×

สธ. เผยตัวเลขอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ 17,775 ราย เพิ่มขึ้น 19.26% เหตุไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

โดย THE STANDARD TEAM
16.04.2023
  • LOADING...
ตัวเลข อุบัติเหตุ สงกรานต์

วันนี้ (16 เมษายน) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11-16 เมษายน 2566 ช่วงเวลา 08.00 น. พบว่า มีผู้บาดเจ็บสะสม 17,775 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 19.26% มีผู้เสียชีวิตสะสม 232 ราย ลดลงจากปีก่อน 26.81% ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสะสม 3,814 ราย เพิ่มขึ้น 81.84% 

 

โดยจังหวัดที่เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย เชียงราย 9 ราย และปทุมธานี 8 ราย 

 

ส่วนจังหวัดที่บาดเจ็บสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงใหม่ 811 ราย นครราชสีมา 782 ราย และขอนแก่น 665 ราย

 

“ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 10.77, 91.95 และ 31.51% ตามลำดับ ซึ่งการดื่มแล้วขับทำให้ขาดสติ ความสามารถในการขับขี่ลดลง จึงเน้นย้ำเรื่องขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ส่วนการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยและไม่สวมหมวกนิรภัย ยิ่งส่งผลให้การบาดเจ็บมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า วันที่ 16-17 เมษายน 2566 เป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหรือจากการไปท่องเที่ยว ทำให้สภาพการจราจรมีความแออัด ประกอบกับอากาศร้อน ทำให้อ่อนเพลียระหว่างขับรถได้ง่าย และบางพื้นที่มีพายุฤดูร้อน ทำให้มีฝนตก การขับรถจึงยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง 

 

โดยขอให้ผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอก่อนการเดินทาง ตรวจเช็กสภาพรถให้มีความพร้อม ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกนิรภัย ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงลงหากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากมีอาการอ่อนล้าหรือง่วงให้แวะจอดพักผ่อน เพื่อป้องกันการหลับใน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาล 

 

ส่วนข้อกังวลเรื่องโรคโควิดที่อาจเพิ่มขึ้น ขอให้เฝ้าสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากมีไข้ ไอ น้ำมูก หรืออาการระบบทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK ระหว่างนี้ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising