×

ติดเชื้อระลอก BA.5 ดูแลตนเองอย่างไร ต้องกินยาต้านไวรัสหรือไม่

18.07.2022
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์ BA.5

เดือนกรกฎาคม 2565 โควิดกลับมาระบาดอีกครั้งจากสายพันธุ์ BA.5 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ ศบค. รายงานจะค่อนข้างคงที่ประมาณ 2,000 รายต่อวัน แต่นั่นเป็นยอดผู้ป่วยที่รักษา ‘ในโรงพยาบาล’ ยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนหนึ่งรักษาตัว ‘ที่บ้าน’ ขณะเดียวกันคนใกล้ชิดเริ่มทยอยติดเชื้อ

 

ผู้ติดเชื้อในระลอกนี้จะมีอาการอะไรบ้าง ต้องแยกตัวกี่วัน ดูแลตัวเองอย่างไร ต้องกินยาต้านไวรัสหรือไม่ และติดเชื้อแล้วยังรักษาฟรีอยู่หรือไม่ รวมคำตอบไว้ในบทความนี้แล้ว

 

ผู้ติดเชื้อมีอาการอะไรบ้าง

 

ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 5-10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส อาการจากการติดเชื้อ BA.5 ไม่ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ได้แก่ 

  • ไอ 
  • มีน้ำมูก 
  • เจ็บคอ 
  • อ่อนเพลีย 
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ไม่ค่อยพบอาการจมูกไม่ได้กลิ่น / ลิ้นไม่รับรสเหมือนสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา

 

ผู้ติดเชื้อบางส่วนไม่มีอาการจึงอาจตรวจพบจากการตรวจ ATK

 

ปัจจุบันชุดตรวจ ATK ยังสามารถใช้ตรวจโอมิครอนได้ แต่การแยกว่าเป็น BA.2 ที่ระบาดก่อนหน้านี้หรือ BA.5 ที่เพิ่งเริ่มระบาดในเดือนมิถุนายน ต้องใช้การตรวจรหัสพันธุกรรม ซึ่งไม่มีความจำเป็น เพราะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า BA.5 ไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และการตรวจเพื่อแยกสายพันธุ์ใช้เวลาและมีราคาแพง

 

เป้าหมายของการรู้ว่าติดเชื้อคือ ‘การแยกตัว’ และ ‘การรักษา’

 

ผู้ติดเชื้อต้องแยกตัวกี่วัน

 

การแยกตัว (Isolation) เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปให้ผู้อื่น ปัจจุบันคำแนะนำของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คือ 10 วัน นับจากวันที่มีอาการหรือวันตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วันแล้วยังมีไข้ ให้แยกตัวต่อจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

 

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์อาจให้อยู่โรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปแยกตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน

 

ข้อมูลจากการศึกษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ฉีดวัคซีนและมีอาการเล็กน้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่าสามารถแพร่เชื้อได้ 6-9 วันหลังมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ และข้อมูลจากการวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร NEJM พบว่า ระยะเวลาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจนถึงไม่สามารถเพาะเชื้อได้เท่ากับ 5 วัน (พิสัยควอร์ไทล์ 3-9 วัน)

 

ดังนั้นระยะเวลา 10 วันจึงปลอดภัยที่สุด 

 

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ซ้ำ เพราะผลลบไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่แพร่เชื้อ 

 

แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้านก่อน อาจอ้างอิงคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งแนะนำให้แยกตัว 5+5 วัน คือแยกตัวอยู่บ้าน 5 วัน และอีก 5 วัน สามารถออกจากบ้านได้โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามเดินทางท่องเที่ยว และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง

 

ต้องกินยาต้านไวรัสหรือไม่ 

 

ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่หายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส หากเป็นกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือฉีดวัคซีนครบตามกำหนด (รวมเข็มกระตุ้น) แล้ว สามารถรักษาที่บ้านเหมือนโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นได้ โดยรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และสังเกตอาการตนเอง หากหอบเหนื่อย / หายใจลำบากให้รีบไปโรงพยาบาล

 

ปัจจุบันคำแนะนำของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แบ่งผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  • สีเขียว
    • ไม่มีอาการหรือสบายดี รักษาตามอาการ อาจให้ยาฟ้าทะลายโจร ไม่ให้ยาต้านไวรัส
    • มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส

 

  • สีเหลือง คือกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือกลุ่มที่มีภาวะปอดอักเสบ ให้ยาต้านไวรัส 1 ชนิด ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ เรียงลำดับยาที่เลือกใช้ คือ

(1) โมลนูพิราเวียร์

(2) เรมเดซิเวียร์ 

(3) แพ็กซ์โลวิด 

(4) ฟาวิพิราเวียร์

 

  • สีแดง คือกลุ่มที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ระดับออกซิเจนในเลือด ≤ 94% ให้ยาเรมเดซิเวียร์และยาสเตียรอยด์

 

สังเกตว่าผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ดังนั้นหากตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อสามารถซื้อยารักษาตามอาการและดูแลตนเองที่บ้านได้ 

 

ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ยาที่เลือกใช้เป็นลำดับแรกก็ไม่ใช่ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ายานี้ไม่มีประสิทธิผลลดอาการป่วยหนัก เพียงแต่ลดอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงหากได้รับยาเร็วเท่านั้น

 

สังเกตอาการที่บ้านอย่างไร

 

อุปกรณ์ที่ควรมีระหว่างรักษาที่บ้านคือ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว โดยอาการที่ต้องไปโรงพยาบาล ได้แก่

  • ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง 
  • ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำกว่า 94% 

 

หากไม่มีอุปกรณ์ สามารถใช้การสังเกตอาการเป็นหลัก ได้แก่

  • ไข้สูง รับประทานยาลดไข้แล้วไม่ลดลง 
  • โรคประจำตัวมีการเปลี่ยนแปลง 
  • สำหรับผู้ใหญ่ หอบเหนื่อย หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที
  • สำหรับเด็ก หายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง

 

สำหรับวิธีรักษาตามอาการอื่นๆ เช่น

  • ไข้: ยาลดไข้ เช็ดตัว
  • ไอ: ยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจดื่มน้ำขิงใส่มะนาว หรือน้ำมะนาวใส่น้ำผึ้ง
  • เจ็บคอ: ยาแก้เจ็บคอ 
  • น้ำมูก: ยาลดน้ำมูก สวนล้างจมูก
  • อาเจียน / ท้องเสีย: ดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย ในเด็กอาจผสมน้ำหวานแช่แข็งทำเป็นไอศกรีมช่วยให้กินได้ รับประทานข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก / อาหารรสจัด

 

การรักษาฟรีตามสิทธิการรักษา

ผู้ป่วยโควิดยังได้รับการรักษาฟรี แต่ผู้ป่วยจะต้องไปตามสิทธิการรักษาของตนเอง 

 

  • สิทธิบัตรทอง: หน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลประจำอำเภอ / จังหวัด และร้านขายยาในโครงการเจอ แจก จบ 
  • สิทธิประกันสังคม: โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้
  • สิทธิข้าราชการ: โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง
  • ยกเว้นกรณีผู้ป่วยสีแดงหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิ์ UCEP ได้ทุกโรงพยาบาล

 

โควิดสายพันธุ์ BA.5

 

ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมสามารถติดต่อรับการรักษาแบบเจอ แจก จบ (Outpatient with Self Isolation: OPSI) ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ (สแกน QR Code ในอินโฟกราฟิก) แต่จะต้องเป็นกลุ่มสีเขียวเท่านั้น 

 

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองยังสามารถใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชัน Good Doctor Technology หรือ MorDee ซึ่งส่งยาฟรีถึงบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

โควิดสายพันธุ์ BA.5

 

ส่วนสายด่วน 1330 ของ สปสช. สามารถโทรสอบถามขั้นตอนการรักษา หรือหากมีอาการแย่ลง ต้องการประสานเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ แต่ไม่ได้รองรับการลงทะเบียนเพื่อรักษาแบบผู้ป่วยนอกเหมือนเมื่อต้นปีแล้ว

 

โดยสรุป ผู้ติดเชื้อโควิดในระยะนี้มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรุนแรง 608 หรือผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นตามกำหนด ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวสามารถรักษาและสังเกตอาการที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส หากต้องการพบแพทย์ สามารถรักษาฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising