กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพัฒนาคอนแทคเลนส์แบบ Biomimetic ที่ควบคุมการใช้งานด้วยสัญญาณไฟฟ้าจากการเคลื่อนไหวของดวงตา (Electrooculography) และช่วยให้ผู้ใช้ซูมการมองเห็นเข้าและออกได้ด้วยการกะพริบตาแค่สองครั้ง
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาในครั้งนี้มาจากการที่ทีมวิจัยค้นพบว่า ระหว่างที่มนุษย์หลับตานั้น ศักย์ไฟฟ้าที่อยู่บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของดวงตาเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสัญญาณไฟฟ้าควบคุมการทำงานของเลนส์ดังกล่าวที่ผลิตขึ้นจากโพลิเมอร์ และจะขยายขนาดเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า
Shengqiang Cai ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้ให้สัมภาษณ์กับ New Scientist ว่าถึงแม้มนุษย์จะสูญเสียความสามารถในการมองเห็น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังสามารถกลอกลูกตาและสร้างสัญญาณไฟฟ้าจากมันได้ ซึ่งเป้าหมายใหญ่สุดที่นักวิจัยกลุ่มนี้ต้องการจะต่อยอดจากเลนส์ควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยดวงตาคือ การพัฒนา ‘อวัยวะเทียม’ ที่มีฟีเจอร์การใช้งานเหมือนกล้องส่องทางไกลขนาดจิ๋ว ปรับระยะการมองเห็นแบบใกล้-ไกลได้
ขณะที่ในเอกสารที่เผยแพร่บน Advanced Functional Materials ระบุว่า ระบบที่พวกเขากำลังพัฒนาและร่วมกันศึกษานั้น อาจจะสร้างประโยชน์กับแวดวงการแพทย์ในอนาคตได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะการใช้เป็นอวัยวะเทียมหรือแว่นตาที่ปรับแต่งเลนส์การมองเห็นได้ด้วยตัวผู้สวมใส่
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.cnet.com/news/scientists-create-contact-lenses-that-zoom-when-you-blink-twice/?ftag=COS-05-10aaa0b
- futurism.com/the-byte/robotic-contact-lens-zoom-blink
- onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/adfm.201903762?referrer_access_token=D7c1SsULTUUsZm5P86E5OE4keas67K9QMdWULTWMo8Nt-T6CojEAo2uxOeXxvsKJBahv1uMcC3TXX_0bVdVy5OsJMIhbXtVppQH0jesz9uh5zgCBdxadPUf_a9iOmAcRNBpcBdjEiIUFFT52pXBdKhnYKqXu_G5I1MVRbQxT-_0%3D&