×

สหรัฐฯ vs. จีน ประมวลปมขัดแย้งในรอบปี และแนวโน้มการเผชิญหน้าในปี 2022

28.12.2021
  • LOADING...
US-China

ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงนักหากจะบอกว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างชาติใดที่ส่งผลกระทบหรือสร้างความสั่นสะเทือนให้กับโลกทั้งใบได้เท่ากับความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจต่างขั้วอย่างสหรัฐฯ และจีน และหลังจากที่ โจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในแวดวงการเมืองและภาคธุรกิจจึงต่างให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับทิศทางนโยบายใหม่ของฝ่ายบริหารของทำเนียบขาวที่มีต่อจีน และต่างคาดเดากันไปว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เกิดรอยแตกร้าวหลายจุดในช่วง 4 ปีที่สหรัฐฯ อยู่ภายใต้การบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือจะสานต่อนโยบายของทรัมป์เพื่อตอกย้ำว่าสหรัฐฯ ยังคงไม่ญาติดีกับจีน

 

สหรัฐอเมริกาและจีนบาดหมางไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งสองชาติต่างแผ่ขยายอิทธิพลเหนือฟากฝั่งของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยี การชิงความได้เปรียบทางทหาร ความเป็นหนึ่งในอวกาศและในไซเบอร์สเปซ แต่ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและธุรกิจรายใหญ่ ทำให้การแข่งขันของสหรัฐฯ และจีนมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

 

การประชุมสุดยอดครั้งแรกผ่านระบบเวอร์ชวลในเดือนพฤศจิกายนระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่ได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ดีขึ้นเท่าไรนัก โดยที่ต่างฝ่ายต่างย้ำประเด็นความขัดแย้งที่มีมาช้านาน ขณะเดียวกันก็เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการป้องกันการแข่งขันไม่ให้บานปลายไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง

 

แต่ให้หลังเพียง 3 สัปดาห์ ทำเนียบขาวได้ออกมาประกาศคว่ำบาตรการทูตโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยจะไม่ส่งผู้แทนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปเข้าร่วม หวังกดดันรัฐบาลจีนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ก่อนที่ในเวลาต่อมา ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ประกาศร่วมขบวนสหรัฐฯ บอยคอตการทูตโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเช่นกัน ขณะที่อีกหลายประเทศส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาหาวิธีเพื่อแสดงจุดยืนประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ สร้างความเดือดดาลให้แก่จีนเป็นอย่างมาก พร้อมประกาศลั่นว่าจะแก้แค้น ขณะที่ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกการจัดการความสัมพันธ์กับจีนว่าเป็น ‘บททดสอบทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21’

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในยุคของไบเดน ที่บางกลุ่มอาจตั้งความหวังว่าอาจจะดีขึ้นกว่าสมัยของทรัมป์ แต่ผ่านมาหนึ่งปีแล้วยังไม่เห็นวี่แวว แถมยังมีแนวโน้มสูงที่ความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2022 แต่ก่อนที่จะไปติดตามกันต่อในปีหน้า เราขอประมวลประเด็นความขัดแย้งหลักๆ ระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมานี้ 

 

– การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า การคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสะท้อนให้เห็นถึงความผิดหวังและความไม่พอใจของชาวอเมริกันที่มีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่ซึ่งชาวอุยกูร์หลายแสนคน รวมถึงชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ถูกทางการจีนควบคุมเพื่อปรับทัศนคติและปลูกฝังลัทธิความเชื่อหรือค่านิยมใหม่

 

“เราจะไม่สนับสนุนพิธีการเอิกเกริกของโอลิมปิกเกม” เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พร้อมทั้งเผยว่า สหรัฐฯ ได้ให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการสำหรับพฤติกรรมของรัฐบาลจีนในซินเจียงว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

การประกาศบอยคอตการทูตโอลิมปิกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวอื้อฉาวสะเทือนวงการกีฬาระดับโลก เมื่อ เผิงไซว่ นักเทนนิสสาวชาวจีน อดีตมือ 1 โลกประเภทหญิงคู่ ดีกรีเแชมป์หญิงคู่ในศึกแกรนด์สแลม และนักกีฬาโอลิมปิก 3 สมัย ได้โพสต์แฉว่าถูกอดีตรองนายกรัฐมนตรีจีนล่วงละเมิดทางเพศ และในเวลาต่อมาเธอได้หายตัวไปอย่างเป็นปริศนานานเกือบ 3 สัปดาห์ ทำให้เหล่าคนดังในวงการกีฬา ตลอดจนสมาคมกีฬาต่างๆ ออกมาเรียกร้องกดดันรัฐบาลจีน ซึ่งรวมถึงสมาคมเทนนิสหญิง (WTA) ที่ประกาศยกเลิกจัดการแข่งขันทุกรายการในประเทศจีน เพื่อตอบโต้การนิ่งเฉยของปักกิ่งต่อกรณีการหายตัวไปของเผิงไซว่

 

ขณะที่ เอเนส แคนเตอร์ เซ็นเตอร์ของทีมบอสตัน เซลติกส์ ในศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอของสหรัฐฯ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างรุนแรงในประเด็นซินเจียง รวมไปถึงการปกครองแบบเผด็จการของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการงดออกอากาศการแข่งขันของเซลติกส์ตั้งแต่นั้นมา 

 

ที่ผ่านมา ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มักแสดงความไม่พอใจหรือโกรธเคืองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศเกี่ยวกับการปกครองแบบเผด็จการของจีน โดยระบุว่าเป็นการรุกรานอธิปไตยของชาติ ซึ่งเหตุการณ์การเผชิญหน้าและตอบโต้ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นในระยะหลังๆ สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นภายใต้การนำของสีจิ้นผิง

 

เมื่อเดือนมีนาคม สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจากกรณีการกระทำทารุณต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียง ด้านจีนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรสมาชิกสภานิติบัญญัติ นักวิจัย และสถาบันต่างๆ ของชาติตะวันตก

 

แม้จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงมาโดยตลอด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่าจีนกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ไว้มากถึงหนึ่งล้านคน และคุมขังผู้คนอีกหลายแสนคนนับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการปราบปรามในซินเจียงเมื่อปี 2017 โดยมีรายงานการทรมานร่างกายและจิตใจผู้ถูกคุมขังในเรือนจำและในค่ายกักกันอย่างกว้างขวาง

 

นอกจากนี้ จีนยังถูกชาติตะวันตกและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชาติพันธุ์เติร์กในซินเจียง ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าบังคับให้ทำหมัน ทำแท้ง และการย้ายประชากร เพื่อลดอัตราการเกิดและความหนาแน่นของประชากร โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้นำทางศาสนาเพื่อทำลายประเพณีทางศาสนาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

 

แน่นอนว่าจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และแย้งว่า ค่ายในซินเจียงเป็นค่ายฝึกอาชีพและขจัดแนวคิดหัวรุนแรงโดยสมัครใจเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายในภูมิภาค พร้อมทั้งเรียกข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็น ‘คำโกหกแห่งศตวรรษ’

 

– ไต้หวัน

ชนวนความขัดแย้งที่สำคัญประการหนึ่งคือ ไต้หวัน เกาะปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศว่าจะฟื้นฟูชาติให้สำเร็จเพื่อนำชนชาติจีนกลับสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการนำไต้หวันกลับมาสู่ภายใต้การปกครองของจีน และได้มีการส่งเครื่องบินรบเข้าใกล้เขตน่านฟ้าไต้หวันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเตือนว่าจีนไม่ปฏิเสธทางเลือกที่จะใช้กำลังทหารเพื่อผนวกไต้หวัน

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีหลายยุคหลายสมัย ต่างยึดมั่นในนโยบาย ‘ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Ambiguity) กล่าวคือ ไม่แสดงเจตนารมณ์ปกป้องไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุปักกิ่งและส่งสัญญาณไปยังผู้นำของไต้หวันว่าไม่ควรประกาศเอกราชด้วยความคิดที่ว่าอเมริกาจะหนุนหลัง แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ยังคงให้การสนับสนุนแก่ไต้หวันประมาณหนึ่ง เพื่อป้องปรามการรุกรานจากจีน

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของทั้งไบเดนและอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เพิ่มการสนับสนุนสำหรับไต้หวัน โดยมีการส่งเรือรบอเมริกันแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน และกองกำลังขนาดเล็กทำการฝึกร่วมกับกองทัพไต้หวัน

 

เมื่อถูกถามเมื่อเดือนตุลาคมว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหรือไม่ ไบเดนตอบตรงๆ ว่า “ใช่ เรามีคำมั่นสัญญาที่จะทำเช่นนั้น”

 

อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวได้ออกมาแถลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาว่า คำกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่อย่างใด

 

ขณะที่เมื่อเดือนธันวาคม สหรัฐฯ ได้จัดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้นำจาก 111 ชาติได้รับเชิญเข้าร่วม รวมถึงไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับปักกิ่งเป็นอย่างมาก 

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า การเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็น ‘เครื่องอำพรางและเครื่องมือในการผลักดันเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ กดขี่ประเทศอื่น ทำให้โลกแบ่งแยก และทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง’ เท่านั้น

 

– การแข่งขันทางการค้า

สงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์กำลังหยุดพักชั่วคราวในทางเทคนิค แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ในยุคของไบเดนจะกลับไปญาติดีกับจีนแบบปัจจุบันทันด่วน ดังเห็นได้จากการที่ฝ่ายบริหารของไบเดนยังคงประท้วงนโยบายเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการที่รัฐบาลปักกิ่งให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็ก โซลาร์เซลล์ ชิปคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ภายในประเทศ 

 

แคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนตุลาคมว่า นโยบายเหล่านี้ของปักกิ่งตอกย้ำถึงทฤษฎี Zero-Sum หรือการแข่งขันที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ คิดแต่ผลแพ้ชนะ ทั้งที่ในเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกนั้นไม่มีประเทศใดสามารถเป็นผู้ชนะแต่เพียงฝ่ายเดียวได้

 

ข้อพิสูจน์หนึ่งคือ กำแพงภาษีที่ทรัมป์เริ่มนำมาใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนเมื่อปี 2018 ก่อนที่จีนจะตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน กำแพงภาษีแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร และเปราะบางเพียงใด หากสหรัฐฯ และจีนยังคงเดินหน้า ‘แยก’ เศรษฐกิจของสองประเทศออกจากกัน

 

การต่อสู้ทางภาษีได้ผลักดันให้ประธานาธิบดีสีประกาศใช้ยุทธศาสตร์ ‘วงจรคู่ขนาน’ เพื่อให้เศรษฐกิจของจีนขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ โดยจะมุ่งขยายตลาดในประเทศจากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก

 

แม้ปักกิ่งอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจีนจะปิดประตูไม่รับการลงทุนจากต่างประเทศและสินค้าต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจได้จุดประกายให้บริษัทจีนหันมาให้ความสนใจลงทุนในประเทศมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มสนใจแบรนด์ท้องถิ่น และไม่ยอมรับบริษัทต่างชาติที่ไม่เห็นด้วยหรือแสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจีนในประเด็นฮ่องกง ทิเบต และประเด็นร้อนอื่นๆ

 

– ความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี

ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ ถูกปิดกั้นการทำธุรกิจในประเทศจีนมานานแล้ว ล่าสุดที่เตรียมจะถอนตัวคือ LinkedIn โดยเมื่อเดือนตุลาคม บริษัท ไมโครซอฟท์ ประกาศยุติการให้บริการ LinkedIn ในประเทศจีนในช่วงปลายปีนี้ หลังรัฐบาลจีนเดินหน้ายกระดับการควบคุมธุรกิจอินเทอร์เน็ต

 

อย่างไรก็ดี บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันอื่นๆ จำนวนมากยังคงทำธุรกิจใหญ่ในจีน รวมถึง Apple, Tesla, Qualcomm และ Intel ทำให้ทางการสหรัฐฯ กังวลว่าจีนกำลังถ่ายโอนเทคโนโลยีและความลับของบริษัทเหล่านี้ กังวลว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศจีนมีความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงทางไซเบอร์ และกังวลว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะยอมเล่นตามกฎของปักกิ่ง

 

การขัดแข้งขัดขายักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนอย่าง Huawei โดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ทำให้ปักกิ่งตระหนักมากขึ้นว่าสหรัฐฯ สามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนได้อย่างง่ายดายเพียงใด

 

“นวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้กลายเป็นสมรภูมิหลักในเกมกลยุทธ์ระดับโลก” สีกล่าวในการประชุมแห่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สีกล่าวซ้ำในหลายโอกาสว่า จีนจำเป็นต้องบรรลุ ‘การพึ่งพาตนเอง’

 

ในขณะที่ทางฝ่ายสหรัฐฯ ก็มีความตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการหยุดยั้งไม่ให้ความรู้ความชำนาญที่มีความอ่อนไหวของชาวอเมริกันตกไปอยู่ในมือของจีน โดยหน่วยงานต่างๆ พิจารณาการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากจีนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เกิดในจีนและทำงานในอเมริกาถูกจับกุมในข้อหาปกปิดความสัมพันธ์กับรัฐจีน

 

– เสียงของผู้นำโลก

ผู้นำของจีนเห็นสัญญาณความตกต่ำของสหรัฐฯ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความแตกแยกในประเทศจากประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานที่สร้างความโกลาหล

 

ผู้นำจีนต้องการเสียงที่ดังขึ้นในการเป็นผู้นำโลก ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทในสถาบันที่ถูกครอบงำโดยตะวันตก เช่น องค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ จีนยังได้จัดตั้งธนาคารโลกในรูปแบบของตนเองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาประเทศยากจน ตลอดจนขยายการรวมกลุ่มพันธมิตรหลวมๆ กับประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย อิหร่าน และคิวบา ที่ต่างต่อต้านการแทรกแซงจากตะวันตก

 

เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า อเมริกาต้องไม่มองว่าการผงาดขึ้นของจีนเป็นภัยคุกคาม โดยในเดือนกันยายน หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน บอกกับ จอห์น แคร์รี ทูตด้านสภาพอากาศของไบเดนว่า “การตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด” เป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศมาถึงจุดนี้ พร้อมยกสุภาษิตที่ว่า ‘เรียนผูก ต้องเรียนแก้’

 

“ตอนนี้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับอเมริกาแล้ว” รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าว

 

ทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน มีอะไรน่าจับตาต่อในปี 2022

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีแนวโน้มระหองระแหงต่อในปี 2022 เริ่มจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศชัดแล้วว่าจะบอยคอตทางการทูต ไม่ส่งเจ้าหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมเพื่อตอบโต้จีนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งเวลานี้มีพันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียที่ขานรับดำเนินการตามสหรัฐฯ ขณะที่จีนประกาศจะตอบโต้ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าปักกิ่งจะตอบโต้อย่างไร และการเผชิญหน้าจะไปถึงจุดไหน  

 

การเมืองภายในร้อนฉ่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

สหรัฐฯ จะเข้าสู่ปีการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2022 ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องจีนจะเป็นประเด็นหลักที่พรรคเดโมแครตของไบเดนและรีพับลิกันหยิบยกมาโจมตีและใช้ในการหาเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และทั้งสองพรรคต่างก็มีจุดยืนที่คล้ายกันคือไม่โอนอ่อนต่อจีน

 

ส่วนในจีนนั้น สิ่งที่น่าจับตาอย่างมากในปีหน้า คือการที่สีจิ้นผิงเตรียมจะกระชับอำนาจมากขึ้น โดยในเดือนตุลาคมจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งคาดการณ์กันว่าที่ประชุมจะมีมติกรุยทางให้สีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 1 วาระ ซึ่งหลังจากนั้นสีจิ้นผิงจะสามารถสานต่อนโยบายที่เข้มงวดในมิติต่างๆ ของเขาได้ต่อไป

 

ความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน

ในปี 2021 ที่ผ่านมา วอชิงตันสร้างความโกรธเคืองให้ปักกิ่งจากการส่งคณะสมาชิกสภาคองเกรสไปเยือนไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินอย่างชัดเจน ซึ่งจีนมองว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง

 

ที่ผ่านมาจีนต่อต้านความพยายามใดๆ ที่บ่งชี้ว่าไต้หวันกำลังแยกตัวเป็นเอกราช รวมทั้งต่อต้านต่างชาติที่สนับสนุนไทเปให้เดินบนเส้นทางนั้น โดยในช่วงปลายปี 2021 จีนส่งเครื่องบินทหารหลายสิบลำเข้าใกล้เขตน่านฟ้าป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันหลายครั้ง เพื่อเป็นการย้ำเตือน

 

คาดกันว่าประเด็นไต้หวันจะยังเป็นหนึ่งในมิติความขัดแย้งสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 2022 โดยจีนจะเดินหน้าต่อต้านหรือคัดค้านความพยายามของไต้หวันในการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อต้านการรับรองไต้หวันในเวทีประชาคมโลกด้วย

 

ในขณะที่ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันทวีเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจีนจะเข้ายึดไต้หวันด้วยกำลัง ซึ่งจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การทำสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า เรื่องนี้ยังมีความเป็นไปได้ไม่มาก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังง่วนอยู่กับการจัดงานใหญ่ในปีหน้า ดังนั้นจึงต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพมากกว่าความสั่นคลอน

 

“ความเสี่ยงที่จีนจะโจมตีไต้หวันก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 20 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 นั้นมีต่ำมาก” บอนนี เกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียแห่ง German Marshall Fund of the US ให้ความเห็นกับ DW

 

“สีจิ้นผิงไม่น่าจะรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3” เกลเซอร์กล่าว

 

ส่วนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นอีกแนวปะทะสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะเดินหน้าพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำสากล แม้ว่าจีนจะประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ก็ตาม

 

การแบ่งขั้วเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน

ความมั่นคงทางไซเบอร์จะเป็นอีกมิติความขัดแย้งสำคัญระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง โดยในปี 2021 สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าให้การสนับสนุนการโจมตีทางไซเบอร์และแฮกข้อมูลหลายครั้ง นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังต่อต้านการวางระบบการสื่อสารทั่วโลก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน 5G ของจีน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มดำเนินต่อในปี 2022 ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนกำลังแบ่งขั้วเทคโนโลยีกันอย่างชัดเจน

 

เกลเซอร์ให้ความเห็นว่า “สหรัฐฯ เพิ่งเริ่มจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีให้จีนที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะมีมาตรการมากขึ้นอีกในปี 2022 โดยในปีหน้าคาดว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะอุดช่องโหว่ทางกฎระเบียบต่างๆ เช่น การที่อนุญาตให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนอย่าง SMIC ให้ซื้อเทคโนโลยีสำคัญจากสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้คาดว่าหน่วยงานจีนหลายแห่งจะถูกบรรจุเข้าบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ด้วย ซึ่งสหรัฐฯ จะมีการหารือกับชาติพันธมิตรในการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี รวมทั้งการคัดกรองการลงทุนโดยตรงในจีนด้วย

 

กล่าวโดยสรุป การเผชิญหน้าในมิติความขัดแย้งสำคัญระหว่างสองมหาอำนาจจะดำเนินต่อไปในปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและฮ่องกง ปัญหาไต้หวัน ทะเลจีนใต้ รวมถึงการแข่งขันทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางไซเบอร์ 

 

โดยเกลเซอร์มองว่า การเมืองภายในจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ และจีนในปี 2022 ทั้งการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 และการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่สองประเทศจะทำข้อตกลงบางอย่าง หากเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X