×

It’s OK to not be OK แข็งแกร่งแค่ไหนก็เจ็บปวดได้ เผยด้านมืดในใจของ ไมเคิล เฟลป์ส และนักกีฬาโอลิมปิกที่ไม่มีใครล่วงรู้

06.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ไมเคิล เฟลป์ส อดีตนักว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 28 เหรียญจากโอลิมปิก 5 สมัย ออกมาเผยถึงความเจ็บปวดทางจิตใจของนักกีฬา ผ่านสารคดี The Weight of Gold ของ HBO 
  • “ผมบอกได้เลยว่าตลอดอาชีพที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่ามีใครสนใจที่จะช่วยผมจริงๆ” 
  • เจ้าของสถิติเหรียญรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์เผยว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากความเข้าใจเรื่องการสนับสนุนนักกีฬาที่ไม่ตรงกันของนักกีฬาและทีมโค้ช โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านจิตวิทยาที่เล็งผลไปที่การรักษาผลงานในสนามกีฬา มากกว่าการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ 
  • ทางออกสำหรับทุกฝ่าย นอกเหนือจากโครงการที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐฯ เริ่มต้นจัดแผนช่วยเหลือแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการให้ความรู้กับทุกๆ คนว่า “การร้องขอความช่วยเหลือด้านจิตใจไม่ใช่การแสดงออกถึงความอ่อนแอ”

“ผมไม่อยากเห็นใครฆ่าตัวตายอีกแล้ว” 

 

เป็นคำพูดของ ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ทั้งของทีมชาติสหรัฐอเมริกาและสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 

 

เขาคือผู้ที่ผ่านมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้ว 5 สมัย และสร้างสถิติคว้าเหรียญรางวัลมากที่สุด 28 เหรียญ (23 เหรียญทอง, 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง)

 

ที่ผ่านมาความสำเร็จของ ไมเคิล เฟลป์ส มักถูกพูดถึงตามสื่อต่างๆ รวมถึงโฆษณา ที่ธีมหลักอยู่ที่ความสำเร็จที่แลกมาด้วยความพยายามและวินัยในการฝึกซ้อม ซึ่งทำให้เขาสามารถพิชิตเหรียญรางวัลในทุกครั้งที่เขาลงแข่งขันโอลิมปิก 

 

 

แต่มาถึงครั้งนี้ ไมเคิล เฟลป์ส ได้ออกมาเปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ ที่เกิดขึ้นของนักกีฬาโอลิมปิก โดยเฉพาะด้านมืดทางจิตใจที่ไม่มีใครเคยรู้ โดยสะท้อนผ่านสารคดีของ HBO ที่มีชื่อว่า The Weight of Gold 

 

สารคดีที่เปิดมุมมองใหม่ให้แฟนกีฬารับรู้ว่า ทุกครั้งที่เรามองเห็นนักกีฬาลงแข่งขัน เป็นเหมือนต้นแบบของมนุษย์ที่ไร้ขีดจำกัด แข็งแกร่ง รวดเร็ว และยืดหยุ่น ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจที่แน่วแน่ แต่ลึกลงไปพวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนกับเราทุกๆ คน 

 

 

มนุษย์ที่มีวันล้ม มนุษย์ที่มีวันเจ็บปวด และมนุษย์ที่มีโอกาสจะรู้สึกไร้ค่าเมื่อใดก็ตามที่การแข่งขันหรือช่วงเวลาสุดพิเศษในสนามของพวกเขาจบลง 

 

“ผมรู้สึกว่าผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำแค่นั้นเองจริงๆ ไม่ใช่มนุษย์ ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไมผมไม่จบทุกอย่างลงตอนนี้เลย” 

 

ไมเคิล เฟลป์ส เปิดเผยในสารคดี ถึงการตั้งคำถามกับตัวเอง ในความรู้สึกที่ว่างเปล่าหลังจากชัยชนะ และเหรียญรางวัลต่างๆ ในสนามกีฬา

 

“ผมพูดตรงๆ ได้เลยว่า เมื่อผมมองย้อนกลับไปในอาชีพของผม ผมไม่คิดว่าจะมีใครสนใจที่จะช่วยเราจริงๆ ผมไม่คิดว่าจะมีใครก้าวเข้ามาถามเราว่าโอเคไหม ตราบใดที่เรายังสามารถทำผลงานได้ดี ผมไม่คิดว่าสิ่งอื่นสำคัญสำหรับพวกเขา” 

 

สิ่งที่นักกีฬาต้องการ VS สิ่งที่ทีมโค้ชและเจ้าหน้าที่มองเห็น 

 

 

ประเด็นหนึ่งที่สารคดีเรื่องนี้ต้องการนำเสนอคือปัญหาสภาพจิตใจของนักกีฬา และ ระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อชัยชนะและความสำเร็จที่ตั้งไว้เหนือทุกสิ่ง 

 

แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของโอลิมปิกสหรัฐฯ​ เผยว่า ไมเคิล เฟลป์ส ได้รับสิทธิพิเศษกว่าคนอื่นๆ ระหว่างการแข่งขัน ทั้งสถานที่ฝึกซ้อมและโค้ชที่ดีที่สุด การเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย และห้องนอนสุดหรูในศูนย์ฝึกซ้อมโอลิมปิกที่โคโลราโด รวมถึงสิทธิของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ติดตามเขา ขณะที่นักกีฬาคนอื่นต้องแบ่งห้องนอนกัน 

 

จุดนี้เองเป็นสิ่งที่เฟลป์สต้องการสะท้อนให้เห็นมากที่สุด เนื่องจากมุมมองด้านการสนับสนุนนักกีฬาที่เจ้าหน้าที่โอลิมปิกสหรัฐฯ​ และทีมโค้ชมองเห็น ช่างแตกต่างกับสิ่งที่นักกีฬาต้องการ เพราะเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่โอลิมปิกและโค้ชมองนักกีฬาเป็น ‘ทรัพย์สินที่มีค่า’ ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่พวกเขาประสบความสำเร็จในโอลิมปิก และเมื่ออาชีพของพวกเขาสิ้นสุดลง ระบบต่างๆ ก็จะเปลี่ยนมือไปสู่นักกีฬาสตาร์ดังคนใหม่ 

 

 

ขณะที่ฝั่งคณะกรรมการโอลิมปิกมองว่า การให้การสนับสนุนนักกีฬาส่วนใหญ่คือการจัดสถานที่ฝึกซ้อมที่หรูหรา การจ้างโค้ชที่ดีที่สุด การมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา และการเข้าถึงนักจิตวิทยากีฬาชั้นนำ ที่เป็นองค์ประกอบของการนำมาซึ่งเหรียญรางวัลและความสำเร็จ 

 

แต่สำหรับนักกีฬา การสนับสนุนที่พวกเขาต้องการมากกว่าคือการสนับสนุนแบบองค์รวม ที่มีการดูแลสุขภาพจิตจากนักจิตวิทยาที่ไม่เพียงโฟกัสอยู่แค่การเตรียมความพร้อมสภาพจิตใจสำหรับการแข่งขันเท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐฯ ได้รับฟังคำแนะนำของ ไมเคิล เฟลป์ส และได้จัดตั้งทีมชุดพิเศษเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงและขยายระบบความช่วยเหลือให้นักกีฬา ซึ่ง ซารา เฮิร์ชแซน ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐฯ เน้นย้ำว่า ต้องมีการปรับปรุงและอัปเดต เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันที่ต้องดูแลนักกีฬาโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาวหลายพันคน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ด้านจิตเวชทั้งหมดเพียง 3 คนเท่านั้น 

 

‘ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ’ ระบบพัฒนานักกีฬาที่กำลังถูกตั้งคำถามทั่วโลก 

 

 

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการสนับสนุนทางจิตใจของนักกีฬาที่ ไมเคิล เฟลป์ส ได้สะท้อนผ่านสารคดีดังกล่าวแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดกระแสวิจารณ์ระบบการดูแลฝึกซ้อมเพื่อสร้างนักกีฬาทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย 

 

โดยก่อนหน้านี้สารคดี Athlete A ของ Netflix ได้เปิดเผยรายละเอียดและเบื้องหลังความโหดร้ายของแพทย์ประจำทีมชาติยิมนาสติกสหรัฐฯ แลร์รี นาสซาร์ ที่มีคดีล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬา 

 

ไปจนถึงนักกีฬายิมนาสติกหลายคนอย่าง เบกกี้ และเอลลี ดาวน์นี สองนักกีฬาโอลิมปิกจากสหรัฐราชอาณาจักร ที่ออกมาเปิดเผยถึงความทารุณในกีฬายิมนาสติก โดยเฉพาะการฝึกซ้อมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันนักกีฬาไปจนสู่ขีดจำกัดทั้งด้านของร่างกายและจิตใจ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ ‘การทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ’ ซึ่งทำให้ความทารุณเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว 

 

 

นอกจากนี้ ลิซ่า เมสัน อดีตนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติอังกฤษเมื่อปี 2000 ได้ออกมาเรียกร้องให้นักกีฬายิมนาสติกทั่วโลกร่วมกันเปิดเผยเรื่องราวการฝึกซ้อมและการกระทำอย่างทารุณที่เคยพบเจอ พร้อมกับติดแฮชแท็ก #GymnastAlliance เพื่อเป็นการเปิดโปง ‘วัฒนธรรมอันทารุณ’ ของวงการกีฬายิมนาสติกทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

 

ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การตัดสินใจของ เจน เอลเลน ประธานสมาคมยิมนาสติกของอังกฤษ (British Gymnastics) ที่ต้องการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือด้วยการเร่งตรวจสอบ และสอบสวนค้นหาความจริง รวมถึงให้การสนับสนุนตามที่นักกีฬาต้องการ เพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวงการยิมนาสติก 

 

และสุดท้ายคือข่าวเศร้าที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาเกาหลีใต้ เมื่อนักกีฬาตัดสินใจจบชีวิตตนเองถึงสองรายภายในเวลาที่ห่างกันไม่นาน 

 

โดยรายแรกคือ ชเวซุกฮยอน นักไตรกีฬาหญิง วัย 22 ปี ซึ่งเคยคว้าเหรียญทองแดงประเภทเยาวชนหญิงในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่ไต้หวันเมื่อปี 2015 ตัดสินใจจบชีวิตตนเองที่หอพักของทีม 

 

โดยมีข้อความที่สื่อสารระหว่างเจ้าตัวกับแม่ เปิดเผยถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นจากการที่เธอถูกโค้ชทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เนื่องจากทำผลงานได้ไม่ดี รวมทั้งยังมีการบังคับให้เธอกินขนมปังมูลค่ารวม 200,000 วอน หรือประมาณ 5,200 บาท รวดเดียว เนื่องจากเธอไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ 

 

ขณะที่รายที่สองคือ โกยูมิน อดีตนักวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ วัย 25 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในบ้านพัก โดยสื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่าเกิดขึ้นจากการที่เธอถูกวิจารณ์ถึงฟอร์มการเล่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากโค้ชและผู้เล่นด้วยกัน รวมทั้งยังถูก Cyberbullying ซึ่งมีรายงานจาก Korea Times ว่า เธอโดนโจมตีเรื่องฟอร์มการเล่น และคอมเมนต์ที่คุกคามทางเพศ 

 

โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอได้เปิดเผยถึงความเครียดที่เกิดขึ้นจากข้อความต่างๆ ใน Instagram ว่า “หยุดบอกฉันได้แล้วว่าต้องทำอะไรด้วยคำแนะนำที่ไม่มีประโยชน์ และกลับไปสนใจธุระตัวเองเถอะ” ก่อนที่จะปิดช่องคอมเมนต์อย่างเป็นทางการ 

 

ส่วนประเด็นฟอร์มการเล่น โกยูมินได้เผยในไดอะรีส่วนตัวที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่อท้องถิ่นในภายหลังว่า เธอได้รับแรงกดดันสูงหลังจากที่เปลี่ยนตำแหน่งการเล่นมาเป็นลิเบอโร่ 

 

“ฉันพยายามอย่างดีที่สุดแล้วในทีมนี้ แต่ฉันก็สูญเสียความมั่นใจ และรู้สึกประหม่าทุกครั้ง” 

 

แม้ว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเธอว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่สาเหตุในการตัดสินใจของเธอยังคงอยู่ในขั้นตอนของการสืบสวน 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ทางสมาคมวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ได้ออกนโยบายป้องกันการบูลลี่และปกป้องสภาพจิตใจของนักกีฬาทั้งหมด 3 ข้อ หลังจากเหตุการณ์ที่เศร้าสลดของ โกยูมิน ดังนี้

 

  1. ขอให้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบคอมเมนต์บทความกีฬาในช่องทางต่างๆ เช่น Naver และ Daum โดยมีการพัฒนาระบบคัดกรองคอมเมนต์ที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักกีฬา 

 

  1. ส่งเสริมบทบาทการสนับสนุนของหน่วยงานที่ดูแลความรู้สึกของนักกีฬา ทั้งจากข้อความออนไลน์ คอมเมนต์ และการส่งข้อความส่วนตัว และมีการคุ้มครองนักกีฬาจากการคุกคามทางเพศ หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

 

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งของการฝึกสภาพจิตใจของนักกีฬา รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมทางจิตวิทยา (สร้างความแข็งแกร่งของทีมเวิร์กและวิธีลดความเครียด) 

 

https://www.instagram.com/p/CDdcsuPFAr8/

 

เปิดใจรับฟัง เข้าใจความคาดหวัง ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยน และยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือ ทางออกของความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจ 

ประเด็นสำคัญที่สุดที่สารคดีต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นอีกด้านของการแข่งขันกีฬามากขึ้นคือ การยืนยันถึงปัญหาของระบบการฝึกซ้อมต่างๆ ที่ถึงเวลาต้องปรับปรุงแก้ไข แม้จะมีจุดมุ่งหมายคือชัยชนะที่ปลายทาง แต่ระหว่างทางก็ต้องมีความสมดุลที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย 

 

แม้ในสนามกีฬาจะมีความคาดหวังว่าพวกเขาจะต้องดูเป็นยอดมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับว่า ‘บางครั้งคนที่แข็งแกร่งที่สุดก็ต้องการความช่วยเหลือ’

 

“เราต้องให้ความรู้กับผู้คนว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความอ่อนแอ” เคที อูเห์เลนเดอร์ นักกีฬาสเกเลตัน ที่ผ่านโอลิมปิกมาแล้ว 4 สมัย และหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมสารคดี The Weight of Gold กล่าว

 

ซึ่งที่ผ่านมาเธอได้ร่วมกับนักกีฬาคนอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้นักกีฬาสามารถเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องสื่อสารผ่านโค้ชและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่มีหน้าที่ประเมินความฟิตและพร้อมสำหรับการแข่งขันให้กับทีมชาติในแต่ละปี เนื่องจากผู้คนเหล่านี้อาจมองว่านักกีฬาที่มีปัญหาสุขภาพจิต ‘ไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน’ จนสุดท้ายต้องหลุดจากทีมชาติ 

 

ด้าน USOPC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเพิ่มโควตาให้นักกีฬาเข้าถึงการปรึกษาแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์ และกลุ่มบำบัดครั้งละ 6 คนกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช 

 

ไมเคิล เฟลป์ส ยอมรับว่า เขาค้นพบคุณค่าของการบำบัดเมื่อปี 2014 ในเดือนแรกของการกลับมาเตรียมพร้อมไปแข่งขันโอลิมปิก 2016 ระหว่างที่เขาถูกจับขณะขับรถเร็วกว่าความเร็วที่กำหนดขณะกำลังมึนเมา 

 

เขาได้ออกมาเปิดเผยเมื่อปี 2018 ว่าเขามีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย หลังจากที่เขาต้องกดทับความรู้สึกที่ว่างเปล่า ความรู้สึกบอบบาง และไม่มีความมั่นใจกับอะไรเลยในชีวิต นอกจากการคว้าชัยชนะระหว่างการแข่งขัน 

 

“ช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดคือหลังการแข่งขันโอลิมปิกปี 2012 ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากที่จะอยู่ในกีฬานี้แล้ว ผมไม่อยากที่จะมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว” ไมเคิลให้สัมภาษณ์ผ่าน CNN เมื่อปี 2018 

 

“ผมใช้เวลา 3-5 วันในห้องนอน ไม่กิน ไม่นอน รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป” 

 

สุดท้ายเฟลป์สก็ยอมรับว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ 

 

“ผมจำได้ว่าการเข้าบำบัดในวันแรกผมกลัวมาก เพราะว่าผมกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมต้องหาคำตอบให้ได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับผม”

 

เช้าวันแรกเขาตื่นมาพบกับพยาบาลที่ปลุกเขาตั้งแต่ 6 โมงเช้า และให้เขามองไปยังกำแพงที่ว่างเปล่าพร้อมให้บอกความรู้สึกของตัวเอง 

 

“คุณคิดว่าผมรู้สึกอย่างไรตอนนี้เหรอ?” หนึ่งในนักกีฬาโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันในเวลานั้นถาม

 

“ผมหงุดหงิดมาก ผมไม่ใช่คนตื่นเช้า” 

 

แต่หลังจากที่เขาได้พูดถึงความรู้สึกต่างๆ ของเขา เฟลป์สยอมรับว่าเขาเริ่มรู้สึกดีขึ้น 

 

“ชีวิตเริ่มง่ายขึ้น ผมบอกตัวเองหลายครั้งว่าทำไมผมไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน แต่มันก็คงเป็นเพราะผมยังไม่พร้อม

 

“ผมเป็นคนที่จัดแบ่งทุกอย่างที่ผมไม่ต้องการพูดถึง สิ่งที่ผมไม่อยากรับมือ และสิ่งที่ผมไม่อยากเริ่มต้นพูดคุยได้เป็นอย่างดี ผมไม่เคยต้องการที่จะเห็นอะไรแบบนี้” 

 

และในวันนั้นเองที่เฟลป์สเข้าใจและยอมรับว่า ‘It’s OK to not be OK’ 

 

ซึ่งเฟลป์สให้ความหมายกับประโยคนี้ว่า “มันเป็นรอยด่างที่เราต้องรับมือในทุกๆ วัน ผมคิดว่าตอนนี้ผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันเป็นความจริง คนที่เริ่มพูดคุยถึงมัน และผมคิดว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

“นี่คือเหตุผลที่สถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้น เพราะหลายคนกลัวที่จะเปิดใจพูดคุยถึงปัญหา” 

 

จากการที่เฟลป์สได้แบ่งปันประสบการณ์ และมีโอกาสยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น เขายอมรับว่าสิ่งนี้ทรงพลังมากกว่าสิ่งอื่นๆ ในชีวิตของเขา 

 

“โมเมนต์เหล่านั้น ความรู้สึกเหล่านั้น สำหรับผมคือเป็นความรู้สึกที่ดีกว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกหลายเท่าตัว

 

“ผมรู้สึกขอบคุณที่ผมไม่ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง” 

 

ปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่กำลังลุกลามอย่างต่อเนื่อง และข่าวการฆ่าตัวตายของบุคคลที่เราคาดไม่ถึงยังคงปรากฏขึ้น เมื่อหลายคนมีความคาดหวังว่าคนที่ประสบความสำเร็จมีชีวิตที่หลายคนอิจฉา โดยเฉพาะนักกีฬาที่มีความแข็งแกร่งทางร่างกาย ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจที่เข้มแข็งและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม 

 

แต่ความจริงที่ปรากฏกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่ออีกด้านหนึ่งของความแข็งแกร่งก็คือความอ่อนแอ เพราะสุดท้ายทุกคนก็คือมนุษย์ที่มีหลายมิติ และมีด้านมืดที่ไม่เคยเปิดเผยสู่สายตาสาธารณะ 

 

เดวิด โช ศิลปินชาวสหรัฐฯ ชื่อดัง ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ โจ โรแกน ถึงปัญหาสภาพจิตใจที่ตัวเขาเองพบเจอจากความสำเร็จ และเส้นทางอาชีพของเขาที่ผ่านมา รวมถึงเบื้องหลังการพูดคุยของเขากับ แอนโทนี บัวร์เดน เชฟและพิธีกรรายการชื่อดังที่เดินทางไปทั่วโลก จนบางคนยกให้เป็น ‘คนที่มีงานน่าอิจฉาที่สุดในโลก’ แต่สุดท้ายเขากลับตัดสินใจจบชีวิตตนเอง 

 

“ผมมีปัญหาที่พูดออกมาแล้วอาจฟังดูตลก ผมหยุดชักว่าวไม่ได้ และผมหยุดทำงานไม่ได้ ผมเพิ่งได้รางวัล Emmy ทำงานให้กับ VICE ผมมีพอดแคสต์ ผมมีโปรเจกต์ต่อไป ผมมีงานอาร์ตที่จะทำเงินได้เป็นล้านดอลลาร์ มันไม่มีที่สิ้นสุด 

 

“และตอนที่ผมดูสารคดี The Last Dance ของ ไมเคิล จอร์แดน จบ ผมลองไปถามคนที่ประสบความสำเร็จในจุดสูงสุดแต่ละคนว่าเขามีช่วงเวลาของความสุขนานขนาดไหน หลายคนตอบว่าเต็มที่ก็หนึ่งวัน หลังจากนั้นวันต่อมาก็ต้องกลับไปต่อสู้ใหม่ เพราะมันไม่เคยพอ พอได้เหรียญทองแล้วอย่างไร ก็กลับไปสู้ใหม่สิ มันจะไม่เคยเพียงพอ ผมจะพอเรื่องผู้หญิง ไม่มีเงินเพียงพอ และไม่มีความสำเร็จเพียงพอ

 

“ผมมีเพื่อนหลายคนที่ฆ่าตัวตาย แอนโทนี บัวร์เดน โทรมาขอความช่วยเหลือจากผมโดยเปิดใจว่าเขาเป็นทุกข์มาก และถามผมว่าคุณรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไร ผมรอคอยคนโทรมาแบบนี้นานมากแล้ว 

 

“เขาโทรมาในปีเดียวกับที่เขาฆ่าตัวตาย เขาบอกว่าคุณประสบความสำเร็จ ผมก็ประสบความสำเร็จ คุณรู้สึกว่าตัวเองมีทุกข์ไหม ผมบอกเขาว่า ‘แน่นอน มีมากด้วย’ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะบอก คือการขอความช่วยเหลือและการได้รับความช่วยเหลือ 

 

“ถ้าคุณรู้จักคนที่รู้จัก แอนโทนี บัวร์เดน ซึ่งผมรู้จักทั้งผู้จัดการของเขา เพื่อนของเขา คุณจะไม่มีวันหาคนที่พูดเรื่องไม่ดีของเขาได้เลย เพราะคนคนนี้คือที่สุด เขาคอยดูแลคุณ เขาจะมาช่วยเหลือคุณ ไม่ว่าคุณต้องการอะไร เขาจะดูแลคุณ คุณจะหาคนที่ด่าว่าร้ายเขาไม่ได้เลย 

 

 

“แต่ผมอยากจะบอกว่าคุณน่ะแย่มากเลย คุณฆ่าตัวเอง คุณฆ่าใครบางคน ซึ่งคนคนนั้นคือตัวคุณเอง ในเวลาที่ตัวคุณต้องการตัวเองมากที่สุด คุณกลับไม่ปรากฏตัวมาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง…” เดวิด โช เปิดเผยสิ่งที่เขาอยากจะพูดกับบัวร์เดน ก่อนที่จะร้องไห้ในรายการ สะท้อนถึงความเจ็บปวดที่เขาสูญเสียเพื่อนคนนี้ไป 

 

“เขาขอความช่วยเหลือ ผมคุยกับเขา และบอกว่านี่เป็นหนทางที่จะช่วยได้ ผมบอกเขาว่าผมอยู่ในจุดที่ดีกว่าแล้ว ผมช่วยคุณได้ สุดท้ายความรู้สึกที่ผมจับได้ในวันนั้นจากเขาคือ ‘ขอบคุณที่เป็นห่วงเป็นใยผม’ เขาเป็นคนที่ใส่ใจคนอื่นมากเกินไป เขาคือคนที่เอาใจคนอื่น เขาคือคนที่พร้อมจะช่วยทุกๆ คนยกเว้นตัวเขาเอง 

 

“นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามบอกว่า ในสังคมของเราไม่มีใครสอนเราเรื่องพวกนี้เลย ทั้งวิธีการขอความช่วยเหลือและการรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น” 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

FYI
  • สำหรับผู้ที่ต้องการคำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิต สามารถโทรติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
  • Inbox Facebook สายด่วน 1323 
  • แชตปรึกษาได้ผ่าน LINE @Khuikun ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน LINE@ ‘คุยกัน’ จากกรมสุขภาพจิต 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising