×

ทำความรู้จัก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ กระปุกออมสินด้านพลังงานของประเทศที่ติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2024
  • LOADING...
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ทุกวันนี้สงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมบางครั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ราคาน้ำมันในประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามในทิศทางเดียวกันทันที อะไรคือกลไกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันภายในประเทศไทย? หนึ่งในนั้นคือ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ กระปุกออมสินด้านพลังงานของประเทศไทย ที่เป็นเบาะรับแรงกระแทกของความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ทำไมกองทุนที่เป็นกระปุกออมสินถึงมีข่าวติดลบถึงแสนล้านบาท THE STANDARD จะพาทุกคนไปไขคำตอบกัน

 

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ส่วนไหนของโครงสร้างราคาน้ำมันที่เราเติมลงถังน้ำมันของรถยนต์ที่เราใช้และจ่ายไปในแต่ละลิตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

 

  • ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (70%) ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการผลิตและแปรรูปน้ำมันดิบ
  • ภาษีและกองทุน (25%) รัฐบาลเก็บภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนต่างๆ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรากำลังพูดถึงจะอยู่ในส่วนนี้ รวมถึงกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนโครงการและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนด้วย
  • ค่าการตลาด (5%) ส่วนแบ่งของผู้ค้าปลีกน้ำมันที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ

 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร

 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปรียบเสมือนกระปุกออมสินด้านพลังงานของประเทศไทยที่ใช้ในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศ เช่น น้ำมันดีเซลหรือ LPG ซึ่งถูกใช้อย่างกว้างขวางในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่ปรับตัวสูงเกินไป ลดผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ เปรียบเสมือน ‘เบาะรองรับแรงกระแทก’ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ 

 

กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำงานอย่างไร

 

เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เงินส่วนนี้จะถูกเก็บเข้ากองทุนเพื่อสะสมไว้ใช้ในอนาคต แต่เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น กองทุนนี้จะนำเงินออกมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าราคาน้ำมันไทยบางชนิด อาทิ น้ำมันดีเซล ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะขึ้น เพราะกองทุนนำเงินออกมาอุดหนุนนั่นเอง

 

 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาพลังงานอะไรบ้าง

 

หน้าที่สำคัญของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพและการดำรงชีพของประชาชน จึงพิจารณาการอุดหนุนโดยดูจากปริมาณประเภทน้ำมันที่จะส่งผลต่อค่าครองชีพมากที่สุด สำหรับประเทศไทยน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ถูกใช้มากที่สุดในประเทศ โดยมีสัดส่วนการใช้ประมาณ 50% ในขณะที่น้ำมันเบนซินมีสัดส่วนการใช้งานประมาณ 23% เนื่องจากน้ำมันดีเซลถูกใช้ทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และขนส่ง การปรับตัวของราคาน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สะท้อนมาถึงค่าครองชีพของประชาชน น้ำมันดีเซลจึงเป็นน้ำมันที่กองทุนอุดหนุนเป็นหลัก

 

ทำไมกองทุนถึงติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท?

 

อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า ในเดือนกันยายน ปี 2024 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการที่กองทุนต้องกู้เงินมาเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการระบาดของโรคโควิด 

 

โดยเฉพาะในช่วงปี 2022 ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียมีราคาสูงถึง 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ในบางช่วงกองทุนต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงถึง 14 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและราคาสินค้าที่อาจส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายในการประคองราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลในปี 2022 ของ สกนช.) นอกจากนี้สถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยสูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้ภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

กองทุนต้องนำเงินมาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุดในประเทศ ส่งผลให้กองทุนต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา หากไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันและค่าครองชีพในประเทศจะผันผวนมากกว่านี้ การที่กองทุนแบกรับภาระการติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท จึงสะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising