×

บทเพลงเป็นคีตศิลป์ จารึกประวัติศาสตร์คนเดือนตุลา

12.10.2024
  • LOADING...
ประวัติศาสตร์ เดือนตุลา

ตุลาคม 2567 เป็นเดือนครบรอบ 2 เหตุการณ์สำคัญของการเมืองไทย คือ

 

ครบรอบ 51 ปี ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

ครบรอบ 48 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

เพลงเป็นงานประพันธ์ดุจเดียวกับบทกวี ที่จำกัดการใช้ถ้อยคำให้กระชับ สั้น แต่ได้ใจความ

 

จะเขียนเพลงให้ยาว 3 หน้ากระดาษ A4 เหมือนเขียนบทความนั้นหาได้ไม่ มันยาวเกินไป แม้เขียนออกมาก็ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครสนใจที่จะนำไปร้อง ไปบรรเลง

 

เพลงจึงต้องใช้ตัวหนังสือไม่มาก เขียนอย่างกระชับสั้น เรียบเรียงด้วยภาษากวี ใส่ทำนองที่นวลเนียนไปกับเนื้อหา ก็สามารถสื่อและทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็มีพลังสร้างสรรค์และสั่นสะเทือนอารมณ์

 

Screenshot

 

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น การยึดอำนาจของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ยกเลิกรัฐบาลเลือกตั้งของตนเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 นำประเทศไทยเข้าสู่เผด็จการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในขณะที่บ้านเมืองมีปัญหาเศรษฐกิจถึงขั้นประชาชนต้องเข้าคิวซื้อข้าวสาร ในทางการเมืองก็ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ซึ่งประชาชนชุมนุม 5 คน ก็ผิดกฎหมายแล้ว คนอีสานใช้คำเปรียบเทียบบรรยากาศเช่นนี้ว่า ‘ปากบ่ได้ ไอบ่ดัง’

 

ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

 

เมื่อเกิดกรณีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหาร มีการเปิดโปงฐานทัพสหรัฐอเมริกา 8 แห่ง ซึ่งใช้เป็นฐานของเครื่องบินทิ้งระเบิดในประเทศเวียดนาม และ สปป.ลาว

 

เกิดการลบชื่อนักศึกษา 9 คนออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะจัดพิมพ์วารสารที่มีถ้อยคำแสลงใจรัฐบาล, การเดินขบวนต้านทุจริตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ ฯลฯ ท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการ เป็นความตื่นตัวของเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่สะท้อนภาพได้ด้วยบทกวี และบทเพลง ‘ดอกไม้’ ของจิระนันท์ พิตรปรีชา นิสิตจากจุฬาฯ เมื่อปี 2516 ว่า

 

“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน

บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ

สีขาว หนุ่มสาวจะใฝ่

แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา…”

 

บทกวีอันไพเราะและกินใจ ทำให้ วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าวงดนตรีรุ่งอรุณของจุฬาฯ นำไปใส่ทำนองแบบง่ายๆ ที่นักร้องดังนำไปขับร้องกันแพร่หลาย

 

ความหมายที่ลึกซึ้ง มีลักษณะเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย เป็นดอกไม้บานในใจคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ และเพรียกหาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

 

ยุค 14 ตุลาคม 2516

 

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่ปักหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2516 เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อย 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐบาลกลับไม่ไยดี ซ้ำออกข่าวให้ร้ายผู้ชุมนุมอีก ทำให้มีการเคลื่อนขบวนคนนับแสนจากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยสู่ถนนราชดำเนินในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ในเวลา 12.15 น.

 

จำนวนคนนับแสนจากธรรมศาสตร์ และประชาชนที่เข้ามาสมทบระหว่างทางอีก รวมแล้วประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

 

ภาพการเคลื่อนขบวนที่แถวหน้าสุดเป็นนักเรียนอาชีวะที่พร้อมเผชิญกับระเบิด, ห่ากระสุน และแก๊สน้ำตา ตามด้วยขบวนแถวของนักศึกษาหญิงที่ถือธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามด้วยมวลนักศึกษาและประชาชนที่เบียดเสียดกันเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินตลอดสายนั้นช่างอาจหาญงามสง่า จนกลายเป็นคำประพันธ์เพลง หนุ่มสาวเสรี โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมชื่อ ‘ลาวเฉียง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ตับลาวเจริญศรี

 

Screenshot

 

เพลงหนุ่มสาวเสรี

“(เกริ่น-แอ่วเคล้าซอ)

ครานั้นนิสิตนักศึกษา

บรรดานักเรียนทั้งเหนือใต้

สามัคคีประชาชนทั่วไป

ลุกฮือขับไล่ทรชน

 

“(ลาวเฉียง)

คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา

กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส

ฟันเฟือง ฟาดฟันบรรลัย

กนกห้าสิบให้ชีวิตพลี

 

“(สร้อย)

เจ้าหนุ่มสาวเอย

เจ้าเคยแล้วหรือยัง

ตายเพื่อสร้าง

ตายเพื่อสร้างเสรี

มือเปล่าตีนเปล่าก้าวหน้า

ยอมให้เข่นฆ่าไปเป็นผี

ถือหลักศักดิ์สิทธิ์เสรี

พูดกันดีดีแล้วตั้งนาน

 

“(สร้อย)

กดขี่ข่มเหงคะเนงร้าย

เผด็จการก้าวก่ายเสียทุกด้าน

ชาวนาเป็นศพกบดาน

ชาวบ้านเป็นซากยากจน

 

“(สร้อย)

มือเปล่าตีนเปล่าห้าวหาญ

แกว่งกระบองคลุกคลานกลางถนน

นี่คือพลังของประชาชน

ทุกคนสืบเลือดบางระจัน

 

“(สร้อย)

มาเถิดมาสร้างเมืองใหม่

สร้างประเทศเราให้เป็นสวรรค์

ใครมาข่มเหงรังแกกัน

ประชาชนเท่านั้นลุกฮือเอย (สร้อย)”

 

ผลงานเพลง หนุ่มสาวเสรี ของวงต้นกล้า คำร้องของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดยมี รังสิต จงฌานสิทโธ เป็นนักร้อง ประกอบวงด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ฯลฯ ทำให้เพลงนี้บรรยายภาพคลื่นมหาประชาชนที่เคลื่อนขบวนอย่างห้าวหาญและสง่างาม เสียงระนาด, ขลุ่ย และซอ ที่ผสานด้วยทำนองเพลงอันรุกเร้าใจ จึงกลายเป็นบทเพลงแห่งประวัติศาสตร์อีกเพลงหนึ่งที่จารึกวีรกรรมนักศึกษาและประชาชนอย่างเฉพาะเจาะจงบนท้องถนนในวันนั้น ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเสมือนหนึ่งได้ร่วมบรรยากาศในเหตุการณ์ด้วย

 

ยุค 6 ตุลาคม 2519

 

บรรยากาศประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้แก่การใช้สิทธิเสรีภาพ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดพลังผลักดันสำคัญทำให้รัฐธรรมนูญ 2517 มีการบัญญัติรองรับการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน และบทบัญญัติให้รัฐต้องจัดบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเสียค่าใช้จ่ายน้อย

 

ในขณะที่กรรมกร, ชาวนา และนิสิต นักศึกษา ผนึกเป็นพลังสามประสาน ต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เสียเปรียบในสังคม และต่อต้านการมีฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย ที่คุกคามประเทศเพื่อนบ้าน

 

การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาชนกับชนชั้นนำในครั้งนั้นจบลงด้วยการจับกุมและสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สนามหลวง

เพลง ‘จากภูพานถึงลานโพธิ์’ เป็นบทกวีของ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่เตลิดเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาเขียนบทกวีนี้ในเขตจรยุทธที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อสุรสีห์ ผาธรรม ศิลปินนักสร้างหนังเรื่อง ‘ครูบ้านนอก’ เดินทางขึ้นภูพานไปสมทบ พอได้อ่านบทกวีนี้ เขาฮัมขึ้นมาเป็นทำนองเพลง กลายเป็นความลงตัวที่วงดนตรี 66 ของหน่วยศิลป์ในป่าเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นมาอย่างมีพลัง โดยมี สหายฟา ยาดำ หรือชื่อจริง สรรเสริญ ยงสูงเนิน เป็นผู้ร้อง

 

เพลงจากภูพานถึงลานโพธิ์

“ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก

ได้จารึกหนีเลือดอันเดือดดับ

6 ตุลาเพื่อนเราล่วงลับ

มันแค้นคับเดือดระอุอกคุไฟ

เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมกราด

ระเบิดบาปกระสุนบ้ามาสาดใส่

เสียงเหมือนแตรงานศพซบสิ้นใจ

สนามหญ้าเคล้ากลิ่นไอคาวเลือดคน

มันตามจับตามฆ่าล่าถึงบ้าน

เข้าประหารจับเข้าคุกทุกแห่งหน

เราอดทนถึงที่สุดก็สุดทน

จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน

 

“อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่

คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ

จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ

อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง

สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ

พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง

จรยุทธนำประชาสู่ฟ้าทอง

กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร

 

“ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย

ก็เพียงเพื่อรอคอยสู่วันใหม่

วันกองทัพประชาชนประกาศชัย

จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์”

 

เพลงจากภูพานถึงลานโพธิ์ เป็นเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ที่จารึกว่าการสังหารโหด 6 ตุลาคม 2519 นำไปสู่การเคลื่อนขบวนนักศึกษาและเยาวชนจากเมืองเข้าสู่เขตป่าเขาที่ต่อต้านอำนาจรัฐ

 

Screenshot

 

ยุคคืนรัง

 

ชูเกียรติ ฉาไธสง บันทึกไว้ในหนังสือ กำเนิดในยามพระเจ้าหลับไหล เส้นทางและวิถีของ ‘หงา คาราวาน’ ตำนานมีชีวิต ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ในงาน CONCERT FOR UNICEF หงาและเพื่อนร่วมวงเตรียมพร้อมอยู่หลังผ้าม่านผืนใหญ่บนเวทีหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นเสมือนบ้านเก่าของพวกเขา ขณะที่พิธีกรสาวชื่อดัง จันทรา ชัยนาม กล่าวเชิญชวน

 

“ขอเชิญพบกับวงคาราวานค่ะ”

 

คนดูแน่นขนัดล้นหอประชุม ปรบมือกระหึ่ม ต้อนรับการคืนสู่เวทีธรรมศาสตร์อย่างอบอุ่น ม่านค่อยๆ รูดเปิดออก แสงสปอตไลท์ต์สาดลงมาจนนัยน์ตาพร่าไปชั่วขณะ แล้วพยางค์แรกในมือหงาก็กรีดกังวาน ตามด้วยเสียงร้อง

 

“โอ้ยอดรัก ฉันกลับมาจากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล

จากโคนรุ้งที่เนินไศล

จากใบไม้หลากสีสัน

ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง…”

 

เพียงท่อนแรกของเพลง ด้วยสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจำได้ สะกดให้ผู้คนในหอประชุมสะอื้น ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้

 

ลองคิดดูเถิดว่าสี่สหายที่พวกเขาคุ้นเคยแห่งวงดนตรี ท.เสนและสัญจร หรือชื่อ คาราวาน ในเวลาต่อมา ได้แก่

  • หงา-สุรชัย จันทิมาธร กีตาร์ และร้องนำ
  • หว่อง-มงคล อุทก พิณ, ฮาร์โมนิกา และโหวด
  • อืด-ทองกราน ทานา ไวโอลิน, กีตาร์ และกลอง
  • แดง-วีระศักดิ์ สุนทรศรี กีตาร์

 

ทั้ง 4 คนที่ประกอบวงกันมาแต่แรกเริ่มเข้าป่าและคืนเมืองมากันครบ ไม่มีใครตกหล่น หลังจากที่ห่างหายจากเมืองไปนานกว่า 5 ปี ได้มาร่วมวงกันใหม่ในแบบอะคูสติก เปิดแสดงสดเพลง ‘คืนรัง’ โดยไม่ได้เข้าห้องอัดเสียงมาก่อน

 

“ฝากชีวิตให้เธอเก็บไว้

ฝากดวงใจให้นอนแนบรัง

ฝากดวงตาและความมุ่งหวัง

อย่าชิงชังฉันเลยยอดรัก”

 

ลีลาเพลงที่หวาน เศร้า และพลิ้วไหว อ้อยสร้อยด้วยเสียงไวโอลินของทองกราน ประสานกับเสียงพิณอันเสนาะเหมือนอยู่ในบรรยากาศแห่งพงไพร เสียงพร่ำถึงอดีตที่ฝากชีวิต ฝากดวงใจ ฝากดวงตา ยิ่งชวนให้ทุกคนในห้องประชุมสะเทือนใจ

 

“นานมาแล้วเราจากกัน

โอ้คืนวันนั้นแสนหน่วงหนัก

ดั่งทุ่งแล้งที่ไร้เพิงพัก

ดั่งภูสูงที่สูงสุดสอย

โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา

ดังชีวาที่เคยล่องลอย

มาบัดนี้ที่เราเฝ้าคอย

เจ้านกน้อยโผคืนสู่รัง

ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง…”

 

ท่วงทำนองและเนื้อหาเพลงคืนรังในค่ำวันนั้นเป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด ของอดีตสหายในหอประชุมวันนั้น เป็นประสบการณ์แห่งอารมณ์ห่วงหาอาทร เป็นชะตากรรมร่วมที่อดีตสหายล้วนผ่านพบมาด้วยกัน

 

เพลงคืนรังจึงเป็นปากคำประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยที่สะท้อนกระแสจากป่าคืนเมืองของนักศึกษาและประชาชนในช่วงปี 2524-2526 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลงนามโดย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำทหาร หลังจากที่นักศึกษาและประชาชนกว่า 3,000 คน เดินทางเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

มันไม่เพียงก่อเกิดพลังร่วมทางอารมณ์เท่านั้น แต่เพลงคืนรังเป็นปากคำประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่จารึกว่าในยุคหนึ่งนั้นเรามีบทเรียนร่วมกันว่าความไม่เป็นธรรมและการข่มเหงรังแกนำไปสู่การต่อสู้อย่างรุนแรง และยังได้บทเรียนบทต่อมาอีกว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว การต่อสู้แบบเลือดต้องล้างด้วยเลือดเป็นหนทางที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ด้วยกันทุกฝ่าย ความเชื่อต่อลัทธิ-อุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดความแตกร้าวมากกว่าจะเกิดสันติธรรม

 

การแบ่งขั้วแยกข้างแล้วใส่ฟืนเติมไฟลงไป จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีแต่จะทำให้สังคมแตกร้าวกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น

เพลงคืนรังอาจน้อมนำให้สังคมไทยช่วยกันคิดหรือไม่ว่า ขนาดสงครามประชาชนที่ต่อสู้กันมาแบบถึงเลือดถึงเนื้ออย่างยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปีนั้น ยังสามารถยุติได้โดยไม่ต้องเจรจาหยุดยิง ไม่ต้องมีใครมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และไม่ต้องทำสัญญาสงบศึก นี่คือคุณสมบัติสุดแสนจะวิเศษของสังคมไทยโดยแท้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising