สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาน้ำมันดิบโลก อาทิเช่น น้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในวันนี้ (3 มีนาคม 2565) ระดับราคาดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ขณะที่สถิติสูงสุดตลาดกาลของราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 147.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเคยทำไว้เมื่อปี 2551
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาแล้วถึง 51% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่เพียง 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา จาก 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาสู่ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็น 20.4%
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดกลุ่ม OPEC+ ซึ่งมีการประชุมเมื่อคืนวานนี้ (2 มีนาคม 2565) พูดค่อนข้างชัดเจนว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในรอบนี้เป็นผลจากเรื่องของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นสำคัญ ในขณะที่เรื่องปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้เปลี่ยนไปนัก
“ในปีนี้อุปทานส่วนเกินจะยังคงลดลงจาก 1.3 ล้านบาร์เรล เป็น 1.1 ล้านบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันจะลดลง ก็คงจะลงด้วยเรื่องของรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาปรับขึ้นตั้งแต่แรก เชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังคงยืนอยู่ในระดับสูงจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย”
จักรพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก ด้วยกำลังการผลิต 11 ล้านบาร์เรลต่อปี ในส่วนนี้เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 7 ล้านบาร์เรล ซึ่งยังไม่มีประเทศใดผลิตออกมาชดเชยส่วนที่หายไปได้ในขณะนี้
“สิ่งที่ต้องจับตาคือ หากราคาน้ำมันขึ้นไปสูงกว่าระดับ 125 ดอลลาร์ ติดกันนาน ๆ อาจจะนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ เพราะต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจะกดดันบริษัทต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้การบริโภคลดลง”
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในระยะถัดไปคือเรื่องของ shale oil ในสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกควบคุมให้ผลิตลดลงจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการมุ่งเน้นพลังงานสะอาด รวมถึงแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดราคาน้ำมันก็กลับมาอยู่ในโซนสูงอีกครั้ง
“ต้องดูว่า โจ ไบเดน จะผ่อนปรนนโยบายจำกัดการผลิต shale oil ลงมาบ้างหรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันอาจทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก”
ในแง่ผลกระทบต่อหุ้น ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้ดัชนีราคาโภคภัณฑ์ทั่วโลก (BCOM) ณ ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้นกลุ่ม hard commodities ได้แก่ PTTEP และ BANPU ยังคงโดดเด่นตามราคาน้ำมันและถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่ม soft commodities อย่าง TVO ก็โดดเด่นเช่นกัน
ในทางกลับกัน หุ้นที่มีสัดส่วนต้นทุนอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับสูง เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า สายการบิน เดินเรือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ รับเหมาก่อสร้าง เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ และปศุสัตว์ รวมถึงกลุ่มปั๊มน้ำมัน มีแนวโน้มจะถูกกดดันต่อไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP