กองทุนน้ำมันเผย สภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น พยุงตัวเลขไม่ติดลบถึงแสนล้านบาท หลังเงินไหลเข้าราว 7-9 พันล้านบาทต่อเดือน พร้อมชำระหนี้เงินกู้หมดก่อนปี 2571 ด้านพีระพันธุ์ผุดแผนตั้ง SPR ระบบสำรองน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สกัดราคาน้ำมันผันผวน ไม่อิงราคาขึ้นลงตามตลาดโลก ยันแก้กฎหมายเสร็จปีนี้
วันที่ 31 ตุลาคม พรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบปีที่ผ่านมาเฉลี่ยราคาโดยรวมลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้านี้ โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 81.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 83.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 102.01 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 112.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินเฉลี่ย 95.12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 99.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ส่องค่าไฟไทยเทียบเพื่อนบ้าน ปี 2024 ไทยอยู่ตรงไหน สัดส่วนผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง
- ‘เศรษฐา’ รับปากขุดขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมไทย? FDI อินโดฯ-เวียดนามพุ่ง สวนทาง ‘ไทย’ หากเดินช้าเสี่ยงหลุดสถานะ…
ถึงแม้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสาเหตุมาจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อและสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ส่วนสถานการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับลงยังคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลง
ส่งผลให้ต้องมีการรักษาระดับเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการดำเนินการตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาขายปลีก
โดยปรับลดลงซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2566 – มีนาคม 2567 รัฐบาลกลับไปตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร หลังจากขยับเพดานอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตรก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันมีการลดการจัดเก็บเงินในกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตรเพื่อลดราคาขายปลีกลง 1 บาทในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 ทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันฯ น้อยลง โดยที่กองทุนน้ำมันฯ ยังต้องให้การอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ ส่วนก๊าซ LPG ก็ถูกตรึงราคาตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
“ส่งผลให้ด้านสภาพคล่องของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 โดยเริ่มมีรายรับราว 7-9 พันล้านบาทต่อเดือน” พรชัยกล่าว
โดยประมาณการฐานะกองทุนจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ที่เคยติดลบ 111,663 ล้านบาท (แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท) เป็นติดลบเหลือ 99,087 ล้านบาท (แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,643 ล้านบาท และบัญชี LPG 47,444 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ยืนยันชำระหนี้เงินกู้ครบภายในปี 2571
สำหรับในปีงบประมาณ 2568 กองทุนน้ำมันฯ ยังคงดำเนินการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังคงไว้ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และยังมีภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
- การชำระหนี้เงินกู้ยืมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน โดยจะเริ่มชำระเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 ประมาณ 139 ล้านบาท และเพิ่มการผ่อนชำระหนี้เงินต้นขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนตามวงเงินกู้ยืม ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอีกประมาณ 250-300 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2571
- การติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเรียกเก็บเงินไว้ในช่วงที่ยังมีภาระหนี้เงินกู้ยืม เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
- การจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2568-2572 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
พีระพันธุ์ผุดแผนตั้ง SPR ระบบสำรองน้ำมัน แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดร่างกฎหมายแล้วเสร็จปีนี้
ด้าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางการจัดการด้านพลังงานของประเทศมุ่งไปทางธุรกิจมากกว่าความมั่นคง และไม่ได้มีการปรับปรุงด้านกฎหมายมานานกว่า 50 ปีแล้ว
“ไทยยังไม่มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน ล่าสุดจึงดำเนินการร่างกฎหมาย SPR เพื่อสร้างระบบสำรองน้ำมันของประเทศไทย โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนสร้างคลังน้ำมันและซื้อน้ำมัน เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันรวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย
“โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก” พีระพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีความคืบหน้าในการกำหนดให้บริษัทผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมันต้องแสดงต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง เพื่อพิจารณาไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนเกินไป และกำลังดำเนินการร่างกฎหมายด้านพลังงานที่สำคัญอีกหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการการค้าน้ำมันและก๊าซ ร่างกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณา และคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้