×

คู่มือเตรียมความพร้อมก่อนดูโอลิมปิก 2020

22.07.2021
  • LOADING...
โอลิมปิก 2020

ก่อนที่พิธีเปิดมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก 2020 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเย็นวันนี้ เวลา 18.00-21.00 น. (ตามเวลาไทย) เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักโอลิมปิก 2020 ให้มากยิ่งขึ้น กับรายละเอียดและเกร็ดความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จะทำให้คุณสนุกกับการรับชมกีฬาและโชว์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

 

โอลิมปิกปีนี้จัดขึ้นที่ไหน และจะเกิดขึ้นเมื่อไรบ้าง 

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีพิธีเปิดงานในเย็นวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ส่วนพิธีปิดจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม ในเวลาเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 17 วัน ส่วนเหตุผลที่ใช้ชื่อโตเกียวโอลิมปิก 2020 แม้ว่าจะจัดขึ้นในปี 2021 เนื่องจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ถือว่าเลื่อนมาจากปีที่แล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นเองก็ยังคงอยากให้ใช้ชื่อนี้ต่อไป  

 

ปีนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 33 ประเภท จำนวน 339 อีเวนต์ ที่จัดกันทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 42 แห่ง แต่สถานที่จัดงานหลักยังคงอยู่ที่ Greater Tokyo Area ในโตเกียว แต่สำหรับการแข่งขันฟุตบอลบางแมตช์ และการแข่งมาราธอนหรือการวิ่งระยะไกลจะจัดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นอย่างฮอกไกโด เนื่องจากมีความเหมาะสมกว่าในแง่สภาพแวดล้อม เพราะโตเกียว ณ เวลานี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่อากาศทั้งร้อนและอบอ้าว 

 

ส่วนการแข่งกันพาราลิมปิกหรือกีฬาคนพิการที่มักเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 มีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 22 ประเภท 539 อีเวนต์ กระจายจัด 21 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

 

ภาพ: Shutterstock 

 


 

 

ปีนี้ยังคงมีพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ให้เห็นเช่นเคย 

แน่นอนว่าภาพการจุดคบเพลิงโอลิมปิก อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านานยังคงได้รับการสานต่อ แต่ ณ เวลานี้ทุกอย่างยังถูกเก็บไว้เป็นความลับ ซึ่งหลายคนก็อดไม่ได้ที่จะคาดเดาและคาดหวังกันว่า ในเมื่อเจ้าภาพปีนี้เป็นประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นป๊อปคัลเจอร์ของประเทศญี่ปุ่นที่คุ้นตา เช่น มังงะ แอนิเมชัน เกมกด ศิลปะ อาหาร ฯลฯ ในโชว์เปิดโอลิมปิก อีกทั้งครั้งหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นอย่าง ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ยังเคยใส่หมวกมาริโอขึ้นไปรับช่วงต่อในพิธีปิดโอลิมปิก ปี 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร มาแล้ว เมื่อถึงคราวต้องเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ ป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ เหล่านี้จะหายไปได้อย่างไร 

 

ภาพ: Courtesy of Olympic 

 


 

 

มาสคอตประจำปีนี้ ได้แก่… 

ขอแนะนำให้คุณรู้จักกับ Miraitowa (มิไรโทวะ) มาสคอตโอลิมปิกตัวที่ 26 ของโลก คนดังที่คุณจะได้เห็นหน้าค่าตาบ่อยที่สุดในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของประชาชนที่ส่งผลงานกันเข้ามา ก่อนให้นักเรียนประถมกว่า 16,700 แห่ง ร่วมกันโหวตผลงานที่ชื่นชอบมากที่สุด  

 

ในส่วนของแรงบันดาลใจในการออกแบบ มิไรโทวะ เป็นการหยิบเอาวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างสิ่งดั้งเดิมที่น่ายกย่อง เข้ากับนวัตกรรมทันสมัย เลือกใช้สีน้ำเงินอินดิโกและลายตารางญี่ปุ่น (Ichimatsu) มาสร้างความน่าจดจำ ส่วนคาแรกเตอร์ของมิไรโทวะนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสุภาษิตของญี่ปุ่นที่ว่า ‘จงเรียนรู้จากอดีต เพื่อต่อยอดเป็นความคิดใหม่ๆ’ เจ้ามิไรโทวะจึงมีอุปนิสัยร่าเริงและแข็งแรงเหมือนนักกีฬา มีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม แถมยังมีพลังวิเศษที่สามารถเทเลพอร์ต (Teleport) หรือ ‘วาร์ป’ ไปไหนต่อไหนได้ในพริบตา 

 

ภาพ: Alessandro Di Ciommo / NurPhoto via Getty Images

 


 

 

นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดกี่คน 

การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นมหกรรมกีฬาที่มีการชิงเหรียญรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะสูงถึง 399 อีเวนต์ สำหรับกองทัพนักกีฬาไทย ปีนี้ผ่านเข้าร่วมทั้งหมด 42 คน (บางโควตาเป็นประเภทคู่หรือทีม) จากกีฬา 14 ชนิด 

 

ส่วนทัพนักกีฬาไทยที่น่าจับตามอง ได้แก่ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดหญิง รุ่น 49 กิโลกรัม, ทีมแบดมินตันไทย เมย์-รัชนก อินทนนท์, ครีม-บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์​ ประเภทหญิงเดี่ยว, จงกลพรรณ กิติธรากุล และ รวินดา ประจงใจ ประเภทหญิงคู่, เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ประเภทคู่ผสม, กันตภณ หวังเจริญ ประเภทชายเดี่ยว, ปภังกร ธวัชธนกิจ, เอรียา จุฑานุกาล สองโปรกอล์ฟสาวระดับโลกของไทย และ คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งไทย-อเมริกัน ที่จะลงแข่งในการวิ่ง 10,000 เมตร

 

 


 

 

เตรียมพบ 6 กีฬาใหม่ ดึงดูดแฟนนักกีฬารุ่นเยาว์ 

กีฬาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในครั้งนี้เน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่และแฟนกีฬารุ่นเยาว์ เพราะล้วนเป็นกีฬาที่พวกเขาชื่นชอบ ให้ความสนใจ และเข้าถึงได้ มีทั้งหมด 6 ชนิด ดังนี้ 

 

  1. สเกตบอร์ด แบ่งเป็นแบบพาร์กซึ่งเป็นการแข่งในโบวล์และอุปกรณ์ต่างๆ และสตรีทที่แข่งในสนามที่จำลองท้องถนนจริง เพราะมีทั้งบันได ราวเหล็ก และสิ่งกีดขวางต่างๆ  

 

  1. เซิร์ฟ จัดที่ชายหาดสึริงาซากิ ในอิชิโนมิยะ แบ่งเป็นประเภทชายและหญิง มีรอบ Preliminary และการแข่งแบบ Head to Head Knockout ซึ่งตารางเวลาแข่งขันในแต่ละวันนั้นยืดหยุ่น เนื่องจากต้องดูสภาพอากาศและคลื่นในวันนั้นๆ ด้วย 

 

  1. ปีนหน้าผา การแข่งปีนหน้าผาจะแข่งกันรอบเดียว มี 3 รูปแแบบ ได้แก่ Speed, Bouldering และ Lead แบ่งเป็นประเภทชายและหญิง 

 

  1. คาราเต้ การแข่งขันศิลปะการต่อสู้นี้แบ่งเป็นประเภทคาตะ หรือแข่งด้วยทักษะและเทคนิคคาราเต้ และคุมิเต้ ที่เป็นการต่อสู้ของนักกีฬาจากแต่ละประเทศ แบ่งเป็น 3 รุ่นน้ำหนักทั้งชายและหญิง

 

  1. เบสบอล กลับมาบรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญอีกครั้ง ก่อนถูกตัดออกจากโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 ประเทศเข้าร่วมที่น่าจับตามองในปีนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา 

 

  1. ซอฟต์บอล กลับมาอีกครั้งกับการแข่งขันซอฟต์บอล โดยปีนี้สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อิตาลี, เม็กซิโก และแคนาดา จะลงแข่งขันเพื่อช่วงชิงเหรียญทอง 

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม ‘รู้จัก 6 ชนิดกีฬาใหม่ที่จะแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก 2020’

 

ภาพ: Shutterstock

 


 

 

โอลิมปิกเกมส์ที่ไม่มีกองเชียร์ในสนาม 

สิ่งที่ต่างไปจากทุกครั้งคือ โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้แทบไม่ให้กองเชียร์เข้าไปนั่งชิดติดขอบสนาม โดยเฉพาะการแข่งขันในกรุงโตเกียวที่ไม่อนุญาติให้คนดูทั้งชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นเข้าไปในสนามแข่งขันโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับ Fukushima Prefecture ที่จัดการแข่งเบสบอลและซอฟต์บอล และ Hokkaido Prefecture สำหรับแข่งมาราธอนและฟุตบอลก็ห้ามเช่นกัน ในขณะที่สนาม Miyagi, Shizuoka, Ibaraki Prefecture จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 

 

ส่วนการถ่ายทอดสดยังคงมีให้รับชมอยู่ ซึ่งทางผู้จัดเองก็ได้เตรียมกิมมิกและลูกเล่นต่างๆ ไว้รองรับการเชียร์กีฬาในรูปแบบออนไลน์ในแบบที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนในการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งต้องลองจับตาดูว่าจะเป็นอย่างไร

 

สำหรับชาวไทยสามารถส่งแรงเชียร์นักกีฬาไทย หรือรับชมการแข่งขันแบบสดๆ จากโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ทาง 6 ช่องฟรีทีวี ได้แก่ Thai PBS, NBT, PPTV, JKN, True4U, GMMTV, T Sports และแอปพลิเคชัน AIS PLAY 

 

ภาพ: Tom Weller / DeFodi Images via Getty Images

 

บทความเกี่ยวข้อง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X