×

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อในกฎหมายลูก ขัดกับรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

26.04.2019
  • LOADING...
สูตรคำนวณ สส

วันนี้ (26 เม.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยมติผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กรณีคำร้องเกี่ยวกับปัญหาการเลือกตั้ง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ตรงกัน และการแถลงข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้พยายามหาข้อมูล และเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการแถลงความเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีประเด็นว่า กกต. มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของการแถลงข่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีไม่นำบัตรเลือกตั้งประเทศนิวซีแลนด์มานับนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ดังนั้น คำร้องเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ไม่มีปัญหา จึงไม่มีการยื่น

 

ขณะที่อีกคำร้องหนึ่งของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่นั้น

 

ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์เห็นว่า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 บัญญัติอนุมาตราเพิ่มเติม และเพิ่มเติมข้อความต่างๆ ทำให้ผลลัพธ์ของการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีปัญหา

 

ก็เท่ากับว่า กฎหมายลูกมาตรา128 มีปัญหาขัดกันกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ จึงมีมติมีให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็ว โดยตั้งใจว่าคำร้องจะให้เสร็จภายในวันนี้ แต่อย่างช้าไม่เกินช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 29 เมษายน

 

นายรักษเกชาเปิดเผยด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า กฎหมายลูกมาตรา 128 มีปัญหาขัดกันกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายลูกมาตรา 128 อนุมาตราที่ 4, 6 และ 7 เป็นการขยายข้อความนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91

 

เช่น ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า ‘จำนวน ส.ส. พึงมี’ แต่กฎหมายลูกไปบอกว่า ‘พึงมีในเบื้องต้น’ ซึ่งทำให้เกิดความสับสน และเกิดความขัดกันระหว่างกฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินมองในแง่มุมของประเด็นเนื้อหากฎหมาย และมติของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลผูกพันกับองค์กรอื่นๆ ดังนั้นวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดยตรง ส่วน กกต. จะต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลก่อนการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหรือไม่นั้น ก็เป็นดุลยพินิจของ กกต.

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising