วานนี้ (23 มกราคม) กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูออกแถลงการณ์ว่า พวกเขายังคงระดับของเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ไว้ในจุดที่เข้าใกล้เส้นตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ในหลายสมรภูมิรบ รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับสถานการณ์โลกรวนที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผลักดันให้โลกเข้าใกล้เขตแดนของหายนะมากขึ้น
รู้จักนาฬิกาวันสิ้นโลก
นาฬิกาวันสิ้นโลกเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นโดยสมาคม Bulletin of the Atomic Scientists เมื่อปี 1947 อันเป็นช่วงที่บรรยากาศโลกคุกรุ่นด้วยสงครามเย็น เพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนผลการกระทำของมวลมนุษยชาติที่ก่อให้เกิดผลพวงอันเลวร้ายต่อโลก และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อย้ำเตือนมนุษย์ทุกคนว่า ‘วันโลกาวินาศ’ อยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน
สมาคมฯ ใช้นาฬิกาวันสิ้นโลกนี้เพื่อส่งสัญญาณเตือนอันตราย แต่ก็เน้นย้ำว่านาฬิกาวันสิ้นโลกไม่ได้ทำหน้าที่ทำนายอนาคตแต่อย่างใด แต่ใช้สำหรับการวิเคราะห์เหตุการณ์ระหว่างประเทศ รวมถึงแนวโน้มและความพยายามของรัฐต่างๆ เพื่อหาวิถีทางในการบรรเทาเหตุการณ์เลวร้ายเท่านั้น
สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
สำหรับปี 2024 นี้ สมาคมฯ ตั้งเข็มนาฬิกาไว้ที่เหลือ 90 วินาทีก่อนจะถึงเวลาเที่ยงคืน อันเป็นเส้นตายตามทฤษฎี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อปี 2023 และเป็นระดับที่เข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนมากสุดเป็นประวัติการณ์
เรเชล บรอนสัน ประธานและซีอีโอของสมาคมฯ เปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า สำหรับปี 2024 พวกเขาเล็งเห็นความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีจุดวาบไฟอันเป็นพื้นที่ปะทะของกลุ่มหรือประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกัน ภาวะโลกรวนก็ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง ปี 2023 ที่ผ่านมานั้นเป็นปีที่โลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ สลับกับภาพภัยพิบัติทางธรรมชาติแสนเลวร้ายที่โหมกระหน่ำตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่หรือไฟป่า ส่งผลให้ผู้คนและสัตว์น้อยใหญ่ต่างล้มตาย ขณะที่มีประชากรโลกอีกหลายล้านได้รับผลกระทบ
ส่วนเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาพลิกโฉมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น AI หรือเทคโนโลยีชีวภาพ ก็พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยขาดนโยบายป้องกันที่เหมาะสม
บรอนสันย้ำด้วยว่า การที่ทางสมาคมฯ ไม่ได้ขยับเข็มให้เข้าใกล้เที่ยงคืนมากกว่าระดับของปี 2023 ไม่ได้แปลว่าโลกเรามีเสถียรภาพมากขึ้นแต่อย่างใด
สถานการณ์นิวเคลียร์น่ากังวล
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เราได้เห็นชาติใหญ่ๆ อย่างจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่ทุ่มทั้งเงินละสรรพกำลังมหาศาลในการขยายหรือพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะมาจากความไม่ตั้งใจหรือเกิดการคำนวณที่ผิดพลาดก็ตาม
ขณะสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีนั้น ก็ไม่อาจตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่ว่ารัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าจริงๆ ในสักวันหนึ่ง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ประกาศระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญา New START ซึ่งเป็นข้อตกลงจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ และรัสเซียสามารถนำมาประจำการได้
โดยภายใต้สนธิสัญญานี้ รัสเซียและสหรัฐฯ ตกลงกันว่าแต่ละฝ่ายจะมีหัวรบประจำการที่พร้อมใช้งานไม่เกิน 1,550 หัวรบ ซึ่งเป็นการจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ให้อยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ และจำกัดปริมาณเครื่องบินทิ้งระเบิดให้อยู่ที่ไม่เกิน 700 ลำ และขีปนาวุธพิสัยไกลที่ไม่เกิน 700 ลูก โดยในแต่ละปีทั้งสองฝ่ายสามารถตรวจสอบคลังอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ของอีกฝ่ายได้สูงสุด 18 ครั้งด้วยกัน ซึ่งในเวลานั้นเพนตากอนมองว่าหากสนธิสัญญาได้รับการต่ออายุไปเรื่อยๆ ชาวอเมริกันจะมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทั้งสองชาติเป็นปรปักษ์ต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายวิเคราะห์ว่า หากสนธิสัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีการต่ออายุ อาจนำไปสู่การแข่งขันผลิตอาวุธทางยุทธศาสตร์ ทั้งจำนวนหัวรบนิวเคลียร์และระบบยิงขีปนาวุธที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย
ปัจจุบันรัสเซียและสหรัฐฯ ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของจำนวนทั้งหมดในโลก หรือมากพอที่จะทำลายล้างโลกนี้ได้
ภาพ: HANDOUT / Hastings Group Media / AFP
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/science/atomic-scientists-keep-doomsday-clock-close-midnight-ever-2024-01-23/
- https://www.reuters.com/world/what-is-new-start-nuclear-arms-treaty-2023-02-21/
- https://thebulletin.org/doomsday-clock/current-time/
- https://www.cbsnews.com/news/doomsday-clock-unprecedented-danger-inches-world-closer-to-global-catastrophe/