×

ศ.นพ.มานพ เผยข่าวดี ยาต้านเชื้อโอไมครอนนำเข้าสู่ไทยแล้ว ช่วยลดโอกาสป่วยหนัก-เสี่ยงเสียชีวิตสูง

โดย THE STANDARD TEAM
09.12.2021
  • LOADING...
ยาต้านเชื้อโอไมครอน

วันนี้ (9 ธันวาคม) ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ออกอากาศทางช่อง MCOT HD 30 ถึงกระแสข่าวการนำเข้ายาต้านโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสู่ประเทศไทยว่า เดิมทียาชนิดดังกล่าวเป็นยาที่มีในไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ในต่างประเทศมีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ผลคือยายังคงฤทธิ์หรือมีประสิทธิภาพการรักษาได้ดีต่อโอไมครอน

 

สำหรับยาชนิดดังกล่าวเป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี เปรียบเสมือนแอนติบอดีที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของคนที่เคยป่วยด้วยโรคหรือเกิดจากวัคซีนป้องกันโควิด เพียงแต่มีการผลิตออกมาเป็นพิเศษด้วยการสังเคราะห์กับเชื้อโควิดโดยตรง และยาตัวนี้มีการคิดค้น ศึกษาจากคลินิก จนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งใช้รักษากลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิดและคนที่มีความเสี่ยงสูง

 

ศ.นพ.มานพ อธิบายเพิ่มเติมว่า ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีคือยาคนละตระกูลกับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโควิดมีอยู่ 2 แบบคือ 

  1. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแพร่ตัวของเชื้อไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์, ยาโมโนพิราเวียร์
  2. ยาในกลุ่มแอนติบอดี มีหน้าที่จัดการเชื้อโควิดโดยเฉพาะ เช่น ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี

 

โดยในภาพรวมต่างประเทศ ชนิดของยาที่ถูกหยิบมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดมากที่สุดคือยากลุ่มแอนติบอดี เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ใช้ในต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่ยาโมโนพิราเวียร์ก็เพิ่งจะผ่านอนุมัติไม่นาน แต่ยังไม่นำมาใช้ ทำให้ภาพรวมตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกใช้ยาแอนติบอดีมาหลายเดือนแล้ว

 

ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมในไทยถึงยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษา ทั้งที่ทั่วโลกใช้ยากลุ่มแอนติบอดี อีกทั้งยากลุ่มแอนติบอดีมีชื่อทางการค้าว่า ‘ยาโซโทรวิแมบ’ (Sotrovimab) ถูกผลิตและพัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (GSK) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาของอังกฤษที่ทำการค้าเรื่องยากับประเทศไทยนานนับ 40-50 ปี เหตุใดจึงไม่มีการนำเข้ามาขายในไทย หรือติดปัญหาส่วนใดนั้น

 

ศ.นพ.มานพ ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ที่กระบวนการนำเข้าและการติดต่อขออนุมัติการใช้ เพราะยาชนิดนี้ต้องถูกจดแจ้งขอใช้ในรูปแบบของการใช้ฉุกเฉิน (EUA) ซึ่งประเทศไทยต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องขึ้นอยู่กับบริษัทนำเข้า เพราะกระบวนการนำเข้ายามีหน่วยงานที่สามารถนำเข้ามาได้ไม่กี่แห่ง 

 

แต่ล่าสุดนับว่าเป็นข่าวดีว่าการมาของยาโซโทรวิแมบคือการนำเข้าร่วมกันของบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์นกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถนำยาเข้าสู่ไทย ได้ตัดสินใจนำเข้ายาชนิดนี้มาแล้ว และส่วนตัวคิดว่ายาชนิดนี้เข้าไทยได้ไม่นาน เนื่องจากในต่างประเทศก็เริ่มใช้กันไม่นานนี้

 

นอกจากนี้ การมาของยากลุ่มแอนติบอดี หรือยาโซโทรวิแมบ สามารถเป็นความหวังในการต่อสู้กับโอไมครอนได้โดยตรงหรือไม่นั้น ศ.นพ.มานพ บอกว่า จากข้อมูลที่มีการเผิดเผยออกมา ก่อนหน้านี้มีการใช้ยาตัวนี้กับผู้ติดเชื้อโควิดในสายพันธุ์อื่นๆ เช่น เดลตา, เบตา, แกมมา รวมถึงในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงด้วยการฉีด 1 ครั้ง พบว่าช่วยลดโอกาสป่วยหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตประมาณ 80-85% 

 

และการมาของสายพันธุ์โอไมครอนตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการนำเชื้อไปทดสอบกับตัวยาต้านโควิดหลายตัว รวมถึงยาแอนติบอดีชนิดนี้ พบว่ายายังทำหน้าที่ยับยั้งเชื้อได้ดีอยู่

 

ส่วนกรณีที่ตอนนี้สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มมีการกลายพันธุ์จนทำให้เกิดข้อกังวลว่ายาแอนติบอดีนี้จะยังยับยั้งได้หรือไม่ 

 

ศ.นพ.มานพระบุว่า เชื้อโอไมครอนกลายพันธุ์ที่เพิ่มเติมจะส่งผลต่อการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งอาจทำให้ตรวจจับเชื้อโอไมครอนได้ยากหรือไม่เจอเชื้อสายพันธุ์นี้ เนื่องจากเชื้อเริ่มหลบตำแหน่งทางพันธุ์กรรม ส่วนกรณีของยาชนิดต่างๆ รวมถึงแอนติบอดี จะยังคงทำที่ทำหน้าที่ยับยั้งออกฤทธิ์ตามเดิมไม่ส่งผลอะไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising