×

เข้าขั้นวิกฤตร้ายแรง! อุณหภูมิมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้น น้ำเป็นกรดมากสุดจนทุบสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ ทำจำนวนปลาลดลง

20.05.2022
  • LOADING...
อุณหภูมิมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้น

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) หน่วยงานพิเศษในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศโลก ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ของมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเข้าขั้นวิกฤตร้ายแรง เพราะมีระดับอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดและมีภาวะเป็นกรดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นผลพวงที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

การค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปีในภาพรวม ซึ่งว่าด้วยรายละเอียดหลัก 4 ประการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิของมหาสมุทร และภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร ซึ่งทั้งหมดล้วนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 โดยทั้งหมดเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่สร้างความสูญเสียให้กับทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เพตเทอรี ทาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการ WMO กล่าวในแถลงการณ์ว่า สภาพอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาทุกคน และความร้อนที่กักขังโดยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น จะทำให้โลกร้อนไปอีกหลายชั่วอายุคน

 

ด้าน เซลวิน ฮาร์ต (Selwin Hart) ที่ปรึกษาพิเศษประจำเลขาธิการ UN กล่าวว่า ผู้คนในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ รวมถึงภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา และเอเชียใต้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากภาวะโลกร้อน เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ถึง 15 เท่า และจนถึงขณะนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ทั่วโลกยังไม่สามารถลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แม้จะมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิดเมื่อปี 2019 ก็ตาม

 

รายงานระบุว่า การที่น้ำทะเลร้อนขึ้นและมีภาวะเป็นกรดมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร โดยเฉพาะระบบนิเวศปะการัง ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทั้งหลาย ทำให้หนึ่งในแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ตกอยู่ในอันตราย และจะยิ่งทำให้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

 

WMO ระบุว่า ระดับ pH ในมหาสมุทรถึงจุดต่ำสุดในรอบอย่างน้อย 26,000 ปี และเมื่อมหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศจะลดลง

 

ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มเฉลี่ย 4.5 มิลลิเมตรต่อปีมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 2 มิลลิเมตรเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขณะที่โลกเผชิญความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารและภาวะอดอยากมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน ยังไม่นับรวมความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่แนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X