×

“ใจสลายแต่ก็โล่งใจ” เสียงสะท้อนเหล่านักกีฬา ผู้ต้องรอคอยโอลิมปิกอีก 1 ปี

25.03.2020
  • LOADING...

หลังตกอยู่ใต้สถานการณ์กดดันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุดทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และเจ้าภาพประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ‘โตเกียว 2020’ ออกไปเป็นเวลา 1 ปีอย่างเป็นทางการ จากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 3

 

แน่นอนว่าการเลื่อนมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนการบอกเลื่อนนัดเพื่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้มีอย่างมากมายมหาศาลโดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ต้นทุน’ ของฝ่ายต่างๆ ที่ทุ่มเทตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

หนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเหล่านักกีฬา ผู้ที่กลายเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่แรงที่สุดจนทำให้ความตั้งใจของฝ่ายจัดการแข่งขันที่ยืนกรานมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขันเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงฤดูร้อนปีนี้ต้องสั่นไหว

 

สำหรับแฟนๆ โอลิมปิกของพวกเขาคือมหกรรมกีฬาที่มีระยะเวลาราว 3 สัปดาห์เศษในการติดตาม สะดวกหน่อยคือการตามอยู่ที่บ้าน หรือหากมีทุนรอน การได้เดินทางไปชมสุดยอดมหกรรมกีฬาของโลกก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อชีวิต

 

แต่สำหรับนักกีฬา โอลิมปิกคือชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขา การที่ทุกอย่างถูกเลื่อนไปแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

 

พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

 

หัวใจที่แหลกสลาย ความฝันที่สูญหาย

ระยะเวลา 1 ปีที่ถูกเลื่อนออกไปนั้นหมายถึงการที่นักกีฬาและทีมผู้ฝึกสอนจะต้องทำการจัดโปรแกรมการฝึกฝนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้นักกีฬามีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการแข่งขันในปีหน้า

 

แต่มากกว่าเรื่องของสภาพร่างกาย สภาพจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะสำหรับหลายๆ คนมันคือโอกาสที่เฝ้ารอคอยมาทั้งชีวิต

 

หนึ่งในคนที่ส่งเสียงสะท้อนออกมาดังที่สุดคือ คาธารีนา จอห์นสัน-ธอมป์สัน นักสัตตกรีฑาทีมสหราชอาณาจักร ที่ยอมรับอย่างไปตรงมาว่าเธอ ‘หัวใจสลาย’ แต่ก็ ‘เข้าใจ’

 

“รอคอยมา 8 ปีเพื่อการนี้ จะรออีกสักปีเพื่องานใหญ่จะเป็นอะไรไป 😅📈💪🏽 ในฐานะนักกีฬา นี่คือข่าวที่ทำให้หัวใจสลายที่โอลิมปิกต้องถูกเลื่อนออกไปจนถึง 2021 แต่นั่นก็เป็นการทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้องทุกอย่างและเพื่อความปลอดภัยของทุกคน หวังว่าทุกคนจะปลอดภัย พยายามอยู่ในร่มกันนะ” นักกีฬาสาววัย 27 ปีกล่าว

 

ขณะที่นักฮอกกี้อย่าง ซูซานนาห์ ทาวน์เซนด์ เจ้าของเหรียญทองที่ริโอ 2016 เธอตั้งใจที่จะอำลาวงการหลังจบการแข่งขันที่โตเกียว การเลื่อนการแข่งขันออกไปทำให้เธอไม่ใช่แค่ทำใจลำบาก แต่ยังทำตัวลำบากไปด้วย เพราะร่างกายของเธอเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะไม่ไหวแล้ว

 

“ฉันรู้ว่าร่างกายของฉันแขวนอยู่บนเส้นด้าย” นักฮอกกี้สาววัย 30 ปีกล่าว “ฉันต้องคุยกับโค้ชและหาทางจัดโปรแกรมการซ้อมใหม่เพื่อที่จะได้พักในช่วงเวลาที่เหมาะสม”

 

แต่สำหรับ เจด โจนส์ เจ้าของ 2 เหรียญทองเทควันโด มันหมายถึง 4 ปีที่เธอทุ่มเททั้งร่างกายและจิตวิญญาณลงไปได้หายวับไปกับตา

 

“ฉันเสียใจมาก การที่ทุ่มเททั้งหัวใจและจิตวิญญาณให้กับสิ่งหนึ่งมาตลอด 4 ปี แล้วจากนั้นมันก็ไม่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก” โจนส์กล่าว “แน่นอนว่าสุขภาพคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับฉันคือการปกป้องครอบครัวและคนที่ฉันรัก และพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะช่วยคนอื่นเท่าที่ฉันจะทำได้

 

“แต่ในบทบาทของนักกีฬาระดับ Elite มันเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยากลำบากเหลือเกิน”

 

เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเหล่านักกีฬาที่เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมทุกอย่างมาเพื่อโอลิมปิกในปีนี้จะสามารถรักษาหัวใจที่ร้อนแรงเหมือนเปลวเพลิงที่ถูกจุดขึ้นในหุบเขา

 

ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่านี้ ต่อให้เป็นโอลิมปิกก็ตาม

อย่างไรก็ดี ก็มีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน

 

เพราะสถานการณ์ในเวลานี้จะทำให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเตรียมตัว หรือแม้แต่การรักษาสภาพร่างกายและรักษาสมาธิ พูดง่ายๆ คือมันไม่ใช่เวลาที่พวกเขาจะมาคิดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว

 

ชีวิตมีสิ่งที่สำคัญกว่าและการรักษาชีวิตไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องผิด

 

อดัม พีตี นักวิ่ง 100 เมตร รู้สึก ‘โล่ง’ อย่างมากที่มีการประกาศเลื่อนออกไป “นักกีฬาจำนวนมากสามารถสูดหายใจได้เต็มๆ อีกครั้ง

 

“เรารู้สึกตกอยู่ใต้ความกดดันที่ต้องฝึกซ้อมและลงแข่งขัน การตัดสินใจของ IOC ได้ช่วยปลดเปลื้องความกดดันที่เราไม่ต้องอยู่ในสภาพร่างกายที่พร้อมสำหรับการแข่ง และเราไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงให้แก่คนอื่นโดยไม่จำเป็นด้วย”

 

เจนน์ ซูร์ นักกรีฑาทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งเคยป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงรีโอเดจาเนโรเมื่อ 4 ปีที่แล้วเชื่อว่า นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เพราะไม่มีเรื่องใดที่จะสำคัญไปกว่านี้ ต่อให้เป็นโอลิมปิกก็ตาม

 

“สถานการณ์ปัจจุบันของโลกนั้นยิ่งใหญ่กว่าการแข่งโอลิมปิกมากนัก”

 

คาร์ลี ลอยด์ ดาวเด่นทีมลูกหนังสหรัฐฯ เองก็คิดเช่นกัน “ฉันเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกแล้วเพื่อสุขภาพของผู้ชม เหล่าคนที่ทำงาน ระบบสาธารณสุขและนักกีฬาทั่วโลก”

 

จัซมิน ซอว์เยอร์ส นักกระโดดไกลฝากข้อความบนโซเชียลมีเดียถึงทุกคนว่า “สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คืออยู่บ้านเพื่อปกป้องตัวเองและคนอื่น

 

“โปรดดูแลกันและกัน แล้วกีฬาจะกลับมาเมื่อทุกอย่างจบลง เมื่อถึงวันนั้นเราพร้อมที่จะมอบการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้ทุกคนได้ดู”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X