×

ชวนดู Nuremberg Chronicle หนังสือภาพประวัติศาสตร์โลกสุดคราฟต์อายุกว่า 500 ปี

13.07.2018
  • LOADING...

ชวนมาดูมหาโปรเจกต์หนังสือเล่มสุดอลังการในยุคศตวรรษที่ 14 กับการพิมพ์ Nuremberg Chronicle หนังสือเล่มแรกๆ ที่มีการวางเลย์เอาต์เท็กซ์กับภาพประกอบเข้าด้วยกัน

 

หนังสือ Nuremberg Chronicle (หรือชื่อดั้งเดิมในหน้าแรกของหนังสือว่า Liber Chronicarum เป็นภาษาละติน แปลว่า Book of Chronicles) ตีพิมพ์ในปี 1493 ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งเราอาจจะคุ้นกับชื่อปัจจุบันมากกว่า นั่นคือเมืองเนิร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี) ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือยุคแรกที่จัดวางเนื้อหาได้ดีที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง และยังเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ตีพิมพ์แบบรวมภาพประกอบกับตัวหนังสือเข้าด้วยกันอีกด้วย

 

 

เนื้อหาในเล่มคือการบรรยายประวัติศาสตร์โลกในคติแบบศาสนาคริสต์ อ้างอิงจากพระคัมภีร์ไบเบิล มีการแบ่งออกเป็น 7 บท เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคสร้างโลก น้ำท่วมโลก การเกิดของอับราฮัม กษัตริย์ดาวิด การอพยพจากบาบิลอน ประสูติกาลของพระเยซูคริสต์ ช่วงเวลาปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ปิดท้ายด้วยรายละเอียดของวันสิ้นโลก และการพิพากษาครั้งสุดท้าย

 

 

โปรเจกต์หนังสือ Nuremberg Chronicle ริเริ่มโดยพ่อค้าชาวนูเรมเบิร์กสองคนคือ เซบาลด์ ชไรเยอร์ (Sebald Schreyer) กับลูกเขย เซบาสเตียน คัมเมอร์ไมสเตอร์ (Sebastian Kammermeister) ทั้งคู่เป็นนายทุนในการพิมพ์ ทั้งติดต่อ ฮาร์ตแมนน์ ชีเดล (Hartmann Schedel) นายแพทย์ชาวนูเรมเบิร์ก ให้มาเป็นผู้แต่งหนังสือเล่มนี้, นำทีมศิลปินของ มิคาเอล วอลเกอมุต (Michael Wolgemut) ซึ่งเป็นศิลปินชั้นนำในยุคนั้นมาวาดภาพประกอบหนังสือ รวมถึงจัดเลย์เอาต์ระหว่างเท็กซ์กับภาพ

 

ในสมัยนั้นไม่ได้มีคอมพิวเตอร์หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้จัดทำหนังสือได้อย่างสะดวกสบายเท่ากับสมัยนี้ สิ่งที่นายแพทย์ฮาร์ตแมนน์ทำก็คือการตัดปะตัวหนังสือจำนวนมากจากหนังสือที่เขามีอยู่ โชคดีที่ฮาร์ตแมนน์เป็นนักสะสมหนังสือตัวยง ที่บ้านเขามีห้องสมุดที่รวบรวมเอกสารไว้ถึง 370 ชิ้น และหนังสืออีกกว่า 670 เล่ม เขาใช้ตัวเท็กซ์จากหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งงานปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนวิทยา เพื่อนำมาทำเป็นบล็อกพิมพ์หนังสือภาษาละติน ก่อนจะนำไปให้ จอร์จ ไอลต์ (George Alt) อาลักษณ์ชาวเยอรมันที่สองพ่อค้าจ้างมาแปลเป็นเวอร์ชันภาษาเยอรมันอีกหนึ่งฉบับ

 

 

ตัดภาพไปที่ทางฝั่งภาพประกอบ สตูดิโอของวอลเกอมุตที่มีบล็อกไม้สำหรับทำภาพพิมพ์วู้ดคัตถึง 1,809 ลายไม่ซ้ำแบบกันก็ต้องทำภาพประกอบให้หนังสือเล่มนี้ด้วยการทำงานร่วมกับนักแกะบล็อกไม้ ซึ่งเป็นงานที่หนักและคราฟต์มาก ว่ากันว่าทีมงานต้องแกะวู้ดคัตถึง 645 ชิ้นเพื่อนำมาพิมพ์เป็นภาพประกอบหนังสือ หลายชิ้นเป็นงานขนาดเต็ม 1 หน้าคู่หนังสือ ชิ้นใหญ่ประมาณ 34.2 x 50 เซนติเมตร หนึ่งในนั้นคือภาพเมืองนูเรมเบิร์กหน้าคู่ใหญ่เต็มตา

 

เมื่อได้เท็กซ์กับภาพพร้อมแล้วก็เป็นหน้าที่ของทีมภาพประกอบที่ต้องจัดเลย์เอาต์บล็อกไม้ของแต่ละหน้าหนังสือ ก่อนจะนำไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของ อันทอน คูแบร์เกอร์ (Anton Koberger) เจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ที่มีเครื่องพิมพ์ในครอบครองถึง 24 เครื่อง เรียกว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรปยุคนั้นเลยทีเดียว

 

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 1493 หนังสือ Nuremberg Chronicle ฉบับภาษาละตินได้ตีพิมพ์ออกมาวางขายประมาณ 1,500 เล่ม ก่อนที่จะมีฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ออกมาในวันที่ 23 ธันวาคมของปีเดียวกันอีกราว 1,000 เล่ม หลายเล่มมีการระบายสีภาพประกอบด้วยสีน้ำ และพร้อมกันนั้นยังมีการพิมพ์ภาพประกอบในเล่มออกมาขายเป็นภาพพิมพ์ต่างหากอีกด้วย

 

 

ทุกวันนี้คาดว่ามีหนังสือ Nuremberg Chronicle ราว 700 เล่มทั้งภาษาละตินและเยอรมันที่ยังคงเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือที่หอสมุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่มีฉบับภาษาละตินที่ลงสีน้ำสวยงามไว้ในครอบครอง ซึ่งสามารถไปพลิกดูแบบออนไลน์ได้ที่นี่ หรือถ้าอยากซื้อหาเก็บไว้ก็มีเวอร์ชันของสำนักพิมพ์ Taschen ดูรายละเอียดได้ที่นี่

 

เรียกว่าเป็นผลงานประวัติศาสตร์ชิ้นคลาสสิกที่รวบรวมวิทยาการและศิลปินชั้นนำของยุโรปในยุคนั้นร่วมกันสังฆกรรมทำขึ้นมาจนเป็นหนังสือที่น่าสะสมเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising