Old Doc วงดนตรีเพื่อน-พี่-น้อง กลุ่มแพทย์หลายแขนง ที่รวมตัวกันเล่นดนตรีตั้งแต่เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 1992 เป็นเวลานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันแม้จะต้องทำงานอย่างหนักจากโรงพยาบาล ทั้งรักษาผู้ป่วยและทำงานบริหารในโรงพยาบาล แต่ก็ยังรวมตัวกันซ้อมดนตรีที่บ้านย่านพหลโยธินในช่วงกลางดึกหลังเลิกงานสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งเป็นภาพที่เหมือนในฉากหนึ่งของในซีรีส์ยอดนิยมของเกาหลีอย่าง Hospital Playlist
THE STANDARD ชวนผู้อ่านผู้ติดตามไปทำความรู้จักแก๊งเพื่อน-พี่-น้องคุณหมอ วง Old Doc ที่รวมหมอหลายแผนกมาอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งสูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ สร้างความสุขผ่านเสียงเพลง และลงทุนทำห้องซ้อมกว่า 3 แสนบาท
ภาพ: การประกวดดนตรีเวที Coke Music Awards Thailand ในปี 1992
1992: เพื่อน-พี่-น้อง Old Doc
Old Doc เป็นกลุ่มเพื่อนที่เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 1992 (พ.ศ. 2535) เป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว มีสมาชิกทั้งหมด 10 คน คือ
- นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง (หมอกิต) สูตินรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ตำแหน่งร้องนำ
- นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ (หมออู๋) ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี ตำแหน่งกีตาร์
- นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี (หมอเขต) อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตำแหน่งกลอง
- นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช (หมอต้น) สูตินรีแพทย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก Beyond IVF โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลสมิติเวช ตำแหน่งกีตาร์
- นพ.กิติพจน์ งามละเมียด (หมอหนุ่ม) ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ตำแหน่งเบส
- นพ.ธนกฤต จินตวร (หมอมะเดื่อ) กุมารแพทย์ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตำแหน่งร้องนำ
- บัวบูชา ปุณณนันท์ ผู้ประกาศข่าวจากช่อง 7HD นักร้องสาวหนึ่งเดียวที่ไม่ได้เป็นหมอ
- นพ.โชติพัฒน์ ด่านชัยวิจิตร (หมอโจ้) อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ตำแหน่งคีย์บอร์ด
- กฤตธรรม ง่วนสำอางค์ ประธานบริษัท Saint Med ตำแหน่งคีย์บอร์ด
- ศรัณย์ แย้มคง (โหน่ง) ตำแหน่งคีย์บอร์ด
นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ หรือหมออู๋ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี มือกีตาร์แห่ง Old Doc เปิดห้องซ้อมที่ตั้งอยู่ภายในบ้านย่านพหลโยธิน สถานที่ซ้อมดนตรีของวง ต้อนรับทีม THE STANDARD พร้อมเล่าจุดเริ่มต้นของการรวมตัวทำวงดนตรีว่า เป็นเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในตอนแรกชื่อวงว่า Stethoscope (สเต็ทโตสโคป) เป็นชื่อหูฟังทางการแพทย์
เริ่มเล่นดนตรีโดยที่จะรวมวงเพื่อประกวดตามเวทีต่างๆ โดยผ่านการแข่งขันมาหลายเวที แต่เวทีที่ได้ตำแหน่งที่ดีที่สุดคือ เวที Coke Music Awards Thailand ปี 1992 มีวง Moderndog (โมเดิร์นด็อก) ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 Smile Buffalo (สไมล์ บัฟฟาโล่) ได้อันดับที่ 2 และวงของเราได้ที่ 3 จากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อวงอีกครั้งว่า Success (ซัคเซส) เมื่อเรียนจบทุกคนต่างแยกย้ายกันไปทำงาน หายหน้าไปนานหลายปี
ภาพ: นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี มือกีตาร์แห่ง Old Doc
นพ.ธเนศเล่าอีกว่า วันหนึ่งได้นั่งดูโทรทัศน์ เห็นประกาศรับสมัครการประกวดดนตรี M-150 ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการประกวดดนตรีที่ไม่จำกัดอายุ เราก็กลับไปรวมตัวกันอีกครั้ง ในตอนนั้นทุกคนเรียนจบแพทย์เฉพาะทาง และอายุก็เริ่มเยอะแล้ว มีการลงความเห็นว่าชื่อวงเก่าอาจดูไม่ค่อยเข้ากับอายุที่มากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวง Old Doc: Old แปลว่า แก่ และ Doc แปลว่า หมอ รวมกันเป็น ‘หมอแก่’
‘หมอและดนตรี’ ชอบอะไรก่อนกัน
นพ.ธเนศกล่าวว่า เล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว เราเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ก่อนเราเรียนแพทย์ด้วยซ้ำ แต่ว่าเราตั้งใจเรียนเพื่อเป็นความหวังของหมู่บ้านด้วย ทุกคนในวงก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราจะมาเรียนแพทย์แล้วไปหัดเล่นดนตรี
“ในวงมีหมออายุรกรรม อายุรกรรมสมอง สูตินรีแพทย์ หมอกระดูก กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ จริงๆ มีเกือบครบทั้งโรงพยาบาลเลย สามารถเปิดโรงพยาบาลได้เผื่อเล่นดนตรีไม่รุ่ง”
นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี หรือหมอเขต อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มือกลองประจำวง Old Doc เล่าถึงความชอบในดนตรีของทุกคนในวงว่า ทุกคนในวงเล่นดนตรีกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนเล่นดนตรีมาตั้งแต่เรียนประถม เรียนมัธยม บางทีก็เล่นดนตรีโฟล์กซอง เล่นเปียโน
“หมอหนุ่ม (นพ.กิติพจน์ งามละเมียด) ชอบพูดว่าพวกเราไม่ใช่หมอที่มาเล่นดนตรี แต่จริงๆ แล้วเป็นนักดนตรีที่มาเรียนหมอ อาจไม่ใช่มืออาชีพที่ซ้อมกันตลอด แต่ทุกคนมีใจที่รัก พอมาเจอกันมันก็เลยเข้ากันด้วยนิสัย ด้วยความเฮฮา แต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนหมอในนิยาย ในละคร พอมาเจอกันมันก็เลยคลิกกัน ก็เลยเล่นต่อกันเรื่อยๆ”
ขณะที่ นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง หรือหมอกิต สูตินรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล นักร้องนำของวง เล่าความชื่นชอบในเสียงดนตรีของตนเองว่า ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ โดยได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อและคุณแม่ที่รักดนตรีเช่นกัน ตอนเด็กมักเห็นภาพคุณพ่อเป่าหีบเพลง คุณแม่ก็ร้องเพลง ตัวเองก็ชอบและซึมซับมา
“ตอนเรียนประถมออกไปร้องเพลงหน้าห้อง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชอบเรียนหมอหรือเปล่า” นพ.สมนิมิตรกล่าว
การเล่นดนตรีกับการเป็นหมอต่างกันอย่างไร
แม้บทบาทการเป็นแพทย์นั้นจะมีภาระงานที่หนักในทุกวัน แต่ นพ.สมนิมิตร นักร้องนำของวงกลับมองว่า การเป็นหมอคอยรักษาผู้ป่วยกับการเล่นดนตรีนั้นแทบไม่แตกต่างกัน เช่น เมื่อได้รับมอบหมายงานมา ผมเป็นนักร้อง ผมจะได้รับการมอบหมายจากวงว่าควรเล่นเพลงนี้ ร้องเพลงนี้ ก็จะเป็นผู้คัดเลือกเพลง เหมือนกับการที่เขามอบหมายมา ซึ่งก็เหมือนกัน อย่างงานที่ผมทำ ได้รับมอบหมายให้ออกตรวจวันนั้นวันนี้ อยู่เวรวันนั้นวันนี้ จึงมองว่าไม่แตกต่างกันในแง่การรับผิดชอบ
ภาพ: นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง สูตินรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล นักร้องนำ Old Doc
“ในแง่ความรับผิดชอบไม่มีต่างกัน แต่แตกต่างกันที่จะใช้วิชาการ หรือจะใช้ความสุนทรี” นพ.สมนิมิตรกล่าว
ลงทุนเนรมิตห้องซ้อมใหม่ 3 แสนบาท
นพ.ธเนศเล่าถึงการลงทุนทำห้องซ้อมดนตรีภายในบ้านว่า เนื่องจากการทำงานแพทย์ที่มีงานหนักมาก หลายคนเวลาเลิกงานไม่ตรงกัน สมัยก่อนเวลานัดซ้อมก็เสียเงินซ้อมในห้องเช่า กว่าจะเริ่มซ้อมจริงๆ ก็ค่อนข้างดึก บางครั้งซ้อมถึงเที่ยงคืน บางครั้งถึงตีสี่ หลังๆ จึงเริ่มดูห้องซ้อมที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
ภาพ: ห้องซ้อมเก่าที่ฝ้าเพดานพังลงมา
“การทำห้องซ้อมนั้นไม่ได้ยาก แค่เอาของมากองๆ กันไว้ก็เล่นได้ เราก็เลยเริ่มทำตอนนั้น เริ่มจากห้องกินข้าวแล้วเอาเครื่องดนตรีมากองๆ กว่าจะมาเป็นสภาพที่เห็นอย่างวันนี้ วันหนึ่งฝนตกแรง ปลวกกินที่บ้าน ทำให้ฝ้าเพดานพังลงมา เราเลยคิดว่าต้องสร้างห้องใหม่ ไหนๆ มีโอกาสทำแล้วเราก็ทำห้องซ้อมให้มันใช้งานได้ดีๆ กันไปด้วย ทำเฉพาะกำแพง ไม่รวมของอื่นๆ หมดไปประมาณ 3 แสนบาท กำแพงนี้ประมาณ 2 ปีกว่า จากที่ลงทุนไปก็ถือว่าคุ้ม ทำให้เราไม่ต้องไปเช่าห้องที่อื่น”
ด้วยใจที่รักดนตรี การหาเวลาซ้อมจึงไม่ใช่เรื่องยาก
วง Old Doc เป็นการรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายประเภท แต่ละประเภทนั้นงานก็รัดตัว การหาเวลาว่างในการซ้อมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเสียทีเดียว นพ.ธเนศจึงอธิบายการหาเวลาและนัดซ้อมดนตรีของวงว่า เริ่มจากการเอาวันที่ทุกคนว่างมา Intersection กัน วันไหนเป็นวันที่ดีที่สุด และวันที่ดีที่สุดคือวันที่ทุกคนมาได้มากที่สุด บางครั้งเราเล่นไม่ครบ บางครั้งขาดมือคีย์บอร์ด บางวันมือกลองไม่มา
ภาพ: นพ.กิติพจน์ งามละเมียด ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ มือเบสวง Old Doc
“ส่วนหนึ่งพอเรามีใจ เราก็ต้องพยายามที่จะหาเวลาไปกับมัน เป็นการจัดระเบียบความสำคัญอีกขั้นหนึ่ง” นพ.กิติพจน์ มือเบสของวงกล่าว
นพ.กิติพจน์อธิบายอีกว่า เมื่อห้องซ้อมอยู่ในบ้าน นพ.ธเนศแล้ว ทำให้สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนตอนที่เราต้องไปซ้อมห้องเสียเงิน กว่าจะเลิกกันค่อนข้างลำบาก เมื่อมีห้องซ้อมอยู่บ้าน ใครเสร็จงานเวลาไหนก็ทยอยเข้าห้องซ้อม จะซ้อมถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ก็ไม่ได้เป็นปัญหา ส่วนนี้จึงทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ยิ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามา การนัดหมายก็ง่ายขึ้น ใครว่างวันไหน สะดวกวันไหน ก็หาวันซ้อมกัน
นพ.เขษม์ชัยกล่าวเสริมว่า จุดหนึ่งที่จะทำให้วงไปรอดได้ คือหลายคนในวงเล่นดนตรีได้หลายชิ้น เมื่อขาดคนเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ไปก็สามารถแทนกันได้ อาจจะไม่ใช่เครื่องที่ถนัดที่สุด แต่ก็พอที่จะประคองและรอตัวจริงกลับมา
พร้อมยังยกตัวอย่างเวลาที่วงซ้อมดนตรีอยู่ มีเหตุการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา หมอสมองก็เจอเคสผู้ป่วยเส้นเลือดตีบบ้าง หรือคนไข้ที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาลก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่วิกฤต บางครั้งก็ต้องแวะกลับไป
ภาพ: นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูตินรีแพทย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก Beyond IVF โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลสมิติเวช มือกีตาร์ของวง Old Doc
“คนเจอบ่อยก็คือหมอต้น (นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช) เล่นดนตรีอยู่ เดี๋ยวก็มีผู้ป่วยจะคลอดลูก ก็ต้องวางกีตาร์และนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาลเพื่อทำคลอด ถ้ากลับมาทันก็กลับมาเล่นต่อ ที่เหลือก็ประคับประคองกันไป”
Hospital Playlist สาขาเมืองไทย
Old Doc ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากการไปเล่นดนตรีกลาง Siam Square Walking Street สิ่งหนึ่งที่ทำให้เป็นขวัญใจชาวโลกออนไลน์คือการที่มีหมอหลายแขนง ทั้งหมอสูติฯ หมอศัลย์ฯ หมอเด็ก หมอกระดูก หมอสมอง ทำวงดนตรีสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น จนถูกมองว่าเป็น Hospital Playlist ซีรีส์การแพทย์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เล่าเรื่องราวของหมอที่เป็นเพื่อนสนิทกันมากว่า 20 ปี ‘สาขาประเทศไทย’
นพ.ธเนศกล่าวถึงกระแสตอบรับของวงว่า กระแสตอบรับดีมาก เมื่อก่อนทำเพจ Facebook มีแฟนๆ รับชมประมาณ 200 คน ตั้งแต่เราไปเล่นที่สยาม รวมทั้งอีเวนต์ต่างๆ ทั้งดนตรีในสวน แฟนคลับก็ขึ้นมาเป็น 10,000 กว่าคน และมีแนวโน้มที่พุ่งขึ้นทุกวัน
“ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ Hospital Playlist เราเล่นเราก็ดูเน้นสนุก เน้นคนทุกวัย มีร้องเพลงคนแก่ คนอายุน้อย เด็กวัยรุ่น ให้คนที่มาดูเราไม่เบื่อ ไม่ใช่ว่าจะต้องเล่นเพลงตามรุ่นเราอย่างเดียว”
ภาพ: บัวบูชา ปุณณนันท์ ผู้ประกาศข่าวจากช่อง 7HD นักร้องสาววง Old Doc
ส่วน ‘บัวบูชา’ นักร้องหญิงหนึ่งเดียวของวง กล่าวว่า ตอนที่เห็นซีรีส์ก็รู้สึกเหมือนกันว่า พี่ๆ เหมือนวงเราเลย แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ใส่ชุดสครับแบบนี้ แต่พอเรามาใส่ชุดแบบนี้ “Hospital Playlist สาขาเมืองไทยจ้า”
“ก็ดีใจ เพราะยิ่งมารู้อย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่าใครมีมาก่อนใคร แต่เรื่องของดนตรีมีทุกวิชาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่งอาชีพของเรา” นพ.กิติพจน์กล่าว
นพ.เขษม์ชัยยกตัวอย่างถึงคนไข้ พนักงาน Starbucks ที่โรงพยาบาล หรือพยาบาลที่เข้ามาทักทาย แต่ที่แปลกคือคนไข้ส่วนใหญ่ที่ทักจะเป็นคนไข้อายุ 70-80 ปี อาจจะเป็นเพราะผมรักษาเรื่องสมอง สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ แต่อย่างน้อยความจำเขายังดี ยังใช้ได้อยู่ เพราะยังจำผมได้
“จริงๆ เราก็ไม่ได้ตั้งใจที่อยากจะเหมือน แต่ถ้าบังเอิญเหมือนเราก็พอใจ” นพ.สมนิมิตรกล่าว และบอกว่าชุดที่เราใส่กันนี้ก็มีการค้นหาภาพจากซีรีส์ Hospital Playlist มาก่อน จากนั้นก็ส่งให้เพื่อนๆ ดู เมื่อทุกคนเห็นก็ตกลงทันที ผมก็เลยค้นหาร้านที่เป็นชุดที่มีมาตรฐาน และมีรูปแบบที่สวยงาม
เราไม่ตั้งใจเอามาใช้ใส่ทำงานในงานแพทย์ แต่เราตั้งใจเอามาใช้ใส่เพื่อการเล่นดนตรี และเราเองไม่ได้บอกเขาหรอกว่าจะนำชุดไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไร เราสั่งซื้อเหมือนแพทย์ทั่วไป โดยที่เราบอกว่าช่วยปักตัวอักษร Old Doc และชื่อพร้อมตำแหน่งของแต่ละคน คนไหนนักร้อง เป็นมือคีย์บอร์ด เป็นมือกลอง
สุดท้ายหลังจากที่เราไปเล่นที่สยามเขาก็มาถามเราว่า เพิ่งรู้ว่าคุณหมอเอาไปใส่เล่นดนตรี ไม่ได้ใส่ทำงานแพทย์ รู้สึกขอบคุณมาก พร้อมเสนอเป็นสปอนเซอร์ชุดที่ 2 ให้แก่วงของเรา
วางอนาคตของตัวเองแค่ไหน
นพ.เขษม์ชัยกล่าวถึงอนาคตของวงต่อจากนี้ไปว่า “ถ้าเกิดยังมีแรงและไม่ได้ทะเลาะกันก็คงเล่นไปเรื่อยๆ คบกันมา 30 กว่าปี ยกเว้นพวกเราถึงวัยทอง อาจจะอารมณ์เสียแล้วทะเลาะกันมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังเฮฮากันอยู่ ยังมีความสุขกับตรงนี้ แม้จะมีความเหนื่อยนิดหน่อย”
ภาพ: นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตำแหน่งกลอง
“ถ้าเรายังมีแรงไม่ถึงขั้นต้องนั่งรถเข็น บางทีเรายังเคยคิด ถ้าต้องนั่งรถเข็น ถ้าเรายังมีแรงไหว เราก็ยังเล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด เพราะดนตรีก็เป็นสิ่งที่เรารักอยู่แล้ว” นพ.กิติพจน์กล่าวเสริม
ขณะที่บัวบูชากล่าวเสริมว่า เวลาที่เล่นกับวงนี้ เราก็ไม่ได้มองหรอกว่าจะต้องอยู่ถึงอายุเท่านี้แล้วเราก็จะขอออก หรือถ้าวันหนึ่งเราแต่งงานมีลูกหรือชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้วเราจะออก เราอยู่ตรงนี้ด้วยใจจริงๆ เหมือนเราเป็นน้องสาว พี่ๆ ทุกคนเหมือนพี่ชาย เหมือนเป็นคนในครอบครัวกันไปแล้ว เวลาที่เรามองเป็นครอบครัวไปแล้ว เราก็จะไม่ได้คิดหรอกว่าวันหนึ่งเราจะออกจากครอบครัวนี้เมื่อไร เราก็อยากจะอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ
นพ.สมนิมิตรกล่าวว่า จริงๆ ตั้งแต่เรายังไม่มีชื่อเสียง เราอยู่ด้วยกันมานาน นานจนไม่มีมุมไหนที่คิดว่าเราจะแยกกัน ต่อให้เราไม่ได้เล่นที่สยาม ไม่ได้ดังแบบนี้ เราก็ยังมาเจอกันที่นี่ตลอด มีงานบ้าง งานส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานในแวดวงของเรา 3 เดือนครั้ง ไม่ได้ถี่เหมือนปัจจุบัน แต่ก็มีความสุข
“เราไม่ได้หวังเงินทองหรือชื่อเสียง แต่ว่าอยากให้คนรู้ว่าเราก็มีความสามารถด้านนี้ เราก็รักดนตรี ถ้าวงเป็นที่รู้จักแล้ว ถ้าผมจะตายก็นอนตายตาหลับ (หัวเราะ)” นพ.สมนิมิตรกล่าวทิ้งท้าย