OECD เตือนเกี่ยวกับอันตรายของตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากกำแพงครบกำหนด (Maturity Wall) กำลังใกล้เข้ามา โดยประมาณ 40% ของพันธบัตรรัฐบาลและบอนด์เอกชนจ่อครบกำหนดในระยะเวลาเพียง 3 ปีนี้
ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ต้องรีไฟแนนซ์หนี้ประมาณ 40% ของบอนด์ที่จะครบกำหนดในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยต้นทุนในการรีไฟแนนซ์ก็ยังมีความเสี่ยงจะสูงขึ้นจากเรตปัจจุบัน
ในรายงานของ OECD ยังประเมินว่า หนี้ภาครัฐทั้งหมดที่ออกโดยประเทศสมาชิก 38 ประเทศ (ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก) จะเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 56 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้
OECD กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่างๆ ระหว่างปี 2008-2022 ทำให้รัฐบาลและบริษัทต่างๆ สามารถกู้ยืมเงินได้ในราคาที่ต่ำ (Low Cost) อย่างไรก็ดี ประมาณ 40% ของพันธบัตรรัฐบาล และ 37% ของบอนด์เอกชนทั่วโลก เตรียมครบกำหนดภายในปี 2026
“เมื่อถึงเวลานั้น (ปี 2026) ผู้ออกตราสารต่างๆ (Issuers) มีแนวโน้มที่จะต้องรีไฟแนนซ์ด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางจะประสบความสำเร็จในการลดอัตราเงินเฟ้อก็ตาม” OECD ระบุ
“ภูมิทัศน์เศรษฐกิจมหภาคใหม่ของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นในรอบหลายทศวรรษ” Mathias Cormann เลขาธิการ OECD กล่าวในแถลงการณ์
พร้อมทั้งแนะว่า ผู้ดูแลตลาดในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งประเด็นความยั่งยืนของหนี้ในภาคธุรกิจ และความเสี่ยงโดยรวมในภาคการเงิน
OECD เตือนว่า ประเทศที่มีหนี้สินสูงหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกบางส่วน อาจเผชิญกับวงจรเชิงลบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเติบโตที่ช้า และการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น
“เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของพันธบัตรระดับการลงทุนที่ลดลง และความสามารถที่จำกัดของตลาดในการดูดซับอุปทาน ที่ไม่ใช่ระดับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลกระทบของการปรับลดอันดับที่อาจเกิดขึ้นจึงสมควรได้รับการพิจารณาด้วย” รายงานระบุ
อ้างอิง: