กบน. เคาะลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเหลือ 33 บาทต่อลิตร หลังจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลงเกือบ 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมจับตา OPEC+ กดดันราคาขายปลีก
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันนี้ (3 เมษายน) มีมติปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 0.50 บาทต่อลิตร จากราคา 33.50 บาทต่อลิตร เป็น 33.00 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งที่ 4 หรือรวมการปรับลงแล้ว 2 บาทต่อลิตรนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยสาเหตุการปรับลดลงครั้งนี้เป็นผลมาจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 98.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 4.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 5.00 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ดี สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกยังคงมีความผันผวนจากวิกฤตด้านการเงิน ความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน
สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มทยอยติดลบลดลง ณ วันที่ 2 เมษายน 2566 ติดลบ 91,860 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 45,008 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 46,860 ล้านบาท
พลังงานจับตา OPEC+ ลดกำลังการผลิต
ด้าน วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กรณีที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ ประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น หากเกิดกรณีที่มีการลดกำลังการผลิตจริง จะทำให้ปริมาณน้ำมันตึงตัว ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ากลุ่ม OPEC มักจะดำเนินการตามแนวทางนี้บ่อยครั้ง เมื่อราคาเริ่มลดลงก็จะมีกลไกหรือวิธีการทำกำไรออกมา เสมือนเป็นการพยายามดันราคาให้สูงขึ้น ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
โดยปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ปรับตัวลดลงมาก ทำให้มีการหันไปใช้ LNG มากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้า OPEC จึงมีความพยายามทำให้ซัพพลายของทั้งโลกลดลงมา
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566 ระบุโดยอ้างอิงสมมติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6
โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศ และการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานนั้น สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะอยู่ที่ 80.0-90.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2566 จะอยู่ที่ 32.2-33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 และเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ