×

‘โซลชาร์’ กับกล่องของขวัญคริสต์มาสแด่ชาวปีศาจแดง

24.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โซลชาร์ไม่ได้ขออะไรจากลูกทีมมากไปกว่าการลงไปเล่นให้สนุกสนาน และ “ลงไปเล่นให้สมกับเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”
  • 11 ผู้เล่นคนแรกที่โซลชาร์ส่งลงสนาม จะพบว่านักเตะเกินครึ่งทีมนั้นเป็นผู้เล่นที่มีปัญหากับมูรินโญมาโดยตลอด นักเตะเหล่านี้ลงสนามด้วยความตั้งใจมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า หรืออาจจะมากกว่านั้น
  • นักเตะยูไนเต็ดยังต้องศึกษาในสิ่งที่โซลชาร์ต้องการให้เล่นอีกมากครับ พวกเขาอาจจะเล่นด้วยความรู้สึกที่สดใหม่ แต่ความละเอียดลออในการเล่นยังเหลือพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อีกมาก
  • ความดีงามอีกอย่างจากการที่วิชาและประสบการณ์การทำงานของโซลชาร์ยังไม่สูงนัก ทำให้เขาไม่มีปัญหาที่จะรับฟังคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าอย่าง ไมค์ ฟีแลน และคนที่อยู่กับทีมชุดปัจจุบันมายาวนานกว่าอย่าง ไมเคิล คาร์ริก รวมถึง คีแรน แมคเคนนา อีกหนึ่งสมาชิกในแบ็กรูม สตาฟฟ์

ต่อให้เชื่ออยู่ลึกๆ แค่ไหนว่าทุกอย่างจะกลับมาดี ผมไม่คิดว่าแม้แต่ตัวของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ จะเชื่อว่าการเริ่มต้นนัดแรกของเขาจะออกมาเหมือนความฝันขนาดนี้

 

 

ชัยชนะในเกมเยือนด้วยสกอร์ขาดลอยถึง 5-1 และรูปเกมที่สวยสด เป็นเรื่องที่เหนือจินตนาการอย่างยิ่งสำหรับชาวเรด อาร์มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ที่พวกเขาต้องเดินทางกลับจากแอนฟิลด์ สนามของคู่ปรับชั่วชีวิตอย่างหมดหวัง

 

หรือบางทีเราอาจจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความจริงที่เหมือนความฝันก็ได้อยู่เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ดี หากมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว สิ่งที่โซลชาร์ปรับและเปลี่ยนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดนั้นไม่ได้มีอะไรมาก

 

เหมือนที่เขาให้สัมภาษณ์ในช่วงหลังจบเกมครับว่า เขาไม่ได้ขออะไรจากลูกทีมมากไปกว่าการลงไปเล่นให้สนุกสนาน

 

อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า “ลงไปเล่นให้สมกับเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” (Be Man United)

 

คำคำนี้เป็นเหมือนการถอนคำสาปที่ โฆเซ มูรินโญ ได้สาปทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทีมหนึ่งของอังกฤษ จนกลายเป็นทีมที่เผชิญโชคชะตาที่แสนเศร้าตลอดชั่วระยะเวลาที่อดีตนายใหญ่ชาวโปรตุกีสปกครองทีมตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2016 เป็นต้นมา

 

โดยเรื่องที่น่าเศร้ากว่าคือไม่ใช่เพียงเฉพาะนักเตะในสนามเท่านั้นที่ถูกสาป แต่เป็นทั้งสโมสรที่ถูกสาป แม้กระทั่งชีวิตของเหล่าสตาฟฟ์อย่างแม่บ้าน แม่ครัว ผู้ดูแลชุดแข่งของทีม ต่างก็ไม่เคยได้สัมผัสไอแดดของความสุขอีกเลย (เรื่องนี้ เวย์น รูนีย์ เป็นคนเปิดเผย)

 

การกลับมาของโซลชาร์จึงเหมือนการมาของผู้วิเศษที่กลับมาปลดปล่อยตัวตนที่ถูกกักขังเอาไว้ข้างในมาแสนนาน

 

เราได้เห็นขุนพลอสูรแดง (ที่มีคนสังเกตว่าวันนั้นยูไนเต็ดสวมกางเกงขาวไม่ใช่กางเกงดำ ทำให้ค่อยดูสมกับเป็นยูไนเต็ดที่พวกเขาคุ้นเคยหน่อย!)​ ลงสนามอย่างมีชีวิตชีวา เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวก พลังของการสร้างสรรค์ และดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เหล่าผู้ถวายหัวใจให้ปีศาจได้เห็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเล่นฟุตบอลอย่างมีความสุขอย่างแท้จริงแบบที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน นับตั้งแต่สิ้นยุคสมัยของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมครูแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดที่วางมือไปเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2012/2013

 

ในรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านั้น หากมองไปยัง 11 ผู้เล่นคนแรกที่โซลชาร์ส่งลงสนาม จะพบว่านักเตะเกินครึ่งทีมนั้นเป็นผู้เล่นที่มีปัญหากับมูรินโญมาโดยตลอด จะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับคน

 

 

พอล ป็อกบา คือโจทก์คนสำคัญ (และยังมีคนเชื่อว่าเขามีส่วนในการทำให้เพื่อนร่วมทีมอีกหลายคนตัดสินใจไม่เล่นเพื่อมูรินโญ) นอกจากนั้นยังมี ลุค ชอว์ อดีตแบ็กซ้ายดาวโรจน์ที่โดนดูถูกดูแคลนเหยียดหยามอย่างชัดเจน (จนใกล้เคียงกับการโดน bully) รวมถึง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ อ็องโตนี มาร์กซิยาล สองเพชรเม็ดงามที่ถูกเอาผงถ่านกลบแล้วเอาไปเก็บไว้ในลิ้นชักที่ลึกที่สุด จนผู้คนลืมประกายที่แวววาวของพวกเขาไป

 

นักเตะเหล่านี้ลงสนามด้วยความตั้งใจมากกว่าเดิมเป็นสองเท่าหรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะไม่เพียงแค่อยากจะพิสูจน์ตัวเองต่อเจ้านายใหม่และแฟนบอล พวกเขายังต้องการจะพิสูจน์ให้มูรินโญได้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำนั้นผิด

 

นักฟุตบอลเหล่านี้ล้วนเป็นนักเตะชั้นดีอยู่แล้ว ขอเพียงใช้งานให้ถูกต้องตามคู่มือ ทุกอย่างก็พร้อมจะออกมาอย่างสวยงาม

 

ดังนั้นแค่ 3 นาทีแรก มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่มูรินโญไม่เคยเชื่อใจอย่างเต็มร้อยก็ทำประตูแรกจากลูกฟรีคิกระยะไกล ซึ่งเป็นการยิงที่หมดจดและเหนือชั้น โดยเทคนิคการยิงที่แรชฟอร์ดใช้นั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้

 

ขณะที่มาร์กซิยาลทำประตูที่สามารถส่งเข้าประกวดประตูแห่งฤดูกาล หรือลุ้นรางวัล ‘ปุสกัส อวอร์ด’ ได้เลย เพราะเป็นประตูที่เขาเป็นคนเริ่มต้นจังหวะการเล่นเอง ผ่านการประสานงานกับเพื่อนร่วมทีมที่แม่นยำและเต็มไปด้วยความเข้าใจ ก่อนที่สุดท้ายแล้วเขาจะเป็นผู้ปิดฉากประตูด้วยการยิงที่เฉียบขาด

 

ยังมีอีก 3 ประตูที่เกิดขึ้นจาก อันเดร์ เอร์เรรา และ เจสซี ลินการ์ด ผู้เหมาทำ 2 ประตูสุดท้ายของเกม

 

บทสรุปของเกมที่คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ สเตเดียม จึงจบลงด้วยชัยชนะมโหฬารที่สุด และน่าเหลือเชื่อที่สุด เพราะครั้งสุดท้ายที่ ‘ปีศาจแดง’ ทำได้ถึง 5 ประตูในเกมเดียว คือเกมนัดสุดท้ายในชีวิตการคุมทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสมอกับเวสต์บรอมวิช อัลเบียน 5-5

 

นั่นหมายถึงโซลชาร์ได้ทำในสิ่งที่มูรินโญ รวมถึง 2 ผู้จัดการทีมคนก่อนหน้าอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล และ เดวิด มอยส์ ไม่เคยทำได้ตั้งแต่เกมแรก

 

มันยังเป็นชัยชนะที่ทำให้โลกได้ยินเสียงกู่ร้องก้องปฐพีของเหล่าอสูรจากโลกปีศาจที่เก็บตัวเงียบมานาน

 

แน่นอนครับว่ามันเป็นเพียงแค่ชัยชนะเกมเดียว และในทางปฏิบัติแล้วคุณค่าของมันเท่ากับ 3 คะแนนเท่านั้น

 

เครื่องหมายคำถามที่มีต่อตัวของโซลชาร์อาจจะเล็กลงจากเดิมบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเชื่อสนิทใจว่าเขาจะเป็นคนที่มาโปรดปีศาจจริง

 

ยังมีสิ่งที่กุนซือคนหนุ่มวัย 45 ปีต้องทำอีกมากครับ ระหว่างนี้ไปจนจบสัญญาเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล

 

 

ในเชิงของแท็กติกการเล่น ใต้ระบบ 4-3-3 ที่เขาวางไว้ถือว่าเป็นแท็กติกการเล่นที่เหมาะสมกับผู้เล่นที่มีอยู่ในเวลานี้ แต่ไม่ได้แปลว่านักเตะที่เขาส่งลงสนามจะเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบและไร้ที่ติทันที ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโค้ชผู้วิเศษมาจากไหน

 

นักเตะยูไนเต็ดยังต้องศึกษาในสิ่งที่โซลชาร์ต้องการให้เล่นอีกมากครับ พวกเขาอาจจะเล่นด้วยความรู้สึกที่สดใหม่ แต่ความละเอียดลออในการเล่นยังเหลือพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อีกมาก

 

เช่นเดียวกับสิ่งสำคัญที่สุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่หายไปหลายปี คือเรื่องของจิตวิญญาณของผู้ชนะ หรือ winning mentality ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่ใช่โค้ชทุกคนจะสอนได้ และแม้แต่ตัวของโซลชาร์เองก็ยังมีคำถามว่า เขาได้รับสิ่งเหล่านี้มาจากเฟอร์กีบ้างหรือไม่

 

แต่อย่างน้อยในการซ้อม 2 มื้อหลังเข้ารับตำแหน่งของโซลชาร์ในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เขาได้เริ่มถ่ายทอดวิชาเก่าๆ มาให้แก่ลูกทีมบ้าง เช่น การถ่างพื้นที่ของสนามให้กว้างขึ้นด้วยการเคลื่อนที่ของผู้เล่นในแดนกลาง แม้ว่าในเวลานี้ยูไนเต็ดจะไม่ได้มีปีกที่เก่งกาจประจำการริมเส้นทั้งสองข้างเหมือนในยุคของเขาก็ตาม

 

ขั้นต่ำที่สุดของการถ่างพื้นที่สนามนั้นทำให้ผู้เล่นที่มีทักษะสูงมีพื้นที่และเวลาในการแสดงความสามารถให้เห็น และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ป็อกบาเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดคนหนึ่งในสนามวันนั้น

 

สำหรับโซลชาร์ ความดีงามอีกอย่างจากการที่วิชาและประสบการณ์การทำงานยังไม่สูงนัก ทำให้เขาไม่มีปัญหาที่จะรับฟังคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าอย่าง ไมค์ ฟีแลน และคนที่อยู่กับทีมชุดปัจจุบันมายาวนานกว่าอย่าง ไมเคิล คาร์ริก รวมถึง คีแรน แมคเคนนา อีกหนึ่งสมาชิกในทีมแบ็กรูม สตาฟฟ์ ที่หากไม่พูดคุยกับผู้เล่นก็ให้คำแนะนำกับสตาฟฟ์คนอื่นตลอดเวลา

 

สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับผู้จัดการทีมที่มีวิชาแก่กล้าพอตัวแล้ว โดยเฉพาะกับคนที่มีอีโก้สูงอย่างมูรินโญ ผู้ที่เชื่อมั่นในวิธีการของเขา ซึ่งใช้ได้ผลตลอดกับการนำทุกสโมสรคว้าแชมป์ลีกได้เสมอ

 

ในอีกด้านหนึ่งของความรู้สึก จึงเหมือนการที่เราได้เห็นการ ‘รวมพลัง’ กันของทุกฝ่าย (ไม่เว้นแม้แต่ เวย์น รูนีย์ ที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับโซลชาร์ หรือแม้แต่ ปีเตอร์ ชไมเคิล ที่อยากจะกลับมาเป็นผู้อำนวยการสโมสร) เพื่อให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกลับมาเป็นปีศาจตนเดิมที่น่าเกรงขามอีกครั้ง ไม่ว่าหนทางนั้นจะยากเย็นขนาดไหนก็ตาม

 

เปรียบดั่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แสนอบอุ่นหลังราตรีแสนเหน็บหนาวที่พวกเขาเผชิญกันมาอย่างยาวนาน

 

หรือบางทีนี่คือความมหัศจรรย์ของคริสต์มาส กับกล่องของขวัญที่ซานตาคลอสจากนอร์เวย์นำมามอบให้ไว้ในถุงเท้าข้างเตียงนอน

 

ของขวัญที่ทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้กลับมา United อีกครั้ง

 

เมอร์รีคริสต์มาสนะชาวปีศาจแดง 🙂

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ครั้งหนึ่งทีมชาตินอร์เวย์เคยเสนอให้โซลชาร์คุมทีมชาติด้วย แต่ปฏิเสธไป เพราะไม่คิดว่าจะเหมาะสม
  • ถึงการมาในสัญญา ‘ผู้จัดการทีมแบบยืมตัว’ จะฟังดูประหลาดสำหรับกรณีของโซลชาร์ แต่ความจริงแล้วก่อนหน้านี้เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาแล้ว โดยเมื่อพฤศจิกายน 2010 โซลชาร์บรรลุข้อตกลงในการคุมทีมโมลด์ แต่ยังติดสัญญาในการเป็นผู้จัดการทีมสำรองให้ยูไนเต็ดไปจนถึงมกราคม 2011 จึงทำงานใต้สัญญา 2 สโมสร ก่อนจะย้ายไปคุมทีมโมลด์เต็มๆ เมื่อลีกนอร์เวย์เปิดฉากในช่วงมีนาคม 2011
  • สิ่งที่ทำให้เกิดข้อตกลงที่เหลือเชื่อนี้ได้เป็นเพราะสายสัมพันธ์อันดีระหว่าง โมลด์และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ครั้งที่โซลชาร์ย้ายมาร่วมถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด เมื่อปี 1996 โดยโมลด์และชาวนอร์เวย์ภูมิใจที่โซลชาร์ได้มีโอกาสในสโมสรที่ยิ่งใหญ่
  • ในเส้นทางอาชีพผู้จัดการทีม โซลชาร์เริ่มได้ดีกับโมลด์ เมื่อพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 2 สมัย แต่เมื่อได้โอกาสมาคุมทีมพรีเมียร์ลีกอย่างคาร์ดิฟฟ์ เขากลับล้มเหลวไม่สามารถพาทีมหนีพ้นการตกชั้นได้ ส่วนหนึ่งเพราะการทำงานภายใต้เจ้าของสโมสร วินเซนต์ ตัน เป็นเรื่องที่ยากอย่างเหลือเชื่อ
  • สไตล์การทำทีมของโซลชาร์กับโมลด์เป็นสไตล์ที่มีการกล่าวว่าเหมือนสไตล์ของลิเวอร์พูลในยุคของ เจอร์เกน คลอปป์
  • โซลชาร์เป็นศิษย์เฟอร์กีคนที่ 2 ที่ได้ทำทีมปีศาจแดง โดยคนแรกคือ ไรอัน กิกส์ ที่รับช่วงแทน เดวิด มอยส์ ที่ถูกปลดจากตำแหน่งในช่วงปลายฤดูกาล 2013/2014 แต่ก็เป็นการรับบทบาทในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising