×

เบื้องหลังการตัดสินใจและราคาที่ต้องจ่ายกับการเลื่อน ‘โอลิมปิก’ ครั้งแรกของโลก

26.03.2020
  • LOADING...
เลื่อน โอลิมปิก ครั้งแรกของโลก

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา มีหนึ่งคำถามที่ผมไม่สามารถตอบใครก็ตามที่ถามได้ครับว่า “ตกลงแล้วโอลิมปิกจะเลื่อนไหม”

 

ยิ่งวันผันเวลาผ่าน ความหวังที่มีก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป สวนทางกับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและไม่มีท่าทีที่จะอ่อนกำลังลง

 

หนึ่งในคำตอบแบบปลอบใจที่ผมเคยให้กับน้องทีมงาน THE STANDARD คือ “ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังขึ้นทางตะวันออก เรายังคงมีความหวัง”

 

ผมรู้ว่ามันเป็นคำตอบแบบปลอบใจ และผมก็รู้ว่าใครก็ตามที่อยู่ร่วมบทสนทนานั้นก็รู้ว่ามันคือการปลอบใจ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วผมรู้ว่าพวกเขา ‘เชื่อ’ เช่นนั้นจริงครับ

 

ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะดูเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ สายเลือดซามูไรอย่างพวกเขาไม่มีวันที่จะยอมแพ้ง่ายๆ

 

ดังนั้นแม้ว่าการแข่งขันกีฬาทั่วโลกจะเริ่มมีการเลื่อน การพักการแข่งขัน ไปจนถึงการยกเลิกมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่มีการตั้งคำถามเรื่องนี้ คำตอบที่เราจะได้กลับมาจากทั้งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หรือฝ่ายจัดการแข่งขันอย่างเจ้าภาพญี่ปุ่นคือ “ทุกอย่างจะดำเนินไปตามเดิม”

 

พวกเขายืนกรานว่าไม่มี ‘แพลน B’ สำหรับเรื่องนี้

 

เลื่อน โอลิมปิก ครั้งแรกของโลก

 

พิธีจุดเปลวเพลิงโอลิมปิกที่แสนงดงามและเปี่ยมด้วยมนต์ขลังยังคงมีขึ้นในยามเช้าที่หุบเขาแห่งทวยเทพโอลิมเปีย และเปลวเพลิงนั้นเดินทางมาถึงญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้วด้วย

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้ากับเบื้องหลังนั้นไม่เหมือนกันครับ

 

ด้านหลังของน้ำเสียงที่มั่นใจของทุกฝ่าย มีการพูดคุยเจรจากันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงทุกที

 

จนกระทั่งในวันที่ 17 มีนาคม วันเดียวกับที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโรออกไป 1 ปี เพื่อผ่าทางตันให้กับวิกฤตในวงการฟุตบอลยุโรปที่กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด มีสัญญาณที่แปลกเกิดขึ้น

 

สัญญาณดังกล่าวคือคำกล่าวของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ได้พูดถึงเรื่องของโอลิมปิกหลังการประชุมผู้นำระดับโลก G7

 

“ผมอยากจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิกให้สมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามนุษยชาติจะเอาชนะไวรัสโคโรนา และผมก็ได้รับการสนับสนุนนั้นจากเหล่าผู้นำ G7”

 

ถ้อยคำนั้นหากฟังผิวเผินก็จะรู้สึกว่าผู้นำญี่ปุ่นยังมั่นใจว่าทุกอย่างจะดำเนินไปตามเดิม

 

แต่หากสังเกตให้ดีในถ้อยคำนั้นไม่มีการระบุว่าการแข่งขันจะเกิดขึ้นเมื่อใด และนั่นเป็นครั้งแรกที่มีการส่งสัญญาณอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกว่าโอลิมปิกและพาราลิมปิกอาจจะไม่เกิดขึ้นในฤดูร้อนปีนี้

 

ความจริงเรื่องนี้หากคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่นมาประมาณหนึ่งจะพอเข้าใจครับว่า พวกเขามีนิสัยที่ไม่ชอบพูดหรือแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา พวกเขามักจะบอกอะไรอ้อมๆ เช่นนี้เสมอ ไม่ว่าจะเพื่อเป็นการรักษามารยาทหรือเป็นการรักษาเกียรติของตัวเองก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี การออกมาส่งสัญญาณครั้งนั้นของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้แล้วว่าการเลื่อนการแข่งขันดูเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

 

เพียงแต่คำถามคือ แล้วจะเลื่อนไปเมื่อไร? แล้วการเลื่อนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ความยากของเรื่องนี้คือแม้จะเริ่มส่งสัญญาณยอมแพ้ แต่ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพ พวกเขาคือฝ่ายที่บ่ายเบี่ยงที่จะยอมให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ยังมีความพยายามที่จะ ‘ยื้อ’ เรื่องนี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งอีกเหตุผลคือการที่พวกเขาจัดการกับการระบาดภายในประเทศได้ค่อนข้างดีมาก (ตามประสาประเทศที่ผู้คนมีระเบียบวินัยสูง) 

 

ดังนั้นแม้สิทธิ์ขาดในการเลื่อนการแข่งขันจะอยู่ในมือของ IOC ซึ่งมีความพยายามอย่างมากในการที่จะเลื่อนการแข่งขันอย่างเงียบๆ มานาน แต่หากญี่ปุ่นไม่เอาด้วย พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้

 

เรื่องกลัวเสียหน้าของเจ้าภาพก็เรื่องหนึ่ง ขณะที่กรอบระยะเวลาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าปวดหัว

 

ญี่ปุ่นยังเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาได้ในปีนี้ และหากจะจัดในช่วงเดือนตุลาคมก็ยังพอรับได้ แต่ทางด้าน โธมัส บาค ประธาน IOC ไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ทันเวลาจริงหรือไม่

 

ปัญหาอีกเรื่องคือ การที่แม้สถานการณ์จะเริ่มลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเหล่านักกีฬาจำนวนมากที่เรียกร้องให้เลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้พวกเขาไม่สามารถจะทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ ไม่นับเรื่องของความเสี่ยงที่อาจจะติดโรคสู่คนที่พวกเขารัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าจะแลกด้วย แต่ทางญี่ปุ่นยังขอเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้อีก 4 สัปดาห์

 

มันเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปในความรู้สึกของทุกฝ่าย และจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากนักกีฬาต้องเสี่ยงฝึกซ้อมในสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่พร้อม แล้วสุดท้ายก็มีการเลื่อนการแข่งขันออกไปอยู่ดี

 

ตรงนี้เองครับที่ประธาน IOC ซึ่งเดินเกมอยู่เบื้องหลังเพื่อกดดันให้การตัดสินใจเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดต้องตัดสินใจเช่นกัน

 

บาครู้ว่าเขาต้องทิ้งไพ่ และไพ่ใบนั้นต้องเด็ดพอที่จะพลิกเกมได้ ซึ่งโชคดีที่เขามีไพ่ใบนั้นอยู่พอดี

 

ไพ่ใบนั้นคือ จอห์น โคอาเตส ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกออสเตรเลีย ผู้ที่นอกจากจะเป็นเพื่อนสนิทของเขาแล้ว ยังเป็นประธานฝ่ายประสานงานสำหรับการแข่งขัน ‘โตเกียว 2020’ ด้วย

 

สิ่งที่โคอาเตสทำคือการประกาศว่า ออสเตรเลียจะเป็นหนึ่งในชาติที่ไม่เข้าร่วมหากจะดันทุรังจัดการแข่งขันขึ้นในปีนี้จริงๆ โดยนอกจากนี้ยังมีทัพนักกีฬาของแคนาดาและสหราชอาณาจักรที่พร้อมบอยคอตการแข่งขันเช่นกัน

 

และเชื่อว่าจะมีอีกหลายชาติที่ตามมา

 

ดังนั้นแม้จะกลัวเสียหน้าแค่ไหนและพยายามจะต่อรองกันทางการเมืองตลอดมาเพื่อรักษาเกียรติของสายเลือดบูชิโด 

 

แต่สุดท้ายฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมรับว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะจัดการแข่งขันในปีนี้ได้ 

 

ชินโซ อาเบะ เป็นผู้เปิดประตูที่ไม่ใช่ประตูไปไหนก็ได้ของโดราเอมอน แต่เป็นประตูที่ปลดปล่อยทุกคนจากสถานการณ์ที่แสนอึดอัดนี้ด้วยการเสนอที่จะเลื่อนจัดการแข่งขันในวันอังคารที่ผ่านมา

 

ข้อเสนอจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับการตอบรับแทบจะทันที เพราะนั่นหมายถึงทุกฝ่ายจะหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่มีทางออกนี้ไปก่อน

 

เราทุกคนจึงได้เป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลกกีฬาที่มีการเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่ไม่ได้มีเหตุผลจาก ‘สงครามโลก’

 

แต่เรากำลังต่อสู้กับ ‘สงครามโรค’

 

สิ่งที่ดีคืออย่างน้อยการแข่งขันไม่ได้ถูกยกเลิก ข้อตกลงทางธุรกิจมากมายมหาศาลนั้นจึงยังไม่ได้ดับสูญไปเหมือนการดีดนิ้วของธานอส

 

IOC ยังพอมีหนทางเจรจากับสปอนเซอร์ต่างๆ รวมถึงเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั่วโลก (ของไทยคือบริษัท Plan B ที่มีการเตรียมงานทุกอย่างเอาไว้อย่างดีทีเดียว) 

 

ญี่ปุ่นเองไม่ได้เสียหน้าอะไรมากนัก ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด และการเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อนก็น่าจะเป็นทางเลือกเดียวและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว

 

มันอาจจะมีระยะเวลา ‘ทำใจ’ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นช้าจนสายเกินไป

 

แต่แน่นอนครับว่าการเลื่อนการแข่งขันของมหกรรมกีฬาในระดับนี้ย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างอะไรจากพลังคลื่นเต่าของเจ้าโกคู

 

ประเด็นเรื่องสปอนเซอร์และค่าลิขสิทธิ์ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นครับเป็นฝ่าย IOC ที่ต้องจัดการ

 

ขณะที่ญี่ปุ่นมีเรื่องของค่าเตรียมงานมากมายมหาศาลประเมินแล้วกว่า 1.35 ล้านล้านเยน (อนุญาตให้ตกใจได้!) เรียกว่าพวกเขาลงทุนกับงานนี้แบบทุ่มหมดหน้าตัก และคาดหวังกับโอลิมปิกในปีนี้มากว่าจะเป็นตัวความหวังในการจุดประกายเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาดีอีกครั้ง

 

การเลื่อนการแข่งขันออกไปหมายถึงความหวังที่ดับวูบลง

 

สำหรับผู้ประกอบการบางรายพวกเขาอาจจะเหลือความหวังน้อยไปจนถึงขั้นอาจไม่เหลือความหวังเลยหากไม่มีโอลิมปิกในปีนี้

 

สิ่งที่เป็นปัญหาที่จับต้องได้คือค่าใช้จ่ายในการดูแลอุปกรณ์และสนามแข่งขัน, ห้องพักสำหรับนักกีฬาและสื่อมวลชนที่คาดว่าจะมีการยกเลิกการจองโรงแรมจำนวนคิดรวมกว่า 1,000,000 คืน (Nights)

 

ยังมีงบประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขันครั้งใหม่ที่ต้องทุ่มมหาศาลเพื่อดึงดูดให้ผู้คนกลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งในปีหน้า

 

ตัวเลขค่าความเสียหายที่ประเมินกันคร่าวๆ คือราว 8.2 หมื่นล้านบาทครับ

 

ไม่นับสิ่งที่จับต้องไม่ได้และมีความสำคัญมากที่สุดอย่างเรื่อง ‘ความเชื่อมั่น’ ซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้

 

หลายคนกลัวเกรงว่าจะไม่มีแสงทองส่องขึ้นฟากของประเทศที่ได้ชื่อว่า ‘อาทิตย์อุทัย’ แห่งนี้อีก

 

อย่างไรก็ดี แม้ทุกอย่างจะดูมืดมนอนธการ ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้ จนเหมือนเปลวเพลิงแห่งความหวังของญี่ปุ่นได้ดับลงเหลือเพียงเถ้าถ่าน แต่ในความรู้สึกของผมแล้วกลับสัมผัสได้ถึงบางสิ่ง

 

เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง และเพราะเชื่อมั่นในสปิริตของโอลิมปิก

 

ผมเชื่อว่าคนทั้งโลกและโลกทั้งใบจะไม่ใจร้ายกับญี่ปุ่นจนเกินไปครับ

 

เรื่องที่เกิดมันคือ Shikata ga nai หรือ ‘มันช่วยอะไรไม่ได้’ ไม่มีใครคิดจะโทษกัน

 

เมื่อราตรีกาลแห่งความเศร้าโศกผ่านพ้นไป พระอาทิตย์จะกลับมาโผล่พ้นขอบฟ้าเป็นสัญญาณการเริ่มต้นวันใหม่อีกครั้ง

 

โอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปีหน้าจะเป็นงานฉลองให้แก่มวลมนุษยชาติทุกคน มันจะเป็นงานที่งดงามยิ่งกว่าและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอนครับ 🙂

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • แม้จะต้องเลื่อนไปแข่งในปีหน้า แต่ชื่ออย่างเป็นทางการของการแข่งขันจะยังเป็น โตเกียว 2020 เหมือนเดิม
  • โชคดีสำหรับญี่ปุ่นที่อพาร์ตเมนต์ 5,500 แห่งที่สร้างขึ้นสำหรับโอลิมปิกและมีการขายให้ผู้ที่สนใจไปหมดแล้ว มีกำหนดการส่งมอบในปี 2023 ทำให้การเลื่อนแข่งไปปีหน้ายังไม่กระทบมากนัก
  • ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคืออาสาสมัครจำนวน 80,000 คน ไม่มีใครการันตีได้ว่าปีหน้าพวกเขาจะพร้อมสำหรับช่วยงานอีกไหม
  • IOC จัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า ‘Here We Go’ ที่จะเริ่มต้นแผนงานทุกอย่างใหม่ โดยเฉพาะคำถามแรก จะกลับมาจัดโอลิมปิกเมื่อไร? ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันพฤหัสบดีนี้
  • ช่วงฤดูร้อนยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะรายการสำคัญอย่างกรีฑาชิงแชมป์โลกหรือว่ายน้ำชิงแชมป์โลกก็พร้อมเลื่อนไปปี 2022 แต่จะมีการพิจารณาจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่อาจจะทำให้การแข่งปีหน้าได้ถูกจดจำในชื่อ ‘ซากุระ เกมส์’
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising