×

‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ฝันใหญ่ของไทยและฟิลิปปินส์… ทำไมถึงต้องเลือกกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งในรอบหลายสิบปี

28.03.2024
  • LOADING...
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หลายๆ ประเทศในภูมิภาคกำลังศึกษาการตั้งโรงงานนิวเคลียร์เพื่อรับมือกับวิกฤตพลังงานในอนาคต และเป็นหนึ่งทางเลือกโซลูชันใหม่สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

ทำความรู้จักโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ NPP และ SMR คืออะไร

 

หากลงลึกในเชิงเทคนิค พลังงานที่ผลิตในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดจากการแยกอะตอมจากแกนกลางหรือนิวเคลียสเพื่อให้เกิดพลังงาน ซึ่งกระบวนดังกล่าวเรียกว่า นิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) นั้นไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Power Source)

 

ทว่ากระบวนการกว่าจะสำเร็จไปถึงการเป็นนิวเคลียร์ฟิชชันนั้นไม่ง่าย ต้องผ่านการศึกษาทุกมิติทั้งเชิงเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ

  

สำหรับประเทศไทย หลายโรงไฟฟ้าเอกชน กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็มีแผนศึกษาและเสนอโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Power Plant: NPP) ในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งจะบรรจุในแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ในอนาคต

 

โดย Small Modular Reactor (SMR) คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระดับสูงขนาดจิ๋วที่สามารถผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำได้ด้วยกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม

 

ปัจจุบันจีนและรัสเซียได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับเทคโนโลยี SMR

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ต่างมีแผนผลักดันการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องแล้วเสร็จไม่เกินทศวรรษหน้าหรือปี 2037

 

โดยปัจจัยหลักๆ มาจากแรงผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจเป็นการแข่งขันเพื่อเป็นประเทศแรกที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สำเร็จเป็นแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน

 

โดยล่าสุดประเทศไทยอยู่ระหว่างปรับสัดส่วนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) โดยเฉพาะการปรับสัดส่วนพลังงานสะอาดทั้งจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลม และการนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปัจจุบันเป็นเจน 4-5 เป็นลักษณะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กหรือ SMR  ซึ่งรัฐบาลกำลังมองหาสถานที่ที่มีศักยภาพสำหรับรองรับเครื่องปฏิกรณ์ซึ่งมีกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวต้องทำการศึกษาโดยจะต้องผ่านการประชาพิจารณ์ ภาคประชาสังคม ผลกระทบทุกด้าน

 

ทำไมไทย-ฟิลิปปินส์เร่งปัดฝุ่นแผนพลังงานนิวเคลียร์

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีการหารือถึงการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2000 นับตั้งแต่เหตุการณ์การล่มสลายของโรงงานฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Plant) ของญี่ปุ่นในปี 2021 ล้มเลิกโครงการไป กระทั่ง Small Modular Reactor หรือที่รู้จักกันว่า SMR จุดประกายทำให้ไทยกลับมา ‘ปัดฝุ่น’ แผนพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

 

เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

Credit: Tomohiro Ohsumi / Getty Images

 

โดยในรายงานระบุว่า SMR ผลิตพลังงานน้อยกว่าเครื่องปฏิกรณ์ทั่วไป และถือว่าปลอดภัยกว่า โดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาโซลูชันนี้

 

ย้อนไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2022 ยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สหรัฐฯ เคยออกมาระบุว่าจะให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยีสำหรับ SMR แก่รัฐบาลไทย

 

กระทั่งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าไทยได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้การสร้างพลังงานนิวเคลียร์กับ Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา โดยเศรษฐาย้ำว่า “ประเทศไทยจะศึกษาวิจัยในเรื่องความปลอดภัยของ SMR และศึกษาข้อมูลในทุกมิติอย่างรอบคอบ

 

“เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศใกล้จะหมดลง และความต้องการไฟฟ้าของประเทศก็เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบายมุ่งสู่การลดคาร์บอนให้เป็นกลางภายในปี 2050 ทำให้ไทยต้องวางแผนความมั่นคงด้านพลังงานให้มีเสถียรภาพเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่กำลังจะหมดไป”

 

รายงานข่าวจาก Nikkei Asia ระบุอีกว่า แม้แต่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ก็ออกมาระบุในปีที่แล้วว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต”

 

ฟิลิปปินส์จับมือ ‘NuScale’ ทุนอเมริกัน

 

สำหรับฟิลิปปินส์ซึ่งเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานไม่ต่างกัน จึงมีแผนจะเปิดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ในช่วงต้นทศวรรษปี 2030 โดยปีที่แล้วฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมไฟเขียวแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนิวเคลียร์ระหว่างกัน

 

โดยมีบริษัท NuScale สัญชาติอเมริกัน จะเข้าไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กให้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Small Modular Reactors หรือ SMR เช่นกัน โดยใช้เงินลงทุน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 250,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์ในภูมิภาคอาเซียน

 

ฟิลิปปินส์หวังแก้วิกฤตพลังงาน รื้อแผนโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แห่งแรกของอาเซียน หลังปล่อยทิ้งร้างนานกว่า 3 ทศวรรษ

Credit: Pacific Press / Getty Images

 

หากย้อนดูแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟิลิปปินส์พยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานแล้วที่บาตาอันในเกาะลูซอน นำโดย Ferdinand Marcos อดีตประธานาธิบดี แต่แผนการเปิดโรงงานกลับถูกยกเลิกไป จากการต่อต้านและการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในปี 1986 กระทั่งนำไปสู่การจากไปของ Marcos และเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Disaster) ในปีเดียวกัน

 

ปัจจุบันลูกชายของ Marcos นั่นก็คือ Ferdinand Marcos Jr. ประธานาธิบดีคนปัจจุบันต้องการ ‘สานฝันสิ่งที่พ่อคิดไว้ให้เป็นจริง’ จึงนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาปัดฝุ่นอีกครั้ง

 

อินโดนีเซีย-เมียนมา ก็ไม่ขอตกขบวน

 

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 270 ล้านคน ก็มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000-2,000 เมกะวัตต์ ภายในต้นปี 2573 จากปัจจุบันที่อินโดนีเซียมีถ่านหินมีสัดส่วนประมาณ 60% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ทั้งนี้ อินโดนีเซียมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเช่นกัน

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ารัฐบาลทหารเมียนมากำลังกระชับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับรัสเซีย ท่ามกลางอำนาจอันโดดเดี่ยวของภาคประชาคมและนานาประเทศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นความเสี่ยงที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์นี้จะนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการทหาร

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีข้อกังวลความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น การพบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 ที่หายไปจนค้นหาพบในโรงงานถ่านหินแห่งหนึ่งของไทย ย่อมสะท้อนถึงปัญหาการควบคุมและการดูแลที่ ‘หละหลวม’

 

Kei Koga รองศาสตราจารย์จาก Singapore’s Nanyang Technological University กล่าวว่า “หากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนร่วมในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจระดับโลกในการส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ก็อาจนำไปสู่การแตกแยกในภูมิภาคได้ และยังชี้แนะว่าแต่ละประเทศควรสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและป้องกันการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยกำหนดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual Use)

 

ณ วันนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จากข้อกังวลหลายๆ ปัจจัย

 

สำหรับไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงานวิเคราะห์พลังงานนิวเคลียร์ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยในขณะนี้ จากสาเหตุคือต้นทุนแพง-กำลังผลิตไฟฟ้ายังเหลือในระบบ

 

 

ส่วนฟิลิปปินส์ก็มีโรงงานแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ แม้มีการศึกษามายาวนานหลายปี อีกทั้งล่าสุดมีการรายงานข่าวตั้งคำถามถึงศักยภาพและพบข้อมูลข้อสงสัยการปลอมแปลงสัญญาของ ‘NuScale Power’

 

ด้วยเหตุผลความมั่นคงทางพลังงานและเป้าหมายการลดคาร์บอน ไทยและเพื่อนบ้านต่างพร้อมใจกันผลักดันพลังงานนิวเคลียร์

 

ทว่าผลกระทบมิติความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ซึ่งจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่นก็เป็นบทเรียนให้กับญี่ปุ่นและนานาประเทศต้องคำนึงสูงสุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising