เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2562 ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA ครั้งที่ 38 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยภายในงานมีตัวแทนจากคณะกรรมการสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียเข้าร่วมรายงานความพร้อมสำหรับมหกรรมต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020 รวมถึงเอเชียนเกมส์ และมหกรรมกีฬาในระดับเอเชียต่างๆ
THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังรายงานและการประชุมจนได้เก็บเกี่ยวข้อมูลทิศทางของวงการกีฬาโลกและเอเชีย ตั้งแต่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของญี่ปุ่น จนถึงแผนการเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของไทย สรุปมาได้ทั้งหมด 5 ข้อ
เราก็อยากจะแสดงให้โลกเห็นถึง มาตรฐานใหม่ของโอลิมปิก
1. จีนเตรียมเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับสากลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากโอลิมปิกแล้ว มหกรรมกีฬาระดับเอเชียและระดับโลกครั้งต่อไปเตรียมจะเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ยิ่งใหญ่ไว้เมื่อปี 2008
ในครั้งนี้ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน เตรียมสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นเมืองแรกของโลกที่จัดทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2008 และเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 รวมถึงในปี 2020 นี้ จีนเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนบีชเกมส์ที่ซานย่า หรือฮาวายของประเทศจีน
นอกจากนี้มหกรรมกีฬาในระดับเอเชียอย่างเอเชียนเกมส์ ปี 2022 จะจัดขึ้นที่หางโจว ประเทศจีน โดยภายในการประชุมได้มีการประกาศชนิดกีฬาที่ใช้แข่งขัน ประกอบไปด้วยกีฬาโอลิมปิกทั้งหมด 28 ชนิด และกีฬาอื่นๆ ทั้งหมด 5 ชนิด ซึ่งเป็นตัวแทนกีฬาของแต่ละภูมิภาคในเอเชีย ประกอบไปด้วย วูซู, เซปักตะกร้อ, คูราช, ยูยิตสู, คริกเก็ต, หมากรุก
แต่ทางเจ้าภาพยืนยันว่าต้องการให้มีกีฬาแข่งขันทั้งหมด 40 ชนิด ซึ่งหลายฝ่ายยังคงรอลุ้นให้พิจารณาอีสปอร์ตเป็นหนึ่งในกีฬาที่ใช้แข่งขันด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีการประกาศบรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญรางวัล แต่ล่าสุดก็ยังไม่มีการยืนยันจากฝ่ายจัดการแข่งขันถึงการบรรจุกีฬาชนิดนี้เข้าสู่มหกรรมกีฬาระดับเอเชียที่ประเทศจีน
นอกจากนี้ฝ่ายจัดงานยังได้ประกาศวันแข่งขันไว้ระหว่างวันที่ 3-18 กันยายน 2022 โดยระบุว่าเป็นช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศเหมาะสมสำหรับการแข่งขันกีฬามากที่สุด ก่อนที่จะปิดท้ายการรายงานความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพของหางโจวพร้อมกับคำสัญญาว่า
“New Era New Asian Games”
2. ญี่ปุ่นประกาศตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020
เข้าสู่ช่วงเวลาอีก 500 กว่าวันก่อนที่มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2020
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมาแล้วในปี 1964 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเอเชียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
หลังจากรายงานความพร้อมของเจ้าภาพญี่ปุ่นภายในการประชุม OCA แล้ว THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ โทรุ โคบายาชิ หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee – NOC) ของประเทศญี่ปุ่น ถึงความพร้อมและสิ่งที่ผู้คนสามารถคาดหวังจากการเป็นเจ้าภาพในปีนี้
ความพร้อมของโตเกียวในเวลานี้
ตอนนี้ขั้นตอนการก่อสร้างกำลังไปได้ดี และเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและผู้สนับสนุนการแข่งขันที่ช่วยให้การเตรียมการของเราเป็นไปตามแผน
จุดประสงค์ของการนำขยะรีไซเคิลมาทำเหรียญรางวัลโอลิมปิก
การใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทำเป็นเหรียญรางวัลเป็นมิติใหม่ของการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนทั้งในและนอกญี่ปุ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้
ต้องการให้โตเกียว 2020 เป็นที่จดจำอย่างไร
โตเกียวตอนนี้มีความคาดหวังสูงจากทุกคน เราจึงไม่อยากทำให้ทุกคนผิดหวัง ด้วยเทคโนโลยีและการต้อนรับขับสู้ที่คนญี่ปุ่นมี เราก็อยากจะแสดงให้โลกเห็นถึงมาตรฐานใหม่ของโอลิมปิก
ญี่ปุ่นต้องการสร้างมาตรฐานอะไรให้กับโอลิมปิกในครั้งนี้
โอลิมปิกตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เราไม่ได้ต้องการแค่ขยายหรือเพิ่มสิ่งใหม่ๆ เข้าไปสู่การแข่งขัน แต่เป็นการปรับปรุงและเรียนรู้สิ่งที่เราทำมาก่อนหน้านี้ เรามีหนทางการจัดรูปแบบใหม่ๆ สำหรับการแข่งขันที่ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการจัดการแข่งขันที่ยั่งยืนมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่โตเกียวจะนำเสนอมากขึ้นในปี 2020
โอลิมปิกครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศนวัตกรรมสำหรับการแข่งขันไว้มากมาย ทั้งการถ่ายทอดสดด้วยความคมชัดระดับ 8K บวกกับการเตรียมใช้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 5G แต่ไม่ใช่เพียงแค่นวัตกรรมสำหรับการสร้างอนาคตที่ถูกนำเสนอในโอลิมปิกครั้งนี้เท่านั้น เนื่องจากญี่ปุ่นได้ประกาศใช้นวัตกรรมสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลเป็นเหรียญรางวัลสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก รวมถึงการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด และหมู่บ้านนักกีฬาที่มีการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้งาน
3. เอเชียกลายเป็นมหาอำนาจวงการกีฬาโลก มหกรรมกีฬาเริ่มต้นเคลื่อนย้ายมาสู่ฝั่งเอเชีย
เป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จในด้านของการจัดการแข่งขันสำหรับฝั่งเอเชีย หลังจากที่มหกรรมกีฬาทยอยข้ามฝั่งมาจัดที่เอเชีย นับตั้งแต่โอลิมปิกครั้งแรกในเอเชียที่ญี่ปุ่นในปี 1964
มาถึงช่วงเวลานี้ มหกรรมกีฬาระดับสากลต่างๆ จะจัดขึ้นในเอเชีย ตั้งแต่โอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปี 2020 ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ในปี 2022 ซึ่ง ฮุสเซน อัล มูซัลลาม ผู้อำนวยการใหญ่ของ OCA ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงความสำเร็จและโอกาสที่กำลังเข้ามาสู่เอเชียจากมหกรรมกีฬาระดับโลก
“เราภูมิใจกับเอเชีย เพราะการแข่งขันรายการใหญ่อย่างโอลิมปิก รวมถึงผู้สนับสนุนในวงการกีฬาส่วนใหญ่มาจากเอเชีย นี่เป็นความฝันของเราตั้งแต่ปี 1913 (มหกรรมกีฬานานาชาติครั้งแรกในทวีปเอเชีย) ตอนนี้เราคือมหาอำนาจในการผลักดันวงการกีฬาไปข้างหน้า
“ผมคิดว่าทุกประเทศจะใช้โอกาสนี้ในการเก็บประสบการณ์และเรียนรู้วิธีการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมระดับนานาชาติที่มีมาตรฐานสูงผ่านการจัดการแข่งขันระดับเอเชียและเอเชียนเกมส์ และนี่คือขั้นตอนในการเติบโตสำหรับพวกคุณ”
แม้ว่าโอลิมปิกในปี 2024 และ 2028 จะจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ แต่ในเวลานี้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2032 มีตัวแทนจากเอเชียถึงสองประเทศทั้งเกาหลีและอินโดนีเซีย ซึ่งฮุสเซนมองว่าอินโดนีเซียมีประสบการณ์การจัดมหกรรมกีฬาสากลจากการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
“หลังจากความสำเร็จในเอเชียนเกมส์ ปี 2018 ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีการจัดการแข่งขันที่มีมาตรฐานสูงทั้งในด้านของเทคโนโลยี การถ่ายทอดสด และการดูแลแฟนกีฬา อีกทั้งประสบการณ์ของการจัดเอเชียนเกมส์ที่คล้ายกับการจัดโอลิมปิก นี่ก็คือสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก”
4. โอลิมปิก 2032 กับหมุดหมายแห่งความเปลี่ยนแปลงของเกาหลีหรืออินโดนีเซีย
หมุดหมายที่น่าสนใจที่สุดสำหรับโอลิมปิกในปี 2032 นอกเหนือจากการที่อินโดนีเซียมีโอกาสเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้จัดการแข่งขันโอลิมปิกแล้ว
ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้วางแผนที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในฐานะเกาหลีที่รวมทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังวางแผนเตรียมส่งนักกีฬาภายใต้ทีมเกาหลีทีมเดียวเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงวางแผนเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2030 ร่วมกันอีกด้วย
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐของเกาหลีใต้มองว่าเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีผ่านมหกรรมกีฬา
“กรุงโซลพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อให้โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2032 เป็นสิ่งที่มากกว่ามหกรรมกีฬา แต่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของคาบสมุทรเกาหลี” เป็นถ้อยคำแถลงการณ์ของ พัควอนซุน ถึงการเตรียมยื่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2032
5. Master Plan ของไทยกับการปูเส้นทางสู่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก
ในโอลิมปิก ปี 2032 นอกเหนือจากความเป็นไปได้ของทั้งเกาหลีและอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพแล้ว ไทยยังมีโอกาสเป็นอีกหนึ่งผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจากแผนการเตรียมการของการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วย
ภายในการประชุม พลตรี จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในเวลานี้ไทยสนใจจัด 4 มหกรรมกีฬาใหญ่ ประกอบไปด้วย เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ปี 2021, เอเชียนยูธเกมส์ ปี 2025, ยูธโอลิมปิก ปี 2026 และเอเชียนเกมส์ ปี 2030
“เกมต่างๆ ที่กล่าวไปเราสนใจเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม เตรียมข้อมูลอย่างดีที่สุด อย่างเอเชียนเกมส์ก็ต้องมีการวางแผนสร้างหมู่บ้านนักกีฬารองรับ” พลตรี จารึก ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้การกีฬาแห่งประเทศไทยยังได้ออกแบบแผนการปูทางสู่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของประเทศไทยครั้งแรกไว้ในปี 2032
ซึ่งแผนการนี้เป็นการตรวจเช็กเจ้าภาพมหกรรมกีฬาในระดับซีเกมส์ถึงโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2019 ไปจนถึงปี 2032 เพื่อวางแผนระยะเวลาในการเสนอตัวเป็นผู้จัดอีเวนต์ต่างๆ ประกอบไปกับการสร้างสนามกีฬาชนิดต่างๆ ให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันระดับสากล และระบบการขนส่งโดยมีเป้าหมายคือการที่ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก
สำหรับการเป็นเจ้าภาพของมหกรรมกีฬาระดับสากล หรือแม้กระทั่งการผลักดันชนิดกีฬาเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมการประชุมระดับสากลต่างๆ ที่ผ่านมาคือ ก่อนที่จะดำเนินการผลักดันชนิดกีฬาหรือการเป็นเจ้าภาพจำเป็นต้องมองไปถึงการสร้างประโยชน์ต่อผู้คนในประเทศและอุตสาหกรรมของกีฬาชนิดนั้นๆ และตอบคำถามให้ได้ว่าความจำเป็นที่จะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนจากการก่อสร้างตามแผนต่างๆ มีอะไรบ้าง
เนื่องจากก่อนหน้านี้บางประเทศที่ผลักดันตัวเองเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก มีหลายครั้งที่เราจะเห็นภาพของสนามกีฬาถูกทิ้งร้างหลังจากมหกรรมกีฬาผ่านพ้นไป ซึ่งเป็นบทเรียนที่เจ้าภาพในอนาคตมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนที่จะดำเนินแผนโครงสร้างต่างๆ
ภาพของ Beibei หนึ่งในมาสคอตของการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ถูกทิ้งในห้างสรรพสินค้าที่สร้างไม่เสร็จในปักกิ่ง โดยภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2016 ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล
ภาพ Beibei รวมถึงภาพสนามแข่งขันที่ถูกทิ้งร้างของอดีตเจ้าภาพการแข่งขันต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนมหาศาลในการจัดการแข่งขัน และความท้าทายที่เจ้าภาพได้รับในการดูแลรักษาสถานที่ซึ่งก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการแข่งขัน
แต่นอกจากด้านของเศรษฐกิจแล้ว มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมาหลายครั้งมักถูกใช้เป็นเครื่องมือการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ปฏิเสธเข้าร่วมโอลิมปิก ปี 1980 ที่สหภาพโซเวียต ซึ่งครั้งต่อมาสหภาพโซเวียตเองก็ตัดสินใจบอยคอตไม่เข้าร่วมโอลิมปิกที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี 1984 เช่นเดียวกัน
แต่มาถึงวันนี้ที่คาบสมุทรเกาหลี หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเย็น ได้เริ่มต้นใช้เวทีโอลิมปิกเป็นพื้นที่สำหรับการเริ่มต้นจับมือก้าวพ้นความขัดแย้งในอดีตสู่ความร่วมมือแห่งอนาคต ซึ่งหากพวกเขาสามารถเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนร่วมกันได้ในปี 2032 ชัยชนะในสนามโอลิมปิกครั้งนี้จะยิ่งใหญ่กว่าพื้นที่ของวงการกีฬาอย่างแน่นอน
ภาพประกอบ: Dreaminem
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์