×

‘โอไมครอน’ หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเก่งขึ้น งานวิจัยล่าสุดบอกอะไรบ้าง?

08.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

เมื่อตรวจพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ นักวิทยาศาสตร์จะมีความสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของไวรัสประมาณ 5 ข้อ คือ 

 

  1. การแพร่ระบาด (แพร่เร็วขึ้นหรือไม่) 
  2. ความรุนแรง (อาการหนักขึ้นหรือไม่) 
  3. ผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน (ดื้อวัคซีนหรือไม่ ติดเชื้อซ้ำหรือไม่) 
  4. ผลกระทบต่อการรักษา (ดื้อยาหรือไม่) 
  5. ผลกระทบต่อการวินิจฉัย (ต้องตรวจเชื้อด้วยวิธีใหม่หรือไม่) 

 

สำหรับคำถามเรื่อง ‘ผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน’ คำตอบในช่วงแรกมาจากการคาดการณ์จากรหัสพันธุรรมที่มีการกลายหรือเปลี่ยนไป ยิ่งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญและมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง อย่างสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามมากกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้มีความกังวลว่าจะดื้อภูมิคุ้มกันมากขึ้น ช่วงถัดมาคำตอบจะมาจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ 

 

วันนี้ (8 ธันวาคม) สองสัปดาห์หลังจากประเทศแอฟริกาใต้รายงานการระบาดของสายพันธุ์นี้ให้องค์การอนามัยโลกทราบก็เริ่มมีข่าวผลการทดสอบภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัสออกมา

 

งานวิจัยแรกเป็นของทีม ศ.ดร.อเล็กซ์ ไซกัล แห่งสถาบันวิจัยด้านสาธารณสุขแห่งแอฟริกาใต้ โดยนำตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer 12 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อน 6 คน และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน 6 คน มาทดสอบกับไวรัส 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ดั้งเดิม (D614G) และสายพันธุ์โอไมครอน พบว่า 

 

  • ระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 50% (FRNT50) ลดลงจาก 1,321 หน่วย เหลือ 32 หน่วย หรือลดลง 41.4 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • ระดับภูมิคุ้มกันของกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อน ‘สูงกว่า’ กลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ
  • ระดับภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร ‘บางคน’ แทบไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้

 

แสดงว่าสายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากทั้งวัคซีนและการติดเชื้อก่อนหน้าได้ สอดคล้องกับข่าวผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่การมีภูมิคุ้มกันในระดับสูงน่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าการมีภูมิคุ้มกันในระดับต่ำกว่า โดยกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนและได้รับวัคซีน Pfizer น่าจะเทียบเท่ากับการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 (การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน่าจะมีความสำคัญในการป้องกันโรค) อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้มีกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย

 

งานวิจัยอีกชิ้นเป็นของทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนี ทดสอบการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 50% (NT50) 

 

  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Pfizer 2 เข็มมาแล้ว 6 เดือน ลดลง 11.4 เท่า และถือว่ายับยั้งสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เลย (0%) 
  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Pfizer 3 เข็ม ลดลง 37.0 เท่า (ยับยั้งได้ 58%) เมื่อเก็บตัวอย่างเลือดหลังฉีดเข็มที่ 3 ครึ่งเดือน และลดลง 24.5 เท่า (ยับยั้งได้ 25%) เมื่อเก็บตัวอย่างเลือดหลังฉีดเข็มที่ 3 สามเดือน
  • เช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Moderna 2 เข็มมาแล้ว 6 เดือน ลดลง 20.0 เท่า (ยับยั้งได้ 0%) แต่เมื่อฉีดเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer เก็บตัวอย่างเลือดที่ครึ่งเดือน ลดลง 22.7 เท่า (ยับยั้งได้ 78%)

 

ผลการศึกษานี้ค่อนข้างน่ากังวลตรงที่ภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนชนิด mRNA ครบ 2 เข็มมานานไม่สามารถยับยั้งสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่จะสามารถยับยั้งได้มากขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 

 

ทั้งนี้ทั้งสองงานวิจัยเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ผลการทดสอบนี้ไม่สามารถเทียบเคียงเป็นประสิทธิผลจริงของวัคซีนได้ (คำตอบในช่วงถัดไปจะมาจากการศึกษาในภาคสนาม) และร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันอีกประเภทคือ ทีเซลล์ (T Cell) ในการจัดการไวรัสซึ่งไม่ได้ทดสอบในครั้งนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising