เมื่อวันก่อนผมยืนอยู่หน้าแผงนิตยสารร้าน B2S ชั้น 7 ห้างเซ็นทรัล ชิดลม และพบว่าตัวเองอยู่ในภวังค์ความรู้สึกที่ใจหายและจะใช้คำว่า ‘เครียด’ ก็อาจไม่ดูเวอร์เกินไป เพราะย้อนกลับไปแค่ 2-3 ปีก่อนช่วงเวลานี้ ทางร้านนี้ยังมีแผงนิตยสารที่แบ่งออกเป็นสี่ล็อกใหญ่ แต่มาวันนี้ทุกอย่างถูกลดขนาดมาอยู่ร่วมกันหนึ่งแผงขนาดเล็ก แถมในตัวอย่างหนัง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ของ เต๋อ นวพล ตัวละคร ‘จีน’ ที่ ออกแบบ ชุติมณฑน์ เล่นก็พูดว่า “สิ่งพิมพ์ตายหมดแล้วมึง” ซึ่งจะดูกี่รอบก็น่าใจหาย
ผมถามตัวเองในใจ “เรามาถึงขั้นนี้แล้วเหรอ” แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานตัวเองที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสื่อที่ทำให้แผงหนังสือถูกลดขนาดลง
แต่ผมควรจะดีใจไหม… ควรภูมิใจไหมที่เหมือนย้ายไปอยู่ใน ‘เซฟโซน’ ควรไปอีเวนต์และเล่นใหญ่พร้อมแอตติจูดว่า “เธอรู้ไหมว่าเว็บไซต์ฉันไปไกลขนาดไหนภายในเวลา 2 ปีครึ่ง” ไหม
คำตอบง่ายๆ คือ “ไม่”
เพราะการทำนิตยสารแฟชั่นคือรากฐานและรากเหง้าที่ช่วยสร้างทุกมุมมองและทุกความคิดของผม และแน่นอนในวันข้างหน้าผมคงต้องรายงานว่า ‘นิตยสาร A, B, C, D, E’ ประกาศปิดตัวลง หรือลดจำนวนเล่ม หรือเปลี่ยนเป็นออนไลน์ ซึ่งคนก็จะมาคอมเมนต์มากมายว่า ‘เสียใจมากเลย’, ‘พิมพ์ต่อได้ไหม’ หรือ ‘ฉันยังจำได้ถึงเล่มแรกที่ซื้อ’ ซึ่งในวันนั้นเราก็คงเห็นความสำคัญของนิตยสารต่อมนุษย์เราไม่มากก็น้อย แต่มันก็คงสายเกินไป
ช่วงเวลานี้ทุกปี ทางทีมนักเขียน THE STANDARD ก็ต้องเริ่มผลิตคอนเทนต์ Now & Next ที่พูดถึงบทสรุปของปีในแต่ละวงการ พร้อมวิเคราะห์และคาดเดาว่าปีต่อไปวงการนั้นๆ จะเดินหน้าไปทิศทางไหนเพื่อเป็นคู่มือให้คนได้เตรียมตัวสำหรับวันข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่พูดกันตามตรงครับ ยุคสมัยนี้แค่สัปดาห์ถัดไปเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยิ่งเป็นวงการแฟชั่นยิ่งไม่ต้องคิด
ผมจึงตัดสินใจว่าปีนี้อยากย้อนกลับไปตั้งแต่นับหนึ่งและเขียนบทความนี้เพื่อขอบคุณ ‘นิตยสารแฟชั่น’ และหวังว่าจะเป็นพลังผลักดันรุ่นพี่และเพื่อนๆ ในวงการที่ยังคงกัดฟันทำต่อไปในสภาวะที่ไม่มีความแน่นอน แต่เพราะความรัก สปิริต และความเชื่อมั่นของพวกเขาที่ยังคงเซฟรูปแบบสื่อนี้ได้
ผมต้องยอมรับว่าไม่ได้คลั่งไคล้นิตยสาร ‘แฟชั่น’ มาตั้งแต่เด็กเหมือนท่านอื่นๆ ที่ต้องตัดภาพออกมาแปะบนฝาผนังห้องนอน หรือทำเป็นคอลลาจในหนังสือ Scrapbook แต่ความทรงจำแรกของผมกับนิตยสารก็คือตอนไปร้าน Tower Records ที่สาขาเวิลด์เทรด (ตอนนี้คือเซ็นทรัลเวิลด์) ทุกวันอาทิตย์กับคุณพ่อ และต้องขอร้องให้ซื้อนิตยสารเพลง Smash Hits เล่มใหม่ หรือไป Asia Books ก็ต้องรีบไปหยิบนิตยสาร Disney Adventures ซึ่งผมก็จะอ่านทุกอย่าง ทุกคอลัมน์ แม้กระทั่งกรอบ ‘Did You Know?’ เล็กๆ ตรงมุม… พูดง่ายๆ นิตยสารมีความสำคัญมากกว่าหนังสือในห้องเรียน
แต่ถ้าให้พูดถึง ‘นิตยสารแฟชั่น’ ความทรงจำแรกจริงๆ ก็เกิดขึ้นเพียง 10 ปีที่แล้วตอนที่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัย และผมเริ่มคลั่งไคล้ศิลปินคนหนึ่งชื่อ Stefani Germanotta หรือที่รู้จักกันในนาม Lady Gaga อย่างมาก จนต้องสะสมทุกเล่มที่เธอขึ้นปก เช่น V Magazine, Time, i-D, Vogue, Elle, Harper’s Bazaar และ Vanity Fair และสิ่งที่ผมเริ่มทำก็คือเหมือนตอนเด็กๆ ที่ต้องอ่านทุกอย่าง รวมถึงหน้า Masthead ว่าใครทำตำแหน่งอะไร ทำคอลัมน์ไหน สไตลิสต์ ช่างภาพเซตปกคือใคร ใครคือบรรณาธิการแฟชั่น ใครคือบรรณาธิการบทความ หรือแม้กระทั่งใครคือผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร… ผมดูบ้าเกินไปไหม?
และยิ่งมากไปกว่านั้น ผมเริ่มย้อนอดีตและศึกษาเกี่ยวกับบรรณาธิการคนสำคัญของวงการนิตยสารแฟชั่นอย่างจริงจัง แม้หลายคนทำงานตอนผมยังไม่เกิด ตั้งแต่ Diana Vreeland, Carmen Snow, Tina Brown, Liz Tilberis, Andre Leon Talley, Grace Mirabella, Beatrix Miller จนถึงทุกวันนี้กับชื่อที่เราอาจคุ้นหู Anna Wintour, Grace Coddington, Stephen Gan, Virginia Smith, Edward Enninful, Sarah Harris, Nina Garcia และที่ส่วนตัวชื่นชอบมากตอนนี้ Laura Brown แห่งนิตยสาร Instyle อเมริกา และ Hanya Yanagihara แห่ง T Magazine
แต่สำหรับผม การศึกษาคนพวกนี้ไม่ใช่ว่าเราอยากจะก๊อบปี้ตัวตนของเขาและพยายามเป็นแบบเขาในเชิงมาดตอนเราออกไปเจอคน (ผมคงดูตลกมากถ้าพยายาม) แต่คือการเข้าใจหลักการที่พวกเขาได้ใช้ในการทำงานที่ได้ปฏิรูปและปฏิวัติสังคมของเราให้เดินไปข้างหน้าและพังทลายกำแพงต่างๆ
คุณอาจคิดว่าผมพูดเวอร์ที่ใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ และ ‘ปฏิวัติ’ เพราะหลายคนยังคิดว่านิตยสารแฟชั่นเป็นสิ่งฉาบฉวย หรือเป็นสิ่งที่ถูกตีค่าจากภาพยนตร์ The Devil Wears Prada …แต่ผมถามหน่อย ทำไม Michelle Obama ต้องขึ้นนิตยสาร Vogue อเมริกา ทำไม Meghan Markle ยอมเป็นบรรณาธิการรับเชิญ Vogue อังกฤษ ทำไม Ronald Reagan ต้องขึ้นปก Vanity Fair คู่กับภรรยา Nancy Reagan ช่วงยุค 80 ทำไม Barack Obama ต้องขึ้นปก GQ เพราะนิตยสารแฟชั่นก็เป็นอาวุธสำคัญที่สามารถสร้างบทสนทนาในสังคมได้ ทำให้เห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และเป็นสิ่งของอย่างหนึ่งที่เมื่อเรากลับมาอ่านอีกครั้งก็จะบอกว่า ณ ตอนนั้นโลกเราเป็นอย่างไร และวันนี้เราได้ก้าวมาจุดไหน
พอผมเรียนจบ ผมก็ตัดสินใจจะทำงานแวดวงนิตยสาร แม้จะถูกต่อต้านพอสมควรจากครอบครัวที่ทำสายอาชีพโรงแรม ซึ่งมองว่าเราเรียนจบด้วยเกียรตินิยมและกำลังจะเสียเวลาอยู่กับวงการที่ถือว่าเล็ก แต่เกือบ 5 ปีที่ผมทำงานในวงการนิตยสารแฟชั่น ผมกลับคิดว่าสิ่งที่เราได้อาจมากกว่าการไปเลือกทำงานองค์กรใหญ่ ได้สวัสดิการล้ำเลิศและโบนัสประจำปีหลายเดือนด้วยซ้ำ ผมได้เห็นว่าทุกกระเบียดนิ้วของการสร้างสรรค์นิตยสารเล่มหนึ่งมีเหตุและผล มีการทำงานเป็นทีม มีการใช้จินตนาการ มีการแข่งขัน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี) มีความรักในศิลปะ และหลายอย่างที่เป็น ‘ภาพ’ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาบนทางด่วนหรือรถไฟฟ้า ก็มาจากฝีมือคนทำงานนิตยสารแฟชั่นทั้งนั้น
แต่มาวันนี้ แน่นอนว่าบทบาทของนิตยสารแฟชั่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลไม่ว่าคุณจะอยู่ไหน และประโยคคำถามว่า ‘คนยังอ่านกันอยู่ไหม’ ฟังแล้วก็น่าเศร้าเสมอ
ถ้ามองในมุมประเทศไทย การบริโภคสื่อของเราโดยรวมก็ไม่ได้มีการบาลานซ์ทุกรูปแบบเพื่อจะสามารถประคองทุกแพลตฟอร์มเอาไว้ได้ ซึ่งในยุค Digital Disruption นิตยสารแฟชั่นก็ดูเหมือนโดนพิษภัยหนักและต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสินค้าที่อยู่รอดได้แบบเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ต่างๆ ที่ยังลงโฆษณา ซื้อ Advertorial ซื้อปก พาไปทริปต่างประเทศ หรือซื้อโปรเจกต์อื่นๆ ที่พ่วงไปกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่มาในวันนี้ได้กลายเป็น Primary Platform ไปแล้ว ต่างจาก 3-4 ปีก่อนที่เป็นเหมือนแพลตฟอร์มเสริม
ถามว่าเสียใจไหมที่นิตยสารแฟชั่นต้องเดินไปในทิศทางนี้
ผมก็มองว่าทุกคนก็ต้องเอาตัวรอด แม้จะทำงานออนไลน์ก็ไม่ได้แปลว่าเราสบายครับ ผมมองว่ายิ่งโกลาหลด้วยซ้ำ เพราะเรามีผู้เล่นเกิดขึ้นมาใหม่ทุกชั่วโมง แต่สิ่งที่น่าเสียดายมากกว่าคือเด็กรุ่นใหม่จะมีโอกาสน้อยลงที่จะอยู่กับสื่อที่สามารถจับต้องได้ในมือ ใช้จินตนาการ และมีเวลาอยู่กับมันแทนที่ทุกวินาทีจะนั่งไลก์ นั่งแชร์ นั่ง Swipe Left อย่างเดียว หรือเด็กแฟชั่นเองก็มีโอกาสน้อยลงที่จะได้ซื้อนิตยสารแฟชั่นที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่ถูกสร้างสรรค์มาจากสิ่งที่กองบรรณาธิการอยากพูดถึงและนำเสนอจริงๆ มากกว่าการที่แบรนด์แฟชั่นจะมาซื้อพื้นที่เพื่อคิดว่าจะสามารถสร้าง Brand Awareness และทำให้คนอยากไปซื้อเสื้อผ้าได้
ผมไม่รู้หรอกว่าเขียนบทความนี้ไปแล้วจะช่วยอะไรได้เกี่ยวกับการบริโภคสื่อนิตยสารแฟชั่น อาจไม่มีคนแคร์เลยก็ได้ และมองว่าไร้สาระ แต่เพราะผมมีแพลตฟอร์มตรงนี้ ผมจึงคิดว่าเขียนสักหน่อยก็คงไม่เสียหายอะไร และเป็นการย้ำเตือนสติตัวเองว่าเราโชคดีแค่ไหนที่เกิดมาในยุคที่ยังได้อ่าน ซึมซับ และหลงใหล สร้างสรรค์จินตนาการกับสื่อกระดาษประเภทหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะกลายเป็นระบบสัมผัสอิเล็กทรอนิกส์เหมือนที่ผมกำลังเขียนบทความนี้บนโทรศัพท์มือถือ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า