×

ส่องแนวนโยบายรักษ์โลกกับบทเรียนนานาชาติน่ารู้ เพื่อเตรียมพร้อมในปี 2020

27.12.2019
  • LOADING...
นโยบายรักษ์โลก 2020

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ข่าวสัตว์ทะเลจำนวนมากตายลงเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป ข่าวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงพลังกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกรักษ์โลก และเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง 

 

หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ก็รับรู้ได้ถึงอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ภาวะฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศ รวมถึงปรากฏการณ์และสัญญาณเตือนอื่นๆ ที่สะท้อนว่าสิ่งแวดล้อมโลกในขณะนี้กำลังมีปัญหา

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Chirawan Thaiprasansap / Shutterstock

 

คำถามสำคัญคือ ‘รัฐ’ ที่ถือเป็นตัวแสดงสำคัญในเวทีโลกและมีภาระผูกพันในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนและคนรุ่นต่อๆ ไปผ่านการบริหารจัดการของ ‘รัฐบาล’ ได้ตอบสนอง เข้ามามีส่วนแก้ไข และป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้อย่างไร 

 

รัฐบาลในหลายประเทศตื่นตัวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนี้ไม่น้อย โดยพยายามกำหนดนโยบายและออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมก่อนส่งต่อสังคมของโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป โดยในปี 2020 จะเป็นอีกปีที่ประชาคมโลกถูกท้าทายด้วยวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Rawpixel.com / Shutterstock

 

ฟินแลนด์ ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบประเทศสีเขียวที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก มีการผลักดันปัญหาด้านความยั่งยืนให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ จนฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีดัชนีผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลกเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

 

ประเทศแห่งนี้มีพื้นที่ป่าไม้เกือบ 72% ของพื้นที่ทั้งหมด รัฐบาลสนับสนุนให้มีการปลูกป่า ลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเพิ่มอัตราการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอนภายในปี 2050 

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Petovarga / Shutterstock

 

ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางรักษ์โลกของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผลเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งโจทย์ให้ภาคส่วนต่างๆ หันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดอย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 นี้ พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสีย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และการผลิตขึ้นใหม่ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในมิติต่างๆ 

 

นอกจากนี้ชาวฟินแลนด์จำนวนมากต่างรู้สึกว่าตนเองผูกพันกับธรรมชาติ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปกป้อง การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของฟินแลนด์จึงได้รับการสนับสนุนจากความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม และทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของโลก

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Zhao Jiankang / Shutterstock

 

จีน มหาอำนาจที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก แต่ทางรัฐบาลจีนก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวเรื่อยมาและประกาศสงครามกับมลพิษอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการปรับโครงสร้างกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เป็นกระทรวงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและมีขอบข่ายอำนาจเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาด ลดการใช้ถ่านหิน ควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ความเป็นธรรมในสังคม ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต

 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีการจัดตั้งเขตการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นถึง 3 แห่ง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ โดยกำหนดให้ ‘เซินเจิ้น’ หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมณฑลกวางตุ้ง เป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมที่รวบรวมเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะ การบำบัดของเสีย การฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านการจัดการทรัพยากร ตลอดจนปัญหาด้านมลพิษต่างๆ

 

ในขณะที่ ‘กุ้ยหลิน’ ในเขตปกครองตนเองกว่างซี จะเป็นพื้นที่ที่เน้นนวัตกรรมเพื่อป้องกันการกลายเป็นทะเลทราย ส่วน ‘ไท่หยวน’ ในมณฑลซานซี จะเป็นเขตพื้นที่ที่เน้นการจัดการกับมลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Ssguy / Shutterstock

 

โดยรัฐบาลจีนยังได้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีในฐานะผู้ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งถือว่ามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Tencent, Baidu และ Alibaba ที่ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรชั้นนำของโลกที่เชื่อมโยงอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต องค์กรเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้จีนมุ่งไปสู่การเป็นสังคมที่ยั่งยืนบนโลกไร้พรมแดนในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น

 

นับตั้งแต่พลาสติกเริ่มได้รับความนิยมในแวดวงธุรกิจห้างร้าน กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนกระทั่งมีการค้นพบแพขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เริ่มมีปัญหาขยะล้นเนื่องจากการจัดการขยะไม่มีประสิทธิภาพ บ้างก็ถูกทิ้งลงในทะเลและมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ บ้างก็ถูกเผาทำลาย เพราะเป็นวิธีที่รวดเร็วและลดปริมาณขยะได้เกือบหมด แต่ก็เป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศและอาจทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งขยะรีไซเคิลจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างที่ควรจะเป็น

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Sk Hasan Ali / Shutterstock

 

บังกลาเทศ ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกมาตรการแบนถุงพลาสติกในปี 2002 ทั้งในแง่ของการผลิตและการแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้บริโภค หลังจากขยะพลาสติกกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระบบระบายน้ำอุดตัน เกิดเป็นวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แม้จะผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว

 

แต่บังกลาเทศก็ยังประสบปัญหาขยะพลาสติก เนื่องจากขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ในแต่ละเดือนถุงพลาสติกกว่า 410 ล้านถุงยังคงถูกใช้ในกรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกว่า 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27 ล้านบาท) สนับสนุนการผลิตถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้เร็วยิ่งขึ้น 

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Andrew Kasuku / AFP via Getty Images

 

เคนยา ประกาศใช้กฎหมายแบนถุงพลาสติกเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ใครผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย หรือใช้ถุงพลาสติก อาจต้องโทษจำคุกสูงถึง 4 ปี หรือถูกปรับสูงถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านบาท) นับเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายแบนถุงพลาสติกเข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ทางการเคนยาระบุว่าประชาชนกว่า 80% เลิกใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันแล้ว

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Andrew Angelov / Shutterstock

 

รวันดา ประกาศแบนการใช้พลาสติกในทุกมิติ ทั้งการนำเข้า การผลิต การจัดจำหน่าย และหันมาสนับสนุนการใช้ถุงกระดาษทดแทน พร้อมใช้มาตรการทางด้านภาษีดึงดูดให้หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติก รวมถึงการผลิตถุงและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

แม้รวันดาจะยังประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าพลาสติกจากประเทศเพื่อนบ้านและการขยายตัวของตลาดมืด แต่การปรับบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นตามลำดับเคยทำให้เมื่อปี 2008 กรุงคิกาลีของรวันดาได้รับการเสนอชื่อโดย UN-Habitat ให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในทวีปแอฟริกา พร้อมตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ปลอดพลาสติกเป็นประเทศแรกของโลกภายในปี 2020 

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Ivan Marc / Shutterstock

 

ไอร์แลนด์ ประกาศใช้มาตรการ Plastax จัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่อผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกนับตั้งแต่ปี 2002 โดยปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นเกือบ 5 เท่าในปี 2011 จากอัตราแรกเริ่ม 0.15 ยูโรต่อถุงพลาสติก 1 ใบ (ราว 5 บาท) มาอยู่ที่ใบละ 0.70 ยูโร (ราว 23 บาท) รายได้ทั้งหมดจะนำเข้าสู่กองทุนด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากที่บังคับใช้มาตรการดังกล่าวไปแล้ว 1 ปี จำนวนถุงพลาสติกที่ถูกใช้ในไอร์แลนด์ลดลงกว่า 90% จากที่ใช้ถุงพลาสติกคนละ 328 ใบต่อปี ลดลงเหลือเพียงคนละ 21 ใบต่อปีเท่านั้น โดยรัฐบาลพยายามจะคงสถิตินี้ให้เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: MikeDotta / Shutterstock

 

เคปเวิร์ด ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา เป็นประเทศที่โดดเด่นในแง่จำกัดการผลิตถุงพลาสติกอย่างจริงจังตามรายงานล่าสุดของ UNEP ก่อนจะยุติการผลิตถุงพลาสติก 100% ในปี 2016 และประกาศแบนถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการในปีต่อมา มีเพียงถุงพลาสติกที่ย่อยสลายและสลายตัวได้ทางชีวภาพเท่านั้นที่อนุญาตให้นำเข้าประเทศได้ ผู้ใดฝ่าฝืนอาจต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนมาก

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Kram9 / Shutterstock

 

คอสตาริกา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญในปี 2017 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของประเทศนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ 1980 สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และเป็นประเทศแรกในโลกที่แบนพลาสติกทุกชนิดภายในปี 2021 รวมถึงหันมาใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 6 เดือนนับจากนั้น

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Bogdan Sonjachnyj / Shutterstock

 

ฝรั่งเศส เจ้าภาพจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP21) เมื่อปี 2015 นำไปสู่ความตกลงปารีสที่พยายามจะแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรัฐบาลประกาศแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ปี 2016 ก่อนตั้งเป้าแบนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้ว หลอด คอตตอนบัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 

 

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและการทำการเกษตรแบบยั่งยืน จนได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีดัชนีผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม (EPI 2018) สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก 

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

 

ไทย มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านตัน ผลิตขยะมูลฝอยมากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน และพบการใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี แม้จะยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการระดับชาติที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่รัฐบาลไทยก็ตั้งเป้าลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ชนิดที่พบมากในขยะทะเลของไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมผ่านแผนจัดการขยะพลาสติก 20 ปี

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

 

แม้พลาสติกทั้ง 7 ชนิดจะมีระยะเวลาในการควบคุมที่ต่างกัน แต่ภายในระยะเวลา 6 ปีนับจากนี้ไปจนถึงปี 2025 พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ่ ไมโครบีด ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟม หลอด และแก้วน้ำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องถูกเลิกใช้ แต่การที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้พลาสติก และองค์กรเอกชนในฐานะผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย 

 

โดยไทยอาจจะต้องถอดบทเรียนจากต่างชาติที่สร้างแรงจูงใจในการจัดการปัญหาขยะ ลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตที่มีนโยบายลดการใช้พลาสติกในการดำเนินธุรกิจหรือสนับสนุนกระบวนการรีไซเคิล รวมถึงจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ต้องการรับถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า เพื่อให้แผนงานของไทยบรรลุผลและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนโยบาย มาตรการ และแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกแล้ว รัฐบาลในหลายประเทศยังเริ่มหันมาตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ารถยนต์ใหม่ รวมถึงยานพาหนะชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน โดยจะหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหามลพิษทางอากาศ

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Thorsten Bock / Shutterstock

 

นอร์เวย์ เป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน 99% ของพลังงานที่ใช้ภายในประเทศเกิดจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานน้ำ ผู้คนส่วนใหญ่ชอบใช้เวลาอยู่ภายนอกที่พักอาศัย (Friluftsliv) เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยทำให้สุขภาพดีและมีความสุข 

 

ที่นี่ถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่สนับสนุนรถยนต์พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง กรุงออสโลที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดเมืองรถยนต์ไฟฟ้าเมืองหนึ่งของโลกได้รับรางวัล European Green Capital 2019 จากคณะกรรมาธิการยุโรป หลังจากมีผลงานโดดเด่นในด้านการบำบัดฟื้นฟูแหล่งน้ำ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ลานจอดรถให้กลายเป็นทางเท้าและเลนจักรยานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลหันมาสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2018 ที่ผ่านมามีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1.35 แสนคัน และมีแผนจะเพิ่มสถานีชาร์จไฟกว่า 25,000 แห่งทั่วประเทศ

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Scharfsinn / Shutterstock

 

เยอรมนี ประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของโลกก็เริ่มมีการปรับตัวและประกาศแบนรถยนต์เก่าที่ใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้แล้วในเมืองฮัมบูร์กและเมืองอื่นๆ หลังยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มลดลง ก่อนจะผลักดันเป็นแผนระดับชาติ ตั้งเป้าแบนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในปี 2050 และหันมาสนับสนุนรถยนต์พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 95% 

 

แต่อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเกรงว่าการปรับเปลี่ยนจุดยืนด้านพลังงานนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของเยอรมนีในการก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศสีเขียวที่มีความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

 

นโยบายรักษ์โลก 2020

Photo: Lorna Roberts /  Shutter 

 

สหราชอาณาจักร ตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน 

 

โดยลอนดอนเป็นเมืองแรกในโลกที่กำหนดเขตควบคุมมลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมงตามมาตรการ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) ซึ่งยานพาหนะที่จะใช้ขับขี่ภายในเขตพื้นที่นี้จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ มิเช่นนั้นอาจจะถูกปรับในอัตราสูง

 

นอกจาก 13 ประเทศข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการสีเขียวทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายตามที่เคยประกาศไว้

 

แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เป็นตัวแบบที่ไทยเองก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด นำไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI

จากรายงานของ UNEP ระบุว่ามีมากกว่า 60 ประเทศที่ดำเนินมาตรการลดละเลิก / แบน / จัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับพลาสติก

  • เดนมาร์ก จัดเก็บภาษี (1994)
  • แอฟริกาใต้ ประกาศแบน (2003)
  • จีน ประกาศแบนและจัดเก็บภาษี (2008)
  • อิตาลี ประกาศแบน (2011) จัดเก็บภาษี (2018)
  • เวียดนาม จัดเก็บภาษี (2012)
  • อินเดีย ประกาศแบน, เนเธอร์แลนด์ จัดเก็บภาษี (2016)
  • โคลอมเบีย ประกาศแบนและจัดเก็บภาษี (2017)
  • ปานามาและจาเมกา ประกาศแบน (2018)
  • บาฮามาส ตั้งเป้าแบน (2020)
  • แคนาดา ตั้งเป้าแบน (2021)

 

ประเทศที่ตั้งเป้าแบนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

  • เดนมาร์ก, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ (2030) 
  • จีน, ฝรั่งเศส (2040) 
  • เยอรมนี (2050) 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising