×

OMCT เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ล่าช้าคดีตากใบ ชี้การลอยนวลพ้นผิดจะบั่นทอนความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
23.08.2024
  • LOADING...
OMCT

วานนี้ (22 สิงหาคม) องค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องหน่วยงานไทย ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 ก่อนที่อายุความจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2567 ความล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดในขณะนี้เป็นสัญญาณของการลอยนวลพ้นผิดในกรณีความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อหลักนิติธรรม

 

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา เพื่อตัดสินว่าคดีอาญาตากใบมีมูลและประทับรับฟ้อง หรือว่าจะพิพากษายกฟ้องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 9 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมชาวมลายูมุสลิมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน โดยมีผู้ชุมนุม 7 คนถูกยิงเสียชีวิต และอีก 78 คนถูกบังคับให้นอนทับกันเป็นชั้นจนเสียชีวิตในระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่คุมขัง ณ ค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี ในสภาพที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม 

 

นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ถูกควบคุมตัวประมาณ 1,200 คนที่ถูกคุมขังเป็นเวลาหลายวันโดยไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและมีผลกระทบทางจิตใจต่อเนื่องยาวนาน

 

ในเดือนธันวาคม 2547 คณะกรรมการค้นหาความจริงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้วิธีการที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้กระสุนจริงและการส่งบุคลากรที่ไม่มีประสบการณ์เข้าปฏิบัติการ แม้จะมีรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบก็ยังไม่ได้รับการลงโทษ ทำให้ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่าสองทศวรรษ

 

ในวันที่ 25 เมษายน 2567 ผู้เสียหายและครอบครัวได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่ออัยการสูงสุดในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย บังคับขู่เข็ญ และควบคุมตัวโดยมิชอบ การพิจารณาคดีเบื้องต้นที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ถูกเลื่อนออกไปในวันถัดมา และถูกเลื่อนอีกครั้งในวันที่ 19 และ 26 กรกฎาคม 2567 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคดีนี้จะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ก่อนที่จะหมดอายุความ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และการข่มขู่คุกคามที่ผู้ร้องเผชิญ ทำให้ความทุกข์ทรมานของพวกเขาทวีคูณขึ้นไปอีก และตอกย้ำถึงอุปสรรคที่พวกเขาต้องเผชิญในการแสวงหาความยุติธรรม

 

การใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในระหว่างการชุมนุมประท้วง มักถูกเรียกว่าเป็นการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ในความเป็นจริงแล้วการกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นการละเมิดข้อห้ามโดยสิ้นเชิงในการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ดังที่ได้มีการกล่าวถึงในคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมอย่างสันติ ที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อไม่นานมานี้ การทรมานไม่สามารถกระทำได้อย่างสิ้นเชิงในทุกสถานการณ์ และไม่ควรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของอายุความ 

 

จากเหตุการณ์นี้ การนำคนผิดมาลงโทษในฐานะคดีทรมานมีความสำคัญในด้านการแสดงออก ซึ่งคือความรับผิดชอบและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย 

 

เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการอย่างเด็ดขาด เอาผิดผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ คืนความยุติธรรม ชดเชย และเยียวยา ให้กับผู้เสียหายและครอบครัวของพวกเขา ความคืบหน้าในการแสวงหาความยุติธรรมและความจริงในกรณีนี้ จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม และหากการดำเนินการในครั้งนี้ล้มเหลว จะส่งผลให้ผู้ที่ก่ออาชญากรรมภายใต้การใช้อำนาจรัฐลอยนวลพ้นผิดต่อไป ไม่เพียงแค่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบเท่านั้นที่ยังคงรอที่จะเห็นความยุติธรรม แต่ความสมบูรณ์ของกรอบกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเองก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายเช่นกัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดวันนี้ (23 สิงหาคม) ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีอาญาตากใบ เอาผิด 7 จำเลยอดีตเจ้าหน้าที่รัฐในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว นัดสอบคำให้การวันที่ 12 กันยายนนี้ เบื้องต้นออกหมายเรียกให้มาศาลแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X