×

ตลท. เตือนเกาะติดคำชี้แจงงบการเงิน 1Q66 ของ NUSA หลังผู้สอบบัญชีพบความซับซ้อนการจัดโครงสร้างผู้ขายโรงแรมในเยอรมนี ขีดเส้นตาย 25 ก.ค. นี้

11.07.2023
  • LOADING...
บมจ.ณุศาศิริ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ NUSA ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/66 หลังผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เหตุพบความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรมรวม-สิทธิเครื่องหมายทางการค้า-ใบอนุญาตต่างๆ ในเยอรมนี พร้อมสั่งให้ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้

 

ตลาดหลักแห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ บมจ.ณุศาศิริ หรือ NUSA ได้นำส่งงบการเงินไตรมาส 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในเยอรมนี และบริษัทย่อยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเงื่อนไขการซื้อขายโรงแรมหลายครั้ง 

 

โดยผู้สอบบัญชีให้ความเห็นในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่งบการเงินปี 2564 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เคยให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับงบการเงินปี 2564 และไตรมาส 3/65 โดยเฉพาะเรื่องการซื้อโรงแรมที่เยอรมนี

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ โดยมีรายการสำคัญดังนี้

 

  1. รายการเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนี

เดือนมกราคม 2564 NUSA จะเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนีซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ต่อมาในงบการเงินไตรมาส 3/65 ได้เปลี่ยนเป็นการซื้อหุ้นแทน (เป็นเจ้าของบริษัทที่มีทรัพย์สินเป็นโรงแรมดังกล่าว โดยจ่ายเงินมัดจำให้ผู้ขายแล้ว 624 ล้านบาท (84% ของราคาซื้อไม่เกิน 740 ล้านบาท ขึ้นกับผล Due Diligence)) 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้เปลี่ยนการลงทุนเป็นการซื้อหุ้น (ไม่ระบุชื่อ) โดยยกเลิกสัญญาเดิมและตกลงให้ผู้ขายเดิมคืนเงินมัดจำภายใน 2 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งนี้ ปรากฏข้อมูลว่ามีการเลื่อนเปิดโรงแรมจากไตรมาส 3/66 เป็นปี 2567 ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขว่า ไม่สามารถสอบทานรายการนี้ให้มั่นใจเกี่ยวกับผู้ขายที่แท้จริง และไม่สามารถสรุปได้ว่าจำเป็นต้องปรับปรุงเงินมัดจำค่าซื้อโรงแรมและสิทธิเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือไม่ 

 

หากต้องปรับปรุงจะมีผลกระทบต่องบการเงินอย่างไร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงในประเด็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเงื่อนไขการลงทุนในโรงแรมดังกล่าว ความคืบหน้าและกรอบเวลาในการทำ Due Diligence แล้วเสร็จ เหตุใดจึงไม่เรียกคืนเงินมัดจำทันที และแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ผู้สอบบัญชีสามารถสอบทานรายการดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ และสามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินแบบไม่มีเงื่อนไขได้

 

  1. รายการเกี่ยวกับ บริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 

เดือนกรกฎาคม 2565 NUSA ลงทุนในบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (มอร์ มันนี่) สัดส่วน 30% ซึ่งมีผู้ถือหุ้นอีกสัดส่วน 50% คือบริษัทย่อยของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE และได้วางเงินมัดจำกัดให้แก่มอร์ มันนี่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบริษัทจะปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการร่วมทุน ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกการร่วมลงทุน และขายหุ้นมอร์ มันนี่ โดยได้โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระค่าขาย

 

นอกจากนี้ มอร์ มันนี่ ได้ขอขยายเวลาคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำรวม 57.5 ล้านบาท ออกไปอีก 90 วัน (ครบวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 และวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ตามลำดับ)

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงเหตุผลที่ขยายเวลาคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำ มาตรการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคืนเงินดังกล่าวเมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยาย รวมทั้งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ NUSA ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยให้บริษัทชี้แจง ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเงื่อนไขการลงทุนในโรงแรมดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ NUSA และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

 

  1. ความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ผู้สอบบัญชีได้ให้ข้อสังเกตเรื่องความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่องหลายปี และ ณ สิ้นไตรมาส 1/66 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินสำคัญคือเจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (ณุศา เลเจนด์) รวม 1,723 ล้านบาท

 

โดย China International Economic and Trade Arbitration Commission มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้บริษัทชำระหนี้ของณุศา เลเจนด์ 

 

อย่างไรก็ดี บริษัทได้ยื่นขอเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะยังไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดในมูลหนี้อื่นของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของข้อพิพาทดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเหตุผิดนัดในมูลหนี้อื่นของบริษัท เช่น หนี้หุ้นกู้ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เป็นต้น

 

เนื่องจากประเด็นข้างต้นตามข้อ 1-3 อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอทราบความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบต่อผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างไร

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนติดตามคำชี้แจงของบริษัท โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จากงบการเงินของบริษัท (งวดปี 2564 ถึงไตรมาส 1/66) ข่าวชี้แจงของบริษัทวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising