×

“รอให้ถึงพรุ่งนี้อาจสายเกินไป” 2019 ปีแห่งความซึมเศร้าของวงการเคป๊อป

27.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • “ภาพที่มองเห็นวงการเคป๊อปสวยงามมากๆ แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็เป็นสาเหตุที่ทำร้ายคนที่อยู่ข้างในนั้น รวมทั้งทำให้เกิดแผลทางจิตใจอย่างรุนแรง จากการแข่งขันและความคาดหวังที่สูงมาก คุณจะรู้สึกพ่ายแพ้ที่ไปได้ไม่ถึงความคาดหวังนั้น แม้ว่าคุณจะทำดีที่สุดแล้ว และต้องได้ยินได้ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์” พัคซังฮี อดีตสมาชิกวง S.O.S ไอดอลสาวที่ผันตัวมาเป็นจิตแพทย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ
  • “มันเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีมองเซเลบริตี้หญิงเป็นตุ๊กตาหรือวัตถุทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งซอลลี่พิเศษกว่านั้น เธอต้องการอิสระในชีวิต โดยไม่สนใจว่าผู้คนในสังคมจะมองเธออย่างไร” นักข่าวจาก The Hankyoreh ได้ให้ข้อคิดเห็นหลังการเสียชีวิตของซอลลี่
  • ในปี 2019 WHO เปิดเผยสถิติการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก (นับเป็นการฆ่าตัวตาย 26.9 คนต่อประชากร 100,000 คน) รองจากประเทศลิทัวเนีย รัสเซีย และกายอานา แม้ว่าส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนที่มีตัวเลขสูงขึ้นจากสถิติในปี 2010 ด้วยความเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่

นับเป็นปีแห่งความซึมเศร้าและสูญเสียของวงการเคป๊อป ขณะเดียวกัน 2019 ยังเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญที่ทำให้สังคมเกาหลีหันมาให้ความสนใจกับปัญหา Cyberbullying รวมถึงสุขภาพจิตใจของศิลปินและผู้คนทั่วไปอย่างจริงจัง

 

ข่าวการเสียชีวิตของ จอนมีซอน ซอลลี่ คูฮารา ชาอินฮา ในครึ่งปี 2019 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา พร้อมคำถามที่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับวงการบันเทิงเกาหลีใต้’ เมื่อผนวกรวมกับการประกาศหยุดพักงานของ คังแดเนียล เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและตื่นตระหนก, แทยอน สมาชิกวง Girls’ Generation ออกมายอมรับว่ากำลังต่อสู้กับอาการซึมเศร้า หรือย้อนไปในปี 2017 โชอา จากวงเกิร์ลกรุ๊ป AOA ขอถอนตัวจากวงเนื่องจากปัญหาการนอนไม่หลับและอาการซึมเศร้า รวมถึงการตัดสินใจจบชีวิตของ คิมจงฮยอน วง SHINee พร้อมข้อความที่ทิ้งไว้ “ผมแตกสลายภายใน โรคซึมเศร้ากลืนกินตัวผมไปจนหมดแล้ว” 

 

กระนั้นไม่ใช่แค่เพียงศิลปินหรือคนในวงการบันเทิงที่มีปัญหาสุขภาพจิตใจ แต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วไปในเกาหลีใต้ด้วย ในปี 2015 The National Health Insurance Service พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือมีกลุ่มอาการซึมเศร้ามากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งในร้อยละ 22.2 จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง ในปี 2019 WHO เปิดเผยสถิติการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากประเทศลิทัวเนีย รัสเซีย และกายอานา แม้ว่าส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนที่มีตัวเลขสูงขึ้นจากสถิติในปี 2010 ด้วยความเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่และสังคม 

 

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวที่เกิดขึ้นและจบไป แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อไม่ให้มีใครต้องทุกข์ทรมานกับการมีชีวิตอยู่

 

อ่านต่อ 

“ผมกลัวพระอาทิตย์ขึ้นวันพรุ่งนี้” Kang Daniel ประกาศหยุดพักงานเพลงเพื่อรักษาสภาพจิตใจ hestandard.co/kang-daniel-to-take-break-from-activities-on-his-mental-health/

คลิปวิดีโอ คูฮารา ขอบคุณที่สร้างความสวยงามให้เราได้จดจำ thestandard.co/goo-hara/

คลิปวิดีโอ ซอลลี่ เราจะจดจำเธอไว้ในแบบนี้ thestandard.co/sulli/

 

เมื่อ ‘เสียง’ ของพวกเธอไม่อาจได้ยิน

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ซอลลี่และคูฮาราต่างยืนอยู่บนจุดสูงสุดของความสำเร็จ ด้วยความสามารถและชื่อเสียงที่ทำให้พวกเธอเป็นที่รักไปทั่วเอเชีย แต่แล้วในปี 2019 พวกเธอเลือกจะจบชีวิตตัวเอง บอกลาโลกที่ ‘เสียง’ ของพวกเธอไม่อาจได้ยิน 

 

ซอลลี่เสียชีวิตในวัย 25 ปี หลังจากตกเป็นเป้าในการ Cyberbullying ทุกคำพูดและท่าทางของเธอกลายเป็นประเด็นที่จะดราม่าได้ตลอดเวลา ยิ่งซอลลี่แสดงความชัดเจนในจุดยืนที่จะเป็นตัวเองอย่างการไม่ใส่บรา ไลฟ์การออกไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อน เรียกรุ่นพี่ที่ทำงานด้วยชื่อแรก แต่สิ่งที่ดูจะหนักหนาที่สุดคือการที่บอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ 

 

คูฮารา วัย 28 ปีก็เช่นกัน แม้ว่ากำลังอยู่ระหว่างทัวร์ผลงานเดี่ยวที่ญี่ปุ่น ชื่อเสียงก็ไม่ช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น และเมื่อซอลลี่เพื่อนรักมาจากไป ข่าวการเสียชีวิตของคูฮาราจึงกลายเป็นความเศร้าระลอกใหม่ในเวลาไม่ถึง 6 สัปดาห์ สำหรับ คูฮารา เธอเองถูก Cyberbullying จากประเด็นการศัลยกรรมใบหน้า และคดีความกับแฟนเก่าที่นำภาพโป๊เปลือยของเธอไปเผยแพร่หลังการทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรถูกลากไปเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ด้วยซ้ำ

 

“ฉันต้องพูดมันออกมาเพื่อตัวฉันเอง มันไม่มีอะไรน่าละอาย เพราะฉันไม่ได้ทำอะไรที่น่าละอาย” คูฮาราโพสต์ข้อความนี้ไว้ในอินสตาแกรม

 

Photo: @koohara_ /Instagram

 

ซอลลี่และคูฮาราทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก ได้รับการปลูกสร้างอย่างพิถีพิถันตั้งแต่วัยรุ่นจนก้าวขึ้นมาเป็นไอดอลหญิงชื่อดังของวงการเคป๊อป เป็นที่รู้จักของแฟนๆ ทั่วโลก เช่นกัน พวกเธอเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากการถูก Cyberbullying อย่างต่อเนื่อง จากการที่เป็นผู้หญิงอายุน้อยแต่กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงออกเรื่องทางเพศ กระทั่งการออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์

 

การเสียชีวิตของทั้งคู่ส่งให้ประเด็นปัญหาสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีเป็นที่จับจ้องมากขึ้น ในยุคสมัยที่ชายหญิงควรได้รับความเท่าเทียม

 

“ถ้าผู้ชายลุกขึ้นมาพูด มันเป็นการพูดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่สำหรับผู้หญิง การลุกขึ้นมาพูดจะถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจและต้องพบกับคำวิพากษ์วิจารณ์” นักข่าวจาก The Hankyoreh ได้ให้ข้อคิดเห็นหลังการเสียชีวิตของซอลลี่ “มันเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีมองเซเลบริตี้หญิงเป็นตุ๊กตาหรือวัตถุทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งซอลลี่พิเศษกว่านั้น เธอต้องการอิสระในชีวิต โดยไม่สนใจว่าผู้คนในสังคมจะมองเธออย่างไร”

 

รยูซังโฮ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลแฮดง ได้ออกมาให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า “เกาหลีใต้ยึดถือแนวความคิดว่าผู้ชายจะต้องได้รับการเคารพ ตรงข้ามกับผู้หญิง สื่อต่างๆ ก็ยังตอกย้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี้ มันจึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมจะไม่ให้ความเห็นอกเห็นใจผู้หญิง”

 

หลังการเสียชีวิตของซอลลี่ เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายปกป้องผู้ถูก Cyberbullying โดยมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Sulli’s Law และการเสียชีวิตของ คูฮารา ก่อให้เกิดการรวบรวมรายชื่อในเว็บไซต์ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้มากกว่า 200,000 รายชื่อใน 1 วัน เพื่อเรียกร้องโทษที่หนักขึ้นสำหรับการคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง 

 

Photo: Goo Hara’s SNS

 

เกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตใจไอดอลเกาหลีใต้

เคป๊อปคือแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเอเชียทุกวันนี้ ธุรกิจมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ส่งให้วงการเคป๊อปยิ่งหอมหวาน วัยรุ่นหนุ่มสาวต่างใฝ่ฝันจะเดินบนเส้นทางนี้ ไม่เฉพาะในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงอีกหลายประเทศที่เด็กเหล่านั้นพร้อมจะเข้าไปสู่ระบบการเทรนที่เข้มงวดของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 

 

ถึงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ต้องยอมรับข้อเสียที่เกิดขึ้น การเสียชีวิตของซอลลี่ได้กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพราะเธอคือหนึ่งในผลผลิตรุ่นแรกๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้ 

 

ซอลลี่ เกิดและเติบโตที่เมืองปูซาน ความฝันคือการเป็นนักแสดง นักร้อง ซึ่งทางครอบครัวสนับสนุน ซอลลี่จึงเข้าสู่วงการในวัยราว 10 ปี เป็นนักแสดงเด็กที่มีผลงานแรกในซีรีส์ดราม่า Ballad of Seodong (2005) รวมถึงซีรีส์และภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ซอลลี่เซ็นสัญญากับ SM Entertainment เป็นหนึ่งในสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) ในปี 2009 ผลงานเพลงประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขายและคำวิจารณ์ จากนั้นซอลลี่กลับมารับงานแสดงซีรีส์ To the Beautiful You (2012) ที่ได้รับความนิยมล้นหลามและทำให้เธอได้รับรางวัลจาก SBS Drama Awards ในปี 2014 ซอลลี่หยุดพักงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต ปีต่อมาเธอถอนตัวออกจากวง f(x) กลับมารับงานแสดงอีกครั้งในปี 2017 และมีผลงานเพลงเดี่ยวในซิงเกิล Goblin ปี 2019 ซึ่งเป็นผลงานเพลงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 

 

ขณะที่ความฝัน ชื่อเสียง และเงินทอง เป็นด้านที่งดงามของวงการเคป๊อป ก็ต้องยอมรับว่ามีด้านมืดที่แสนเศร้า แลกมาด้วยช่วงเวลาวัยรุ่น อิสรภาพ ความเครียด ความคาดหวัง การฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อสเตปการเต้นที่แม่นยำ การทำงานหนักติดต่อกันหามรุ่งหามค่ำ ทั้งการต้องอยู่ในกรอบของทางต้นสังกัดที่เข้ามาควบคุมชีวิตส่วนตัว รูปร่างหน้าตา เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบที่สุด เหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดการ Burnout และบาดแผลในจิตใจโดยไม่รู้ตัว 

 

เมื่อผนวกรวมกับพื้นฐานสังคมเกาหลีใต้ที่มีรูปแบบสังคมชนชั้น วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ค่านิยมที่เรียนหนังสืออย่างหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อหน้าที่การงานดีๆ ให้ครอบครัวได้รับการยกระดับ และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ก็ยังมีปัญหาการถูก Cyberbulling อย่างดุเดือด นี่จึงกลายเป็นกับดักที่ทำให้เด็กหลายคนเติบโตท่ามกลางแสงไฟอย่างผุกร่อน

 

“ภาพที่มองเห็นวงการเคป๊อปสวยงามมากๆ แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็เป็นสาเหตุที่ทำร้ายคนที่อยู่ข้างในนั้น รวมทั้งทำให้เกิดแผลในใจอย่างรุนแรง จากการแข่งขันและความคาดหวังที่สูงมาก คุณจะรู้สึกพ่ายแพ้ที่ไปได้ไม่ถึงความคาดหวังนั้น แม้ว่าคุณจะทำดีที่สุดแล้วและยังต้องได้ยินได้ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์” พัคซังฮี อดีตสมาชิกวง S.O.S ไอดอลสาวที่ผันตัวมาเป็นจิตแพทย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุหลังการเสียชีวิตของคิมจงฮยอนในปี 2017 เธอยังบอกอีกว่า เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคือ เหล่าไอดอลเมื่อขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงแล้วจะยิ่งโดดเดี่ยว พวกเขาจะรู้สึกว่าต้องเข้มแข็ง ไม่ยอมบอกเล่าความไม่สบายใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับใคร จนสะสมกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจ ทั้งยังไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า 

 

ควอนจุนฮยอบ บรรณาธิการ Vice Korea ผ่านประสบการณ์การสัมภาษณ์ศิลปินเคป๊อปมากมาย พบว่าพวกเขาได้แชร์เรื่องราวอาการซึมเศร้าและความคิดที่หดหู่ บางคนได้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แต่ผู้จัดการของไอดอลเหล่านั้นก็ขอร้องให้ลบส่วนที่สัมภาษณ์เหล่านี้ออกไป “ผมสังเกตว่าศิลปินเคป๊อปรุ่นเล็กๆ ที่เพิ่งเดบิวต์ได้ไม่นานจะถูกจัดการเรื่องการตอบคำถาม ความคิดเห็น และเรื่องส่วนตัว ซึ่งจะค่อนข้างเข้มงวดมากถ้ามาจากค่ายใหญ่ๆ ผมเข้าใจว่าทางค่ายต้องการปกป้องศิลปินของพวกเขา แต่การควบคุมแบบนี้ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้มันเป็นปัญหาขึ้นมาไม่ใช่แค่คอมเมนต์แง่ลบและการ Cyberbullying แต่การที่เราไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาของแฟนๆ และการวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาได้ ยิ่งศิลปินที่เริ่มเปิดเผยความคิด ทัศนคติ และตัวตนของพวกเขาออกไป ยิ่งต้องเจอกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้” 

 

รยูซังโฮ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลแฮดง เมืองปูซาน ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาด้านสุขภาพจิตทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับไอดอล คนนับล้านในเกาหลีใต้มีอาการซึมเศร้าหรือมีปัญหาสภาพจิตใจ แต่พวกเขามักจะไม่ยอมรับการรักษาหรือกินยา เพราะกลัวจะถูกมองว่ามีจิตใจที่อ่อนแอ จริงๆ แล้วโรคที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ซึ่งสังคมเกาหลีใต้ต้องให้ความใส่ใจเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”

 

“At times I’m scared of myself too, thanks to self-hatred and / The depression that pays a visit / Min Young is already dead (I killed him) / Comparing my dead passion with others has long been my daily life” The Last, Agust D

 

ชูก้า สมาชิกวง BTS เคยเปิดเผยถึงอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลของเขาผ่านการสัมภาษณ์กับ Yonhap เกี่ยวกับเพลง The Last ที่เขาทำผลงานในชื่อ Agust D “ผมวิตกกังวลและอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดมา และการที่คุณเลือกจะเป็นเพื่อนกับมัน ก็ต้องการทั้งชีวิตในการทำความเข้าใจ”

 

IU ศิลปินสาวที่มีปัญหาสภาพจิตใจ เธอเองเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่การถูก Cyberbullying เรื่องรูปร่างในช่วงแรกๆ ที่เริ่มงานเพลง จนต้องเข้ารับการรักษา ก่อนจะใช้ความสามารถพิสูจน์ให้เห็นความสามารถ IU ได้เล่าเรื่องนี้ระหว่างคอนเสิร์ตของเธอในปี 2016 “ในปี 2014 หลังปล่อยอัลบั้มออกไป มีคนชอบฉันเยอะมาก แต่ในมุมหนึ่งฉันก็รู้สึกแปลกและเริ่มซึมเศร้า ชื่อเสียงทำให้ฉันสงสัยว่าตัวฉันเองควรได้รับคำชื่นชมเหล่านั้นไหม ฉันไม่สามารถดีใจไปกับคำชมเหล่านั้น ฉันเริ่มดูถูกตัวเอง จริงๆ แล้วปีนั้นเป็นปีที่ฉันควรมีความสุขที่สุด แต่ฉันก็ไม่อาจเชื่อถือตัวเอง เป็นปีที่ยากลำบากที่จะผ่านพ้นมันไป ฉันเริ่มนอนไม่หลับ ฉันนอนไม่ได้เลย มันทำให้ฉันทำอะไรที่ต้องทำตอนกลางวันไม่ค่อยได้ และมันก็กลายเป็นกิจวัตรที่ทำซ้ำๆ จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา”

 

แทยอน จากวง Girls’ Generation ได้ตอบคำถามแฟนๆ ใน Instagram Stories เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 คำตอบหนึ่งระบุว่าเธอเคยมีปัญหาสภาพจิตใจ และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการรักษาเพื่อกลับคืนมาปกติ

 

คิมฮีชอล สมาชิกวง Super Junior ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ ฮันเกิง เพื่อนสนิทออกจากวง Super Junior เขาก็กลายเป็นซึมเศร้า เพราะว่าทั้งคู่สนิทกันมาตั้งแต่ก่อตั้งวงใหม่ๆ เขาเริ่มขังตัวเองในห้องกับแมวสองตัวไม่คุยกับใครเป็นเวลาสามเดือน อาการเริ่มแย่ลงเพราะเขาไม่ออกไปพบใคร สุดท้ายเพื่อนๆ ในวงโดยเฉพาะอึนฮยอก ที่ช่วยให้เขาผ่านเวลาที่ยากลำบากมาได้

 

ซูจี นักแสดงสาวที่เพิ่งมีผลงานซีรีส์ Vagabond ก็เคยมีอาการซึมเศร้าระหว่างที่พยายามทำงานหนักและแบกรับความคาดหวังจากสังคม ซูจีเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Healing Camp ว่า ช่วงปี 2013 เธอทุกข์ทรมานจากอาการซึมเศร้าเนื่องจากตารางงานที่แทบไม่ได้หยุดพัก แม้ว่าจะมีเวลาไปคุยกับเพื่อน มีเวลาหัวเราะด้วยกันบ้าง แต่เธอกลับร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว 

 

ทาโบล จากวง Epik High แรปเปอร์ชื่อดังของเกาหลีใต้ เคยให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าเขามีประวัติซึมเศร้าจากการถูกใส่ร้ายเรื่องปลอมผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นคดีความใหญ่โตลุกลามไปถึงครอบครัว กว่าเรื่องราวจะพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ได้ปลอมผลการศึกษาอย่างที่สังคมประณาม ทาโบลก็เก็บตัวอยู่ในบ้านเพราะกลัวการถูกทำร้าย ในช่วงนั้นเขาได้ ฮารุ ลูกสาวตัวน้อยช่วยให้ผ่านเวลาที่ยากลำบากมาได้ “ฮารุเดินเข้ามาในห้อง ถามว่าทำไมถึงร้องไห้ แล้วยังเช็ดน้ำตาให้ผม”

 

มันเป็นเรื่องปกติที่ใครสักคนจะซึมเศร้า วิตกกังวล ตื่นตระหนก หรือมีปัญหาสภาพจิตใจ มันคือความปกติธรรมดาที่จิตใจผู้คนถูกกัดกร่อนด้วยสภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียด ดังนั้นจงร้องขอความช่วยเหลือ จงพูดออกมา เพราะคุณไม่ใช่คนอ่อนแอ แต่เพียงเป็นโรคอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และรักษาให้หายได้

 

แสงสว่างมีอยู่เสมอ เพียงแต่ในบางเวลามันช่างมืดหม่นและดูไม่มีทางออก ยิ่งโลกหมุนเร็ว เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเท่าไร ยิ่งส่งผลกับปัญหาทางจิตใจมากขึ้นเท่านั้น ในอนาคตโรคที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจจะกลายเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ เพียงแต่ว่าในปี 2019 การสูญเสียของวงการเคป๊อปเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าปัญหานี้ต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน 

 

อ่านต่อ 

ก้าวผ่านโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ thestandard.co/coverstory3/

ทราย เจริญปุระ ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า ที่ไม่ต้องปิดเพราะเราแค่ป่วย

thestandard.co/podcast/ruok09/

เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานจากโรคซึมเศร้า เปลี่ยนบทเพลงให้กลายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ thestandard.co/culture-music-depressive-disorder-inspire-to-create-songs-for-therapy-mdd-patient/

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising