วันนี้ (11 มกราคม) มีรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 726 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ 468 ราย ผู้ติดเชื้อจากระบบ Sandbox 184 ราย และผู้ติดเชื้อจากระบบ Test & Go อีก 74 ราย ทำให้ตอนนี้ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 23,767 ราย
ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยหลังปีใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภูเก็ต ตรวจพบยอดผู้ป่วยโควิดสะสมไปแล้ว 3,898 ราย
นอกจากนี้ สสจ.ภูเก็ต ยังได้ประกาศแจ้งเตือนถึงประชาชนที่เข้าร่วมงาน ‘Ice skating’ ที่ Boat Lagoon เมื่อวันที่ 7-9 มกราคมที่ผ่านมา ให้สังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกมีอาการไม่สบาย ให้ตรวจหาเชื้อด้วยระบบ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก ให้ติดต่อที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง (ตามสิทธิการรักษา) เพื่อตรวจประเมินอาการอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในพื้นที่ภูเก็ตที่เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังปีใหม่ วานนี้ (10 มกราคม) มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ครั้งที่ 3/2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่แบบรอบด้าน โดย พญ.เหมือนแพร บุญล้อม รอง นพ.สสจ.สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า สสจ.ภูเก็ต ได้กำหนดแผนจัดเตรียมเตียงรักษา และสถานที่ทำการรักษาเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยการประเมินสถานการณ์ประเทศไทย มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีอัตราการพบเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง เท่ากับ 431 รายต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก
โดยส่วนใหญ่ยังพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบ Test & Go และ Phuket Sandbox รวมทั้งการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราความต้องการเตียงรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก เริ่มไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย แต่อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้ติดเชื้อพบประวัติเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย มีกิจกรรมร่วมกัน หรือทำอาชีพที่เกี่ยวข้องในแหล่งท่องเที่ยว และมีการสัมผัสนักท่องเที่ยว รวมถึงมีความเชื่อมโยงการระบาดในกลุ่ม Test & Go ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ของตัวอย่างในจังหวัด พบเชื้อโอมิครอนในตัวอย่างของผู้ติดโควิด ร้อยละ 66
ทั้งนี้ สสจ.ภูเก็ต มีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเร่งรัดดำเนินการตาม 4 มาตรการเปิดประเทศ ได้แก่ Vaccine, Universal Prevention, COVID Free Setting, ATK พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับการเปิดประเทศ แผนปฏิบัติการรองรับการระบาดในพื้นที่ การจัดเตรียมระบบการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนโรงพยาบาลหลัก, โรงพยาบาลสนาม, Community Isolation, Hospitel, Alternative Quarantine, Hotel Isolation และ Home Isolation และเพิ่มมาตรการชะลอการระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฝ้าระวังเหตุการณ์เสี่ยง Event-based Surveillance และตรวจเชิงรุกด้วย ATK รวมถึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข็มที่ 4 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ