×

ปรากฏการณ์ ‘โอไมครอน’ สะท้อนปัญหาอะไรบ้าง

02.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

การตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไม่ต่างจากตอนที่มีรายงานโควิดครั้งแรกที่ประเทศจีน หลายประเทศประกาศปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้และใกล้เคียงแทบจะในทันที ขณะที่ประเทศนอกทวีปแอฟริกาเริ่มทยอยตรวจพบสายพันธุ์ใหม่และเข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้นๆ หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้สายพันธุ์นี้เป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรกับเราบ้าง

 

1. สายพันธุ์โอไมครอนยังมีข้อมูลอีกหลายเรื่องที่เรายังเร็วเกินไปที่จะสรุป

ในวันที่ WHO ประกาศให้สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล พร้อมกับตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีกให้สายพันธุ์ B.1.1.529 เราพอจะทราบว่าสายพันธุ์นี้มีการกลายมากกว่าสายพันธุ์เดลตา 2 เท่า โดยเฉพาะบริเวณหนาม (Spike) ที่มากกว่า 30 ตำแหน่งจนทำให้กังวลว่าจะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และพบการระบาดในหลายจังหวัดของแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่จะแทนที่สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่ทราบ

 

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 WHO ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนว่ายัง ‘ไม่มีความชัดเจน’ เกี่ยวกับความสามารถในการแพร่กระจาย (ยังสรุปไม่ได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือปัจจัยอื่น) ความรุนแรงของโรค (ยังสรุปไม่ได้ว่าอาการของสายพันธุ์ใหม่ไม่รุนแรง เพราะการระบาดในช่วงแรกพบในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนที่อายุน้อยมักมีอาการน้อย) และประสิทธิผลของวัคซีน (ยังต้องรอผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม) 

 

ความกลัวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจน อีกส่วนเกิดจากสิ่งที่คาดการณ์จากความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีว่าไวรัส ‘อาจ’ แพร่ระบาดเร็วขึ้น วัคซีน ‘อาจ’ มีประสิทธิผลลดลง เราจะจัดการความกลัวนี้อย่างไรให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันเราก็เตรียมความพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้เหล่านั้น ซึ่งอาจต้องกลับมาที่การป้องกันส่วนบุคคล (สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ) การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอาการรุนแรง และมาตรการ TTI (Test, Trace & Isolation) เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่และตอบโต้อย่างทันท่วงที

 

2. การรายงานสายพันธุ์ใหม่กลายเป็นดาบสองคมต่อแอฟริกาใต้

โดยแอฟริกาใต้ได้รายงานการระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.529 ต่อ WHO เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ทำให้หลายประเทศกังวลว่าจะเกิดการระบาดในประเทศของตน จึงประกาศปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ ทำให้แอฟริกาใต้รู้สึกเหมือนโดนลงโทษ แทนที่จะชื่นชมความโปร่งใสในการรายงานข้อเท็จจริงให้นานาประเทศรับทราบ นอกจากนี้ยังทำให้แอฟริกาใต้ขาดแคลนน้ำยาในการตรวจหาเชื้อจากการยกเลิกเที่ยวบินด้วย

 

เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้และบอตสวานาพึ่งพาการท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน Lindiwe Sisulu รัฐมนตรีการท่องเที่ยวเปรียบเทียบมาตรการนี้ว่าเป็น ‘การทำลายล้าง’ เศรษฐกิจหลังจากที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการเจรจาให้แอฟริกาใต้หลุดจากบัญชีประเทศสีแดงของสหราชอาณาจักรเมื่อก่อนหน้านี้ “บางทีความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสายพันธุ์นี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุด เพราะเรากำลังถูกลงโทษจากงานที่เราทำ” เขากล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน

 

แต่ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน Antony J. Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวชื่นชมนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้ที่สามารถตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างรวดเร็วและรัฐบาลแอฟริกาใต้สำหรับความโปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งควรเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างสหรัฐฯ กับแอฟริกาใต้ และจะให้การสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อต่อสู้กับโควิดด้วย

 

3. “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย” (No one is safe until we are all safe) 

เป็นคำกล่าวของ Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และถูกนำมาอ้างอิงต่อโดย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เมื่อเดือนกันยายน 2563 ในการเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมมือกันในการหยุดการระบาด โดยทุกคนจะต้องเข้า

ถึงการตรวจ ยา และวัคซีนอย่างเป็นธรรม แต่ทว่าแอฟริกากลับเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำมาก

 

ในบรรดา 8 ประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาที่หลายประเทศห้ามเดินทางเข้าประเทศมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ บอตสวานา 37.6% แอฟริกาใต้ 29.1% เลโซโท 27.2% ซิมบับเว 25.5% เอสวาตินี 21.2% โมซัมบิท 20.5% นามิเบีย 14.0% และมาลาวี 5.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งเท่ากับ 54.3% สะท้อนความไม่เป็นธรรมในการกระจายวัคซีน ทำให้ยังคงเกิดการระบาดต่อเนื่อง และยิ่งควบคุมการระบาดไม่ได้ก็จะยิ่งทำให้ไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้น

 

วัคซีนในทวีปแอฟริกามาจากหลายแหล่งทั้งการเจรจาระหว่างประเทศ การบริจาค และโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ปัญหาที่ผ่านมาคือการได้รับวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ล่าช้าจากการระบาดของโควิดในประเทศผู้ผลิตวัคซีนเมื่อช่วงกลางปี แต่ปัจจุบันทวีปแอฟริกาได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาวัคซีนที่ได้รับใกล้หมดอายุ และระบบขนส่งที่ยากลำบากภายในประเทศทำให้ต้องทิ้งวัคซีนไป อีกทั้งยังมีปัญหาความกลัวและข่าวปลอมที่ทำให้ประชาชนไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีน

 

4. มาตรการจำกัดการเดินทางจากทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาอาจไม่ได้ผล

สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปประกาศปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้และใกล้เคียงแทบจะในทันทีที่มีข่าวสายพันธุ์ใหม่ บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล ปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศ เพื่อป้องกันการนำเข้าผู้ติดเชื้อ แต่ทว่าไวรัสอาจแพร่ระบาดมาก่อนหน้าที่จะตรวจพบแล้วอย่างที่เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศมากขึ้นๆ มาตรการนี้จึงอาจไม่สามารถหยุดการระบาดของโอไมครอนได้

 

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า มาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงแรกของการระบาดของโควิดมีประสิทธิผลน้อยต่อการควบคุมโรค หรือมีประสิทธิผลในการชะลอการระบาดเมื่อใช้ร่วมกับมาตรการอื่น เช่น การตรวจหาเชื้อ (Test) และการแยกกักโรค (Isolation) นักวิชาการอีกฝั่งเห็นว่าการปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นการ ‘ซื้อเวลา’ เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดภายในประเทศ เช่น การเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ (ห้องปฏิบัติการ) การสอบสวนโรค การรักษาโรค (โรงพยาบาล) และการฉีดวัคซีน

 

แต่มาตรการนี้อาจทำให้เกิดความชะล่าใจว่าสายพันธุ์โอไมครอนถูกจำกัดไม่ให้เข้าประเทศได้ ทั้งที่สายพันธุ์นี้อาจเข้าประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังตรวจไม่พบ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของบุคลากรทางการแพทย์และการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาจเกิดความหวาดกลัวต่อชาวต่างชาติประเทศนั้นๆ (Xenophobia) ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาก่อนได้ นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ยังอาจปกปิดการรายงานไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพราะจะทำให้เกิดการจำกัดการเดินทางตามมาเหมือนกรณีแอฟริกาใต้

 

5. วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับทุกคนและเร็วขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับการระบาด 

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ประกาศปรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นใหม่ด้วยเหตุผลของการตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกาปรับคำแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ‘ควร’ (should) เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer หรือ Moderna โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน

 

จากเดิมที่แนะนำว่าผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ‘อาจ’ (may) ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (ในรายละเอียดมีมากกว่านี้) ส่วนคณะกรรมการร่วมด้านการให้วัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (JVCI) สหราชอาณาจักรแนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเป็นภายใน 3 เดือนหลังได้รับเข็มที่ 2 (คาดว่าเพราะสูตรวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มมีประสิทธิผลลดลงเร็วกว่าวัคซีน Pfizer 2 เข็ม) และขยายกลุ่มอายุที่ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นลงมาถึงกลุ่มอายุ 18-39 ปี (เป็น 18 ปีขึ้นไปเหมือนสหรัฐอเมริกา)

 

ในขณะที่บริษัทวัคซีนต่างเร่งศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์ ถึงแม้จะคาดการณ์ได้ในทางทฤษฎีว่าน่าจะลดลง แต่ยังไม่ทราบว่าลดลงเท่าไร โดย Stephane Bancel ซีอีโอบริษัท Moderna ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ไม่ทราบว่า (ลดลง) มากเท่าไรเพราะเราต้องรอข้อมูล แต่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ผมพูดคุยด้วยบอกเหมือนกับว่ามันไม่น่าจะดีนัก” และหากต้องพัฒนาวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์นี้อาจใช้เวลาอีกหลายเดือน

 

โดยสรุปการปรากฏของสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการกระจายวัคซีนระดับโลกจนทำให้ทวีปแอฟริกาเสี่ยงต่อการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส มาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดอาจไม่มีประสิทธิผลในการควบคุมการระบาดและส่งผลกระทบหลายด้านตามมา การเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั้ง 2 เข็มแรกและเข็มกระตุ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X