3 พฤษภาคม วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก กลุ่มพิทักษ์สิทธิสื่อเผยว่า นักข่าวและผู้ที่ทำงานในวงการสื่อ ทั้งช่างภาพ ช่างตัดต่อ หรือแม้แต่คนรับรถของทีมสื่อ มีแนวโน้มตกเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากงานและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ปัจจุบันมีนักข่าวเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2,500 คน นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะจากเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนใจกลางกรุงคาบูล (Kabul) เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.) และการโจมตีอีกหลายระลอกเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 10 คน เป็นนักข่าวและช่างภาพมืออาชีพที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุ นับเป็นเหตุนองเลือดครั้งรุนแรงที่สุดในวงการสื่อสารมวลชนอัฟกานิสถานในรอบ 15 ปี
สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists: IFJ) เปิดเผยว่า จากเหตุความไม่สงบในอัฟกานิสถานเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตของนักข่าวและคนในวงการสื่อในปี 2018 นี้ พุ่งสูงถึง 32 คนแล้ว ซึ่งมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน (1 ม.ค.-1 พ.ค.) ของปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า
จำนวนยอดผู้เสียชีวิตของนักข่าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทีละนิดในแต่ละปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่สงครามอิรักเปิดฉากขึ้นในปี 2003 ส่งผลให้อีก 3 ปีต่อมามีนักข่าวและคนในวงการสื่อเสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 155 คน และตามมาด้วย 135 คนในปี 2007
สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติยังเปิดเผยอีกว่า นับตั้งแต่ปี 1990-2017 มีนักข่าวและคนในวงการสื่อเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในอิรักมากที่สุดในโลก ตามมาด้วยประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ปากีสถาน และรัสเซีย ตามลำดับ โดยในปีที่ผ่านมามีนักข่าวและคนในวงการสื่อเสียชีวิต 82 คน (เสียชีวิตที่เม็กซิโกมากที่สุด 13 คน) น้อยที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ แม้ความขัดแย้งและความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่
นอกจากยอดผู้เสียชีวิตแล้ว คณะกรรมการพิทักษ์สื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists: CPJ) ยังได้ติดตามสำรวจจำนวนนักข่าวและคนในวงการสื่อที่ต้องโทษจำคุกจากการปฏิบัติหน้าที่ พบว่าในปีที่ผ่านมามีนักข่าวและคนในวงการสื่อถึง 262 คน ต้องโทษจำคุก นับเป็นจำนวนสถิติที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี โดยต้องโทษจำคุกที่ตุรกีมากที่สุดถึง 73 คน ตามมาด้วยจีน 41 คน และอียิปต์ 20 คน
อ้างอิง: