ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนผ่านของวงการละครไทยที่น่าจับตามองที่สุดครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่วงการสื่อโทรทัศน์ที่เปิดจำนวนช่องมากขึ้น และลุยตลาดละครกันอย่างสนุกสนาน แต่เรากำลังหมายถึงการผลัดเปลี่ยนของบุคลากรในวงการที่สร้างรสชาติใหม่ๆ ของสื่อบันเทิงไทยได้อย่างถึงรสถึงเครื่องมากขึ้น ทั้งค่ายละครใหม่ นักแสดงหน้าใหม่ และที่น่าจับตามองมากๆ คือ อาชีพ ‘นักแสดงอิสระ’ ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการนี้ได้อย่างน่าสนใจ
THE STANDARD POP ขอพาคุณไปทบทวนละครหลายๆ เรื่องที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชม ทั้งการสร้างงานที่น่าสนใจ การแสดงที่ได้รับคำชื่นชม กระแสที่ล้นหลามทั้งติหรือชม รวมไปถึงภาพรวมของวงการละครไทยในทศวรรษที่ผ่านมาว่า เรากำลังเดินหน้าไปในทิศทางไหน และปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุคการเปลี่ยนแปลงของสื่อบันเทิงตอนนี้ คือบทบันทึกของสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่งไว้ และมันสนุกสนานมาก!
อนาล็อกสู่ดิจิทัล ใบเบิกทางของการเปลี่ยนแปลง
ในปี 2557 นับเป็นปีที่เราควรบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า วงการโทรทัศน์ไทยถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง กับการเปิดตัวช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นทั้งระบบ SD และ HD ถึง 24 ช่อง (ปัจจุบันเหลือ 15 ช่อง) และนี่นับเป็นจุดเปลี่ยนในวงการโทรทัศน์ไทยไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนั่นเท่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเวียนอยู่ในวงการโทรทัศน์ไทย และการยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกก็ทำให้ผู้เล่นในสนามทุกคนเหมือนกับเริ่มต้นใหม่ ผู้เล่นเดิมอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ก็ยังคงครองความเป็นที่สุดของตัวเองกันอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าเวิร์คพอยท์ทีวี หรือช่อง one31 เองก็ตาม จ่อก้นมาติดๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างถูกวัดแววความนิยมกันด้วยเรตติ้ง และเรตติ้งก็ต่างกระจัดกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในทีวีทุกช่อง แต่โจทย์เดียวที่สำคัญมากๆ คือ การแย่งชิงเรตติ้งในช่วงไพรม์ไทม์
‘ละคร’ ยังคงเป็นโจทย์หลักสำคัญที่สุดในการช่วงชิงเรตติ้งช่วงไพรม์ไทม์ของโทรทัศน์แต่ละช่อง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ ครอบครัวจะมาใช้เวลาร่วมกัน ตั้งแต่เวลาหัวค่ำยาวไปจนถึง 22.00 น. ซึ่งเขามีคำเรียกกันว่า ‘ช่วงเวลาจอเดียว’ ฉะนั้น หากคุณเคยเห็นตัวเลขเรตติ้งของละครเย็น ละครค่ำ นั่นล้วนจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดของวันนั้นๆ ไปโดยปริยาย เพราะเกือบทุกบ้านจะใช้เวลาตรงนี้ในการร่วมกันกินข้าวเย็น หรือเพิ่งเลิกงานกลับมาบ้าน และดูโทรทัศน์ร่วมกัน
สำหรับผู้ชมอาจมองว่า ตัวเลขเรตติ้งไม่ใช่เรื่องสำคัญของพวกเขา แต่กลับกัน สำหรับช่องโทรทัศน์ ตัวเลขเรตติ้งยังจำเป็นอย่างมากสำหรับการตัดสินใจจะซื้อโฆษณาในช่องที่หมายถึงรายได้ที่เข้ามานั่นเอง เราจึงได้เห็นการขับเคี่ยวแก่งแย่งเรตติ้งในช่วงไพรม์ไทม์นี้อย่างเข้มข้น ทั้งการเปิดตัวละครเย็นของช่อง one31 เอง หรือการเอารายการประกวดร้องเพลงมาใส่ในช่วงเวลานี้ก็ตาม และเมื่อละครคือตัวเรียกเรตติ้งให้กับช่องได้ และเป็นสิ่งที่ผู้ชมสามารถรับชมได้ในหลายๆ แพลตฟอร์ม นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ละครจะเป็นแม่เหล็กหลักที่ทำให้ผู้ชมจดจำช่องนั้นๆ ได้ หรือตัดสินใจจะกดรีโมตไปดูช่องเหล่านั้น แม้ว่าปัจจุบันรายการข่าวและรายการวาไรตี้จะเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดตรงนี้ไปมากก็ตาม
ผู้เล่นใหม่ที่น่าจับตามอง
ในสนามเดิมมีผู้เล่นเพียง 3 ช่องหลักๆ ทั้งละครช่อง 3 ละครช่อง 7 และละครเอ็กแซ็กท์ที่ออกอากาศทางช่อง 5 ตอนนั้น ส่วนในปัจจุบันผู้ชมไทยได้ชมสนามแข่งขันละครที่มีผู้เล่นถึง 9 ช่อง ที่ลงมาทำคอนเทนต์ละคร-ซีรีส์ นำทีมโดย ช่อง 3HD, ช่อง 7HD ที่เป็นผู้เล่นเดิม ช่อง one31 ที่ต่อยอดมาจากทีมเอ็กแซ็กท์เดิม
ช่อง 8, ช่อง PPTV 36, ช่องอัมรินทร์ทีวี 34, ช่อง True4U 24, ช่อง GMM25 และช่อง Mono 29 ที่ล้วนต่างมีคอนเทนต์ที่แข็งแรงเป็นของตัวเอง และค่อยๆ สร้างฐานแฟนผู้ชมของพวกเขา
ในปี 2019 ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นปีที่ค่อนข้างสนุกสนาน เพราะ 2 ผู้เล่นอย่างอัมรินทร์ทีวี และช่อง PPTV เองก็ต่างลุยตลาดละครอย่างจริงจัง อย่างทาง PPTV เอง หลังจากที่เปิดตัว ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล ในฐานะนักแสดงในสังกัด และเปิดตัวละครใหม่ 10 เรื่อง ก็พบว่า ผลตอบรับยังค่อนข้างราบเรียบ ไม่หวือหวาเท่าไรนัก
ส่วนทางฟากอัมรินทร์ทีวี ปีนี้ต้องยอมรับว่า การเปิดตัวละครอย่าง สามีสีทอง คือความน่าสนใจที่สุด และผลตอบรับที่ออกมาก็นับว่ายอดเยี่ยม ทั้งๆ ที่พลังนักแสดงเองก็ใช่ว่าจะแข็งแรง มีแต่นักแสดงรุ่นใหญ่ และเรื่องราวที่ค่อนข้างเฉพาะวัย แต่นั่นก็สามารถทำให้อัมรินทร์ทีวีมีแนวโน้มที่ดีในงานละคร ไม่ใช่แค่การได้ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา จาก Change2561 มาทำละครให้ แต่เรากำลังหมายถึงการต่อยอดสินทรัพย์ที่มีในรูปแบบนิยายของสำนักพิมพ์ในบ้านให้กลายมาเป็นละครด้วย
ส่วนทางช่อง Mono 29 เอง ก็มีซีรีส์ออริจินัลออกมาบ้างประปราย ที่จะมีแฟนประจำช่องคอยติดตามอยู่ และที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ในช่วงปลายปีนี้คือ ช่อง True4U 24 ที่มักจะผลิตซีรีส์โปรดักชันใหญ่ออกมาให้ผู้ชมได้ชม และการมาถึงของ Voice สัมผัสเสียงมรณะ ก็กลายเป็นกระแสย่อมๆ ที่มีผู้ชมติดตาม อีกทั้งยังฉลาดมากๆ กับการนำเอาซีรีส์ลงฉายใน Netflix แบบตอนต่อตอน ช่วยเพิ่มการรับรู้ของผู้ชมได้มากขึ้น
นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี จากละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า
Photo: Act Art Generation
สมรภูมิใหม่ของอาชีพนักแสดงอิสระ
จริงๆ แล้วคำว่า ‘นักแสดงอิสระ’ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเราเองก็ได้เห็นหน้าค่าตาของนักแสดงหลายๆ คนในช่องโทรทัศน์หลายช่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นเขาในบทบาทอื่นๆ ที่ไม่ใช่บทบาทหลักอย่าง ‘นักแสดงนำ’ พระเอก หรือนางเอกเบอร์ใหญ่ๆ แต่พอในวันที่ทีวีดิจิทัลกลายเป็นสมรภูมิที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น การได้เห็นนักแสดงมากฝีมือที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้ว ผลัดเปลี่ยนออกมาเป็นนักแสดงอิสระ ก็แทบจะเรียกว่าเป็นกำไรของผู้ชมโดยแท้ ที่จะได้ชมนักแสดงที่ตัวเองชื่นชอบ ในโปรดักชันที่แตกต่าง หรือรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป
นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี คือกรณีศึกษาที่น่าสนใจ กับการผันตัวเป็นนักแสดงอิสระ ทั้งๆ ที่เธอเองก็เปรียบเสมือนจะเป็นแม่เหล็กหนึ่งที่ทรงพลังของช่อง 7 ในเวลานั้น และการที่เธอโผบินจากบ้านเก่าที่อาศัยอยู่มาทั้งชีวิต มาลงเล่นสนามแข่งในฐานะนักแสดงอิสระ ก็ทำให้ตัวเธอเองได้พิสูจน์ฝีมือและแสดงศักยภาพทางการแสดงออกมาอย่างเต็มที่กับทีมงานใหม่ๆ โดยเฉพาะละคร 2 เรื่อง ที่น่าจดจำมากๆ ทั้งบทบาท อีลำยอง ในละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า ทางช่อง 3 และ คุณอุบล ใน พิษสวาท ทางช่อง one31 ที่ต่างสร้างเรตติ้งและกวาดคำชื่นชมไปอย่างท่วมท้น หรือแม้แต่ละครเรื่องล่าสุดอย่าง เกมรักเอาคืน ทางช่อง GMM25 เอง ก็มีกระแสที่น่าสนใจ แม้ตัวเนื้อเรื่องไม่น่าสนใจเท่าไร แต่ด้วยความเป็น นุ่น วรนุช ด้วยส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ชมยังคงอยากติดตามชมตัวละครของเธอต่อไป เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่า ผู้ชมอาจไม่ได้รู้สึกว่านักแสดงจะต้องผูกติดตัวเองอยู่กับช่องใดช่องหนึ่งเท่านั้น
ไม่ใช่แค่ นุ่น วรนุช เท่านั้น แต่ยังมีนักแสดงอีกจำนวนมากที่หลังจากผันตัวเป็นนักแสดงอิสระแล้ว ทำให้พวกเขามีโอกาสได้แสดงศักยภาพทางการแสดงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ที่หลังจากหมดสัญญากับวิกหมอชิต เธอก็ได้กระโดดไปแสดงในงานที่หลากหลายขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หลงไฟ ทางช่อง GMM25 หรือ ใบไม้ที่ปลิดปลิว ที่ส่งให้บท ‘นิรา’ ถูกพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง
นอกจากนี้นักแสดงที่ดูแข็งแรงทั้งชื่อเสียงและความสามารถหลายๆ คนก็เริ่มทยอยก้าวเท้าออกมาเป็นนักแสดงอิสระ ด้วยจำนวนช่องที่มากขึ้น ละครที่มีจำนวนมากขึ้น เราจึงได้เห็นนักแสดงมากหน้าหลายตาวนเวียนกันไปมาในทุกๆ ช่อง ตั้งแต่ ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, นิว-วงศกร ปรมัตถากร, กรีน-อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล, จั๊กจั่น-อคัมย์สิริ สุวรรณศุข ฯลฯ
แต่ทีนี้ความยากของช่องโทรทัศน์ที่เปิดใหม่และมีละครออกฉาย ยกตัวอย่างเช่น ช่องอัมรินทร์ทีวี 34 หรือ PPTV 36 สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่คือ กลุ่มเป้าหมายที่จะดูละครของพวกเขา เนื่องจากพลังของนักแสดงเองก็มีส่วนที่ทำให้ผู้ชมเลือกที่จะดูช่องนั้นๆ เหมือนกับความเข้าใจหรือภาพจำที่จะส่งให้ช่องโดดเด่นด้วย เช่น ถ้าเราอยากดู เวียร์ ศุกลวัฒน์ เราก็ต้องเปิดช่อง 7 หรือถ้าเราอยากดู หมาก ปริญ เราต้องกดดูช่อง 3 ก็ต้องยอมรับว่า นักแสดงที่มีชื่อที่จดจำได้ ก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้ชมตัดสินใจจะเลือกดูละครเรื่องไหน ถือเป็นโจทย์หินของละครช่องอื่นๆ ที่จะต้องมีนักแสดงที่สามารถทำให้คนดูยอมกดรีโมตไปหาได้
10 ปีที่ผ่านมา…10 เรื่องที่น่าจดจำ
ตั้งแต่ในปี 2010 (พ.ศ. 2553) จนมาถึงวันนี้ ก็นับนิ้วได้ครบ 10 ปี พอดิบพอดี คุณพอจะจำได้หรือไม่ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ เราได้รู้จักนักแสดงใหม่ๆ หรือรับชมละครเรื่องไหนที่พีกๆ เป็นกระแสพูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมืองบ้าง? เราขอจัดทำ Short List ของละครไทยที่น่าจดจำในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้เรียงลำดับตามความชอบส่วนตัวใดๆ หรือความดีกว่า ด้อยกว่า แต่ 10 เรื่องนี้ เป็นละครที่น่าจดจำในแง่ของตัวงานจริงๆ
- ทองเนื้อเก้า (2556) คือละครที่ทำเรตติ้งสูงสุดในยุคก่อนเปลี่ยนผ่านเป็นยุคดิจิทัลเต็มตัว และการปรากฏตัวของ นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี ในบท ‘ลำยอง’ ก็นับเป็นการขยับตัวหนึ่งที่น่าสนใจ จากการเป็นนักแสดงเบอร์ต้นของช่อง 7 สี สู่อาชีพนักแสดงอิสระ และเธอได้ร่วมงานกับช่อง 3 และผู้กำกับ อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และเธอสามารถสร้างตัวละครนี้ออกมาได้อย่างหมดจด เรายังจำซีนที่เธอกระโดดน้ำเพื่อไปตามโหลยาดองของเธอได้อยู่เลย!
- อย่าลืมฉัน (2557) ใครจะไปคิดว่า ละครดราม่าจัดๆ เรื่องนี้จะสามารถครองใจผู้ชมได้ หรืออาจเป็นเพราะการพบกันครั้งแรกของพระ-นางเบอร์ใหญ่ของวงการ ทั้ง แอน ทองประสม และ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี ด้วยหรือเปล่า ที่ส่งให้ละครกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ผู้ชมรักและจดจำบทบาทของเขาทั้งสองคนได้ หรืออาจเป็นเพราะสูตรตายตัวแบบละครพ่อแง่แม่งอนที่ทำให้ อย่าลืมฉัน เป็นละครที่ใครหลายๆ คนจำได้และชื่นชอบ
- บุพเพสันนิวาส (2560) หนึ่งในละครฟีเวอร์ที่สร้างปรากฏการณ์สูงสุดในยุคหลังของทศวรรษ ที่ไม่ใช่แค่เป็นละครแฟนตาซีโรแมนติกคอเมดี้ย้อนยุคข้ามภพข้ามชาติ แต่เรายังหมายถึงการอ้างอิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาออกมาได้อย่างน่าสนใจ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการอื่นๆ ได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และวงการการศึกษาที่ชื่อของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กลับมาถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง
- หยกเลือดมังกร (2557) คือละครเรตติ้งสูงสุดของปีนั้น และเป็นผลงานของค่าย ‘พอดีคำ’ โดย ธงชัย ประสงค์สันติ ที่ได้ชื่อว่า เป็นค่ายละครแถวหน้าของช่อง 7 จากงานโปรดักชันที่ยอดเยี่ยม และเรื่องบทที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างมาก ละครเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในลิสต์ที่น่าจดจำ กับการดำเนินเรื่องราวที่มีกลิ่นอายของภาพยนตร์ฮ่องกง ให้น้ำหนักของเรื่องโรแมนติก แอ็กชัน และดราม่า ได้อย่างกลมกล่อม และนี่เป็นบทบาทหนึ่งของ ดวงดาว จารุจินดา ที่เราอยากให้คุณได้ดู!
- ดอกส้มสีทอง (2553) ในลิสต์ 10 เรื่อง มันไม่มีทางเลยที่จะไม่มีละครเรื่องนี้อยู่ในลิสต์ เพราะนอกจากความเข้มข้นของเรื่องราวที่ ‘เรยา’ สาวสวยที่พยายามจะถีบตัวเองไปสู่สังคมที่ดีกว่า ตัวละครในเรื่องก็ดูดุเดือดเลือดพล่านทั้งทัศนคติและการแสดงออก และบทที่เชือดเฉือนอารมณ์มากๆ ส่งให้ชื่อของ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต กลายเป็นนักแสดงหญิงแถวหน้าในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
- สุดแค้นแสนรัก (2558) ละครนอกสายตาผู้ชมที่แทบจะไม่มีนักแสดงคนไหนแข็งแรงพอจะเรียกแขกได้เลย ในช่วงเวลาที่ผู้ชมต่างวิ่งไปให้ความสนใจกับละครคู่จิ้นหรือโรแมนติกคอเมดี้ต่างๆ สุดแค้นแสนรัก คือม้าตีนปลายที่น่ากลัวที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา กับละครที่เล่าเรื่องความบาดหมางระหว่างสองตระกูลแห่งบ้านหนองนมวัว สิ่งที่น่าประทับใจคือ การนำเสนอชุมชน สังคม และภาพของท้องถิ่นนครสวรรค์ออกมาได้อย่างสนุกสนาน และ รัดเกล้า อามระดิษ ก็กลายมาเป็นนักแสดงที่ผู้ชมยอมรับในฝีมือและความเกรี้ยวกราดของเธอ
- นาคี (2559) ละครที่หยิบยกเอาความเชื่อของคนอีสานในเรื่องพญานาคมาดัดแปลงและนำเสนอให้เป็นเรื่องราวของ ‘คำแก้ว’ ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ย่อมๆ เมื่อครั้งออกฉาย ซึ่งเป็นอีกงานกำกับของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่สามารถทำละครแอ็กชันแฟนตาซีเรื่องนี้ให้ออกมาถูกใจผู้ชมในวงกว้างได้อย่างน่าสนใจ
- เพื่อนแพง (2558) นับเป็นละครอีกเรื่องของช่อง 7 ที่เราขอยกเข้าทำเนียบละครที่น่าจดจำ ทั้งในเรื่องบท การแสดง โปรดักชัน ที่พาให้ตัวละคร พี่ลอ อีเพื่อน และอีแพง ออกมาโลดแล่นบนจอได้อย่างสง่างาม กับโศกนาฏกรรมความรักของคนสามคน ความโดดเด่นของละครเรื่องนี้คือ การแสดงของนักแสดงนำทั้งสาม เวียร์ ศุกลวัฒน์, ปุ๊กลุก ฝนทิพย์ และ ยุ้ย จีรนันท์ ล้วนต่างแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังนำเสนอภาพบรรยากาศความรักท่ามกลางท้องทุ่งออกมาได้อย่างอิ่มเอมใจ
- เมีย 2018 (2561) ละครชื่อประหลาดที่ท้ายที่สุดก็ขึ้นแท่นเป็นละครที่เรตติ้งสูงสุดของช่อง one31 ไปโดยปริยาย และเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นเด็ดที่ทำให้เรตติ้งของช่องสามารถเอาชนะเจ้าตลาดเดิมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความโดดเด่นของละครเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นบทละครที่เขียนขึ้นมาอย่างเป็นมนุษย์ที่สุด เล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานของครอบครัวได้อย่างเข้ายุคเข้าสมัย
- เลือดข้นคนจาง (2561) ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้คือ การเล่าเรื่องปัญหาในครอบครัวเชื้อสายจีนออกมาได้อย่างเข้มข้น ทั้งงานบทและโปรดักชันที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังประกอบไปด้วยเรื่องราวชวนหัว สนุกอย่างน่าประหลาด และการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ปะฉะดะฝีมือกันแบบไม่มีใครยอมใคร นับเป็นอีกงานที่น่าจดจำที่สุดในทศวรรษนี้
ละครไทยจะไปทางไหนดี?
สิ่งหนึ่งในฐานะผู้ชมละครไทยคนหนึ่ง เราต้องการเรื่องราวที่จับต้องได้ ดูสนุก และมีเหตุมีผล เราต้องยอมรับเรื่องหนึ่งว่า ตอนนี้มันหมดยุคของนางเอกผู้โง่งม น่าสงสาร และอ่อนแอ ตอนนี้ไม่ใช่เวลาของพระเอกผู้โง่เขลา หูเบา อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ผู้ชมต้องการคือ ‘ความจริง’ หรือบริบทของการแสดงและเรื่องราวที่จับต้องได้ หรือสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าสิ่งที่เราคาดหวังมากกว่านั้นคือละครที่ชี้นำสังคมไปในทางที่ดีขึ้น หรืออาจจะเป็นละครที่สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ให้แก่กันได้ก็คงจะดี
แต่คุณก็เชื่อเราเถอะว่า ละครแรงๆ มันขายได้เสมอ หรือเพราะเราอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ผู้สร้างละครไทยต้องการแล้วหรือเปล่า ถึงทำให้เราไม่ได้รู้สึกอยากจะสนุกไปกับละครตบตีแย่งชิงเหล่านั้น และในทางกลับกัน ทำไมละครฟอร์มดีที่พยายามจะสร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับผู้ชม กลับไม่อยากติดตาม ดูได้จากกรณีละครอย่าง วัยแสบสาแหรกขาด, ริมฝั่งน้ำ, Tee ใครทีมันส์, กาหลมหรทึก, เลือดข้นคนจาง และอื่นๆ อีกมากมายที่เรารู้สึกเสียดาย ซึ่งนี่เป็นโจทย์สำคัญที่วงการละครไทยและผู้ชมเองจะต้องร่วมกันหาหนทางใหม่ๆ เพื่อข้ามผ่านปัญหานี้ไปให้ได้ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของบริการสตรีมมิงต่างๆ อีกด้วย ที่ทำให้โอกาสที่เราจะได้ดูงานบันเทิงที่ดีมีมากมายจากชาติอื่นๆ และจะเป็นไปได้ไหมที่หนึ่งในนั้นจะเป็นละครไทย?
อย่างล่าสุดที่เรามีโอกาสพูดคุยกับ ป้อน-นิพนธ์ ผิวเณร ผู้บริหารฝ่ายละครของช่อง one31 เขาเองก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้คร่าวๆ ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร โทรทัศน์ไทยก็จะถูก Disrupt แต่โทรทัศน์ก็จะยังอยู่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การชมโทรทัศน์แบบดูสดๆ นั้นเป็นเรื่องของกลุ่มคนในวัย 35 ขึ้นไป ส่วนวัยที่ต่ำกว่า 35 ลงมา คือกลุ่มผู้ชมที่จะดูคอนเทนต์เดียวกันนี้ทางออนไลน์ ดูย้อนหลัง หรือเลือกดูแพลตฟอร์มอื่นๆ ไปเลย และกลุ่มคนที่กำลังจะเติบโตไปอยู่ในวัย 35 ปีเอง ก็จะเป็นกลุ่มคนในเจเนอเรชันถัดไปที่จะกดดูโทรทัศน์ และเขามีความเห็นว่า ไม่ว่าจะอย่างไร โทรทัศน์ก็จะไม่มีวันตาย ซึ่งพวกเขาคือผู้ทำหน้าที่ในการสร้างความบันเทิง แต่จะในแง่มุมไหนที่ทำให้คนในรุ่นถัดๆ ไปสามารถสนุกกับมันได้ และส่งต่อความคิด สำนึกดี หรือแรงบันดาลใจให้กับเขา
ทศวรรษข้างหน้า เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของวงการละครไทย และแน่นอนว่า เราคือหนึ่งในกองเชียร์ที่อยากให้งานละครไทยที่ถูกปากคนทุกบ้านอยู่แล้ว ให้ครบรสและสร้างสรรค์มากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล