว่า บทความเรื่องนี้จะขอเล่าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีเพื่อให้เห็นว่า พื้นที่ภูเขาอันสลับซับซ้อนของอำเภออมก๋อยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขานับตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ก็พอจะมีคำตอบอยู่บ้างจากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ 

 

ขุมทรัพย์บนยอดดอยของอำเภออมก๋อย  

เครื่องถ้วยชั้นดีในพิพิธภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ถ้าเป็นใบที่สมบูรณ์หน่อย ส่วนมากแล้วพบว่าได้มาจากหลุมฝังศพบนยอดเขาของอำเภออมก๋อยแทบทั้งสิ้น เครื่องถ้วยพวกนี้มีหลากหลาย นับตั้งแต่จานชามของจีนสมัยราชวงศ์หยวนที่บางใบในปัจจุบันราคาหลักล้านบาท เครื่องถ้วยสังคโลกจากสุโขทัย เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาล้านนา พม่า เวียดนาม 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง ผลิตจากเตาจิงเต๋อเจิ้น พบจากหลุมฝังศพชาวเขาโบราณที่อมก๋อย

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ชามใบเล็กใบน้อยจากแหล่งเตาสันกำแพง เชียงใหม่ พบจากหลุมฝังศพบนยอดเขาที่อมก๋อย

 

ถ้าสนใจอยากเห็นภาพมากๆ แนะนำให้อ่านได้จากหนังสือ Ceramics from The Thai-Burma Border เขียนโดย สุมิตร ปิติพัฒน์ เมื่อหลายปีก่อนในช่วงที่เศรษฐีหลายคนตื่นเต้นกับขุมทรัพย์บนยอดเขาแถบนี้ รับซื้อกันไปมากมาย ถึงขนาดขึ้นมาเฝ้าปากหลุมเพื่อให้แน่ใจว่าได้ของแท้ไปก็มี 

 

เครื่องถ้วยชั้นดีพวกนี้จะถูกฝังลงไปในหลุมฝังศพที่อยู่บนยอดเขา-ไหล่เขา บางหลุมทำเป็นเนินรูปวงกลมขนาดใหญ่ บางเนินเล็ก พร้อมขุดคูรอบ คล้ายลานจอดเฮลิคอปเตอร์ บางหลุมฝังศพทำเป็นเพียงเนินดินพูนธรรมดา ไม่ขุดคูโดยรอบ กึ่งกลางของเนินมักพบไหซึ่งไว้ใส่อัฐิของคนตาย รอบไหบางทีพบกล้องยาสูบ (บูยาดิน) และพบถ้วยชามอื่นๆ เดิมอาจใส่อาหารให้คนตาย 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

เนินดินฝังศพรูปวงกลมที่อำเภออมก๋อย ภาพนี้สังเกตยากสักนิด แต่พื้นที่โล่งนี้คือพื้นที่หลุมฝังศพ

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ไหจากแหล่งเตาสันกำแพง ใช้สำหรับเก็บอัฐิของคนโบราณ

 

หลุมฝังศพเนินดินรูปวงกลมนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ บางคนเรียก วงตีไก่, เอซีนั่ง, หลุมฝังศพลัวะ ก็มี แต่ยังเป็นปริศนาว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมการฝังศพนี้ นักวิชาการตะวันตก เช่น จอร์จ คอนโดมินัส สันนิษฐานว่าอาจเป็นของชาวละว้า (ลัวะ) บางคน เช่น อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล มองว่าสัมพันธ์กับชาวคะฉิ่นในพม่า บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นของลัวะและกะเหรี่ยงร่วมกันก็ได้ 

 

แต่ที่แน่นอนก็คือ หลุมฝังศพแบบนี้เป็นความเชื่อของไทย-พม่า เพราะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ย้อนกลับขึ้นไปอาจถึงพุทธศตวรรษที่ 5 เชียว ซึ่งเป็นค่าอายุที่ได้จากรูปแบบของเครื่องถ้วยและคาร์บอน-14 แสดงว่ามีชาวเขาเคลื่อนไหวเคลื่อนย้ายและอยู่อาศัยในพื้นที่แถบนี้มาช้านาน นานก่อนคนไทจะเคลื่อนย้ายเข้ามาเสียอีก

 

ดอยแบแล ศาสนาผีกับศาสนาพุทธบนยอดดอย 

ศาสนาพุทธมาทีหลังศาสนาผี แต่ด้วยการที่ศาสนาพุทธไม่รังเกียจผี และนับถือเขาพระสุเมรุ ทำให้ทั้งสองความเชื่อสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว หลายที่ของแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมเนินดินฝังศพรูปวงกลมที่อมก๋อยนี้พบว่ามีความพิเศษกว่าที่อื่นอยู่อย่างหนึ่งคือ ใกล้กันกับเนินดินรูปวงกลมและแหล่งฝังศพบนยอดเขา มักพบวัดเก่าและเจดีย์ขนาดเล็ก-ใหญ่อยู่ไม่ห่างกันด้วยเสมอ 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ยอดเขาใกล้ๆ นั้นคือ ดอยแบแล ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งอำเภออมก๋อย

 

ตัวอย่างสำคัญที่อยากให้หลายท่านได้ไปกันเพราะไปไม่ยากมากคือ ที่ดอยแบแล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ เป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าของอมก๋อยและลานกลางเต็นท์อีกด้วย ตลอดสองข้างทางที่จะไปดอยแบแลจะพบหมู่บ้านชาวปกากะญอแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งหมู่บ้านมาไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้ว หมู่บ้านบนดอยนั้นโดยมากแล้วจะมีการเคลื่อนย้ายบ้าง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ประชากรหนาแน่นเกินไป เกิดโรคระบาด การเสื่อมลงของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนในแง่ของการทำไร่แล้ว โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ไม่ได้เป็นแบบที่ใครหลายคนเข้าใจคือ ไร่เลื่อนลอย แต่เป็นระบบที่เรียกกันว่า ไร่หมุนเวียน คือ เมื่อปลูกข้าวไปได้ 2-3 ปี จะย้ายไร่ไปปลูกในพื้นที่ข้างเคียง เพื่อพักให้ดินฟื้นตัว ในระหว่างนี้ต้นไม้ก็จะงอกงามขึ้นเป็นอาหารให้สัตว์ป่า จากนั้นผ่านไปอีกหลายปีก็จะวนเวียนกลับมาใช้ไร่เดิมอีกครั้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยที่ทำไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย  

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ชาวกะเหรี่ยง (ปกากะญอ) ที่บ้านยางเปียงระหว่างทางขึ้นดอยแบแล

 

ที่ดอยแบแลเป็นเทือกเขาสูง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 1,250 เมตร เมื่อเดินขึ้นไปหลังสถานีพัฒนาการเกษตรฯ จะเป็นเส้นทางขึ้นไปบนยอดเขาของดอยแบแล ตลอดสองข้างทางที่เป็นทางเดินป่าจะเต็มไปด้วยเนินดินฝังศพรูปวงกลมและเนินดินฝังศพธรรมดา เท่าที่สำรวจน่าจะมีเกือบ 100 แห่ง ในตอนนั้นทำแผนผังคร่าวๆ โดยได้ความช่วยเหลือจากครูธีระเดช เรือนแก้ว โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, ครูประภาพรรณ สุภา โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, นักเรียนโรงเรียนสองคน, และนำทีมวิจัยโดยอุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ แต่น่าเสียดายว่าหลุมฝังศพพวกนี้ถูกทำลายจากการลับลอบขุดหาสมบัติเสียหมด 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

คณะสำรวจ ซ้ายสุด ครูธีระเดช เรือนแก้ว โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, ถัดมาเป็นนักเรียนสองคน, คนกลาง อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล, ถัดมาทางขวา ครูประภาพรรณ สุภา โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม, ขวาสุด พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

 

เชิงดอยของดอยแบแลพบโบราณสถานสถานเนื่องในศาสนาพุทธ ยังไม่มีการขุดค้นขุดแต่งตามหลักวิชาการ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานได้ว่ามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 สอดคล้องกับเศษเครื่องถ้วยที่พบบนหลุมฝังศพรูปวงกลมที่ว่ามา สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองความเชื่อได้เป็นอย่างดี ลักษณะการนับถือพุทธปนผีนี้ไม่ต่างจากวิถีของชาวลัวะและชาวปกากะญอในปัจจุบันเท่าไรนัก

 

แม่ตื่น เมืองเส้นทางการค้าบนภูเขาโบราณ

แม่ตื่นเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขามีที่ราบอุดมสมบูรณ์ ทำให้เหมาะกับการเพาะปลูกข้าว จึงพัฒนาขึ้นเป็นเมืองในสมัยล้านนา ตำนานเมืองตื๋นนันทบุรีระบุว่า พระยาช้างเผือกและพระยาเลิก สองพี่น้อง ได้พาราษฎรที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่มาสร้างเมืองตั๋นบุรี ในปี พ.ศ. 1985 หลังจากนั้นพระอทิตตราได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์วัดจอมแจ้งขึ้นที่ดอยนางนอนในปี พ.ศ. 2148 และตามมาด้วยการสร้างศาสนสถานอีกมากมาย ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในพื้นที่หุบเขา

 

เมืองแม่ตื่นมีบทบาทเป็นชุมชนทางการค้าบนเส้นทางการค้าตะวันออก-ตะวันตก โดยแม่น้ำตื่นจะไหลไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำปิง เดินทางไปเชียงใหม่หรือกำแพงเพชรได้ ถ้าข้ามเทือกเขาไปทางทิศตะวันตกจะสามารถเดินทางไปยังชุมชนบนที่สูงโบราณที่บ้านแม่ระเมิง กับเมืองโบราณแม่ต้านที่ริมน้ำเมย อำเภอท่าสองยางได้ จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังแม่สอด เพื่อออกไปยังอ่าวเมาะตะมะ

 

ดังนั้น ตลอดรายทางที่ว่าจึงพบแหล่งโบราณคดีเนินดินฝังศพรูปวงกลมไปหมด เช่นเดียวกับพื้นที่ใกล้บ้านแม่เกิบที่ม่อนกองข้าว ก็พบแหล่งฝังศพโบราณที่เพิงผาเช่นกัน หรือวิวภูเขาสวยๆ ตรงข้ามม่อนกองข้าวนั้นก็เป็นแหล่งเนินดินฝังศพรูปวงกลมด้วย 

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

แนวภูเขาตรงข้ามม่อนกองข้าว มีคนรายงานว่าพบแหล่งโบราณคดีอยู่สันเขาเช่นกัน

 

นายก อบต.แม่ตื่น จำลอง ปันดอน อดีตเป็นพ่อค้าวัว ครู และเคยสะสมเครื่องถ้วยที่ได้จากบนยอดเขาไว้อีกด้วย ได้เล่าให้ฟังว่า เส้นทางการเดินเท้าในยุคเมื่อเกือบ 50 กว่าปีที่แล้ว เมื่อยังไม่มีเส้นทางรถตัดผ่านนั้น แทบจะซ้อนทับกันได้ดีกับเส้นทางการค้าสมัยโบราณ ตลอดรายทางมักมีการขุดพบเครื่องถ้วยโบราณกันเสมอ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า หลุมฝังศพพวกนี้มักพบก้อนหินปักตั้งไว้ด้วย ซึ่งหินที่ว่านี้ก็คือหินตั้งปักหลุมฝังศพ เป็นความเชื่อโบราณที่มีมาแล้วเป็นพันปี ปัจจุบันเครื่องถ้วยเหล่านั้นก็นำมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของ อบต.แม่ตื่น ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเพื่อให้ความรู้กับคนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชม

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ขวาสุด จำลอง ปันดอน นายก อบต.แม่ตื่น ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

 

อมก๋อย ดินแดนดั้งเดิมของชาวเขาโบราณ

ชามเขียนลายสีดำ สมัยล้านนา จากแหล่งเตาเวียงกาหลง พบบนหลุมฝังศพบนยอดเขา

 

กะเหรี่ยงอยู่ในไทยมานานแค่ไหน

การศึกษาประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในอมก๋อยยังไม่แพร่หลายมาก เท่าที่สืบทราบอย่างน้อยกะเหรี่ยงในเขตนี้ตั้งถิ่นฐานมาไม่น้อยกว่า 150 ปีแล้ว ส่งผลทำให้ชาวลัวะขยับและเคลื่อนย้ายไปทางเหนือเข้าเขตแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ไป ซึ่งปรากฏบันทึกสั้นๆ อยู่ในเอกสารของนักเดินทางที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ 

 

ถึงกะเหรี่ยงไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเดินทางเข้ามาก่อนกลุ่มชาติพันธุ์พม่าและไทเสียอีก บางแนวคิดเชื่อว่าอพยพมาจากลุ่มแม่น้ำเหลืองในจีน ทะเลทรายโกบี หรือทิเบต โรนัล เรนาร์ด นักประวัติศาสตร์ เสนอว่าชาวกะเหรี่ยงน่าจะเคลื่อนย้ายมุ่งสู่ทิศใต้ผ่านทางแม่น้ำโขง สาละวิน และอิระวดี ในลักษณะที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมานานหลายศตวรรษ และเหตุผลสำคัญหนึ่งของการเคลื่อนย้ายก็อาจเพราะการอพยพเข้ามาของคนไทที่ผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงค่อยๆ ขยับร่นลงใต้ 

 

ในขณะที่หลักฐานที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงในเอกสารไทย เช่น ตำนาน พงศาวดารต่างๆ ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-18 นั้นไม่ปรากฏให้เห็น นักวิชาการ เช่น ชาร์ลส์ คายส์ และเรนาร์ดเองก็ให้ความเห็นว่านั่นอาจเป็นเพราะชาวกะเหรี่ยงที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทนั้นมีอยู่น้อย และแทบไม่มีบทบาทมากนัก แต่หลักฐานที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 นั้นปรากฏอยู่หลายชิ้น โดยเฉพาะการกล่าวถึงรัฐกะเหรี่ยง (ในรัฐกะยา) ในช่วงราว ค.ศ. 1500

 

สำหรับเอกสารไทย เรนาร์ดเสนอว่า กะเหรี่ยงน่าจะเริ่มปรากฏมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ดังปรากฏในเหตุการณ์การยกทัพกลับสู่อยุธยาของสมเด็จพระนารายณ์ในปี ค.ศ. 1661 หลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และระหว่างทางก็ได้ผ่านเมืองตามแม่น้ำปิง หนึ่งในเมืองที่น่าจะเป็นเมืองกะเหรี่ยงคือ เมืองอินทรคีรี ซึ่งสันนิษฐานโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเป็นเมืองแม่ระมาดในปัจจุบัน ดังนั้น ชาวปกากะญอหรือกะเหรี่ยงจึงอยู่อาศัยในแผ่นดินมานานมากแล้ว (ไม่นับรวมผู้อพยพมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เพียงแต่รัฐส่วนกลางนั้นไม่ได้ให้ความสนใจกับพวกเขาเท่าที่ควร 

 

สุดท้ายนี้ ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีบนพื้นที่สูงที่มีจำกัด ทำให้คนไทยไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของคนกลุ่มอื่นๆ มากนัก ยิ่งประวัติศาสตร์ชาติและปัจจัยอีกหลายๆ อย่าง ทำให้เรารู้จักแต่เรื่องราวของคนไทย ส่งผลทำให้มองกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเป็นคนอื่น ซึ่งทำให้พวกเขามักตกหล่นหลงลืมจากสิทธิขั้นพื้นฐานหลายๆ อย่างไป หวังว่าอนาคตเราจะมองและเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้นครับ

 

การสำรวจที่เล่ามานี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่ทุรกันดาร ทางดินเป็นส่วนใหญ่ จนระหว่างสำรวจอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าอำเภออมก๋อยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่จริงไหม ที่ต้องคำถามนี้ในขณะที่เมืองเชียงใหม่นั้นเจริญอย่างมาก แต่เมือง/อำเภออื่นๆ กลับยังทุรกันดารอย่างมาก ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายความเจริญและอำนาจของจังหวัดเชียงใหม่รวมไปถึงของประเทศนี้ที่ยังไม่ดีพอ ซึ่งควรปรับปรุงและแก้ไขในอนาคต 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Marshall, Harry Ignatius. 1922. The Karen People of Burma : A Study in Anthropology and Ethnology. The Ohio State University Bulletin ; Columbus (USA): The University,.
  • Mason, Francis. 1882. Burma, Its People and Productions : Or, Notes on the Fauna, Flora and Minerals of Tenasserim, Pegu and Burma.
  • Renard, Ronald D. 1980. Kariang: History of Karen-T’ai Relations from the Beginnings to 1923. PhD Dissertation: University of Hawai’i.
  • ชารล์ส คาย์ส. 2006. กะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย, แปลโดย คมลักษณ์ ไชยยะ. จาก: https://sopa2006.wordpress.com/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559].
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X