อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตาที่สุดในวงการบันเทิงไทยปีนี้คงนี้ไม่พ้น ‘ซีรีส์วาย’ หรือซีรีส์แนว Boy’s Love ที่กำลังได้รับความนิยมในวงกว้าง และยังจุดกระแส T-Wave ลูกใหม่ให้แพร่ไปในหลายประเทศทั่วโลก
จากการสังเกตพัฒนาการเหล่านี้อยู่เสมอ THE STANDARD POP ขอหยิบซีรีส์วายที่โดดเด่นในปี 2021 นี้มาพูดถึงพล็อต การแจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่ กระแสที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา และวิเคราะห์ความน่าจะเป็นในการสร้าง Soft Power ผ่านซีรีส์วาย ที่เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันวงการบันเทิงไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน
พล็อตซีรีส์วาย ความหลากหลาย และมิติใหม่ที่เพิ่มขึ้น
หากมองย้อนกลับไป ประเทศไทยมีการผลิตและการสอดแทรกเรื่องราวความรักระหว่างเพศเดียวกันผ่านซีรีส์และภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ (แต่ส่วนมากจะไม่ใช่คู่หลัก) จนกระทั่งกระแสของซีรีส์วายเริ่มปะทุขึ้นในปี 2017
เรื่องราวการตกหลุมรักท่ามกลางบรรยากาศที่สดใสในวัยเรียน เคมีของนักแสดงที่โดดเด่น ทำให้ซีรีส์วายกลายเป็นหนึ่งในประเภทงานที่ย่อยง่ายและทำลายกำแพงจารีตบางอย่างได้อย่างดี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์แบบ Boy’s Love ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าโดยทั่วไปซีรีส์วายมักจะบอกเล่าเรื่องราวความรักของวัยรุ่นภายใต้บริบทที่ไม่ได้มีความขัดแย้งมากมายนัก แต่ปีที่ผ่านมาซีรีส์วายหลายๆ เรื่องก็พยายามทลายกรอบนี้ โดยหยิบแง่มุมใหม่ๆ มาบอกเล่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริบททางสังคมที่มีปัญหา การเพิ่มเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้นให้กับเส้นเรื่อง ไปจนถึงรายละเอียดของอาชีพที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง
หากจะพูดถึงพล็อตที่แปลกใหม่และโดดเด่นในปีนี้ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องยกให้ซีรีส์เรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ที่เล่าเรื่องราวของ บรรณ แพทย์นิติเวชผู้ได้รับมอบหมายให้ชันสูตรศพของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แต่เขากลับพบสิ่งไม่ชอบมาพากลที่ระบุว่านี่คือการฆาตรกรรมแฝง การสืบหาความจริงจึงเริ่มขึ้น ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอำนาจท้องถิ่น และความรักที่ก่อตัวขึ้นกับครูแทน
ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ถือว่าเป็นซีรีส์วายแนวสืบสวนเรื่องแรกๆ ที่เน้นเล่าเรื่องราวการสืบหาความจริงมากกว่ามุมโรแมนติก และพูดถึงปัญหาของระบบราชการและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นอย่างตรงไปตรงมา เป็นการนำเสนอซีรีส์วายแนวใหม่ที่น่าสนใจมากๆ แม้จะไม่ได้เป็นกระแสโดดเด่น แต่ก็ถือว่าเป็นการหลุดจากกรอบของซีรีส์วายแบบเดิมๆ ได้ดี
ภาพจากซีรีส์พฤติการณ์ที่ตาย (2021)
นอกจากพฤติการณ์ที่ตายแล้ว ซีรีส์อีกเรื่องที่มีพล็อตหนักไปทางการสืบสวน มีฉากบู๊ และนำเสนอออกมาในภาพลักษณ์แบบดิสโทเปีย (โลกในอุดมคติที่เต็มไปด้วยสิ่งเลวร้าย) ที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในวงการละครไทย ก็คือ ‘NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม’
เรื่องราวของ ไวท์ และ แบล็ค สองฝาแฝดที่มีความเชื่อมโยงถึงกันเมื่ออีกฝ่ายเกิดอันตรายได้ แต่แล้วการหย่าร้างของพ่อแม่ทำให้พวกเขาต้องแยกจากกัน และสูญเสียความพิเศษนี้ไป จน 15 ปีผ่านไป พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้ง แต่ในสถานการณ์ที่แบล็คอยู่ในขั้นโคม่า ร่างกายที่บอบช้ำของแบล็คทำให้ไวท์ตัดสินใจปลอมตัวเป็นแบล็คเพื่อออกตามล่าคนที่ทำร้ายฝาแฝดของเขา
นอกจากเนื้อหาที่น่าตื่นเต้นแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังสอดแทรกปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความสำคัญของ Role of Law หรือกฎหมายเป็นผู้ปกครองของสังคม ให้ผู้ชมได้ทำความเข้าใจมากขึ้นด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางทีมงาน และผู้กำกับอย่าง นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ตัดสินใจเพิ่มเติมเข้าไปจากนิยายต้นฉบับ เพื่อแสดงให้เห็นภาพของสังคมและการต่อสู้ของวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ความกล้าหาญ และความเจ็บปวด
ภาพจากซีรีส์ NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม (2021)
แม้ว่าตัวซีรีส์จะมีเนื้อหาที่ยอดเยี่ยม แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร จากประเด็นการนำแฟนฟิกชัน หรือนิยายที่แต่งโดยใช้คาแรกเตอร์ของศิลปินที่มีตัวตนอยู่จริงๆ มาสร้างซีรีส์
มารยาทของวงการ ‘แฟนฟิกชัน’ หรือ ‘แฟนฟิก’ นักเขียนจะไม่สามารถสร้างรายได้จากงานเขียนของตัวเองได้ เนื่องจากมีการอ้างและการนำอัตลักษณ์ของบุคคลอื่นมาสร้างประโยชน์โดยไม่ได้รับการยินยอม ทำให้การสร้างรายได้จากแฟนฟิกเป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธ์ และถือเป็นการไม่ให้เกียรติศิลปินเจ้าของคาแรกเตอร์
ในกรณีของ NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม ตัวนิยายมีการปรับเปลี่ยนชื่อและภาพลักษณ์ของตัวละครที่เดิมเคยเป็นศิลปินออกไปก่อนจะนำไปขายเชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่ได้ละเมิดลิขสิทธ์ทางกฎหมาย แต่หากผิดในเชิงของจรรยาบรรณนักเขียน แม้ว่าจะมีแฟนๆ บางกลุ่มแจ้งเรื่องนี้ไปที่ต้นสังกัตของซีรีส์มาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มถ่ายทำ แต่ก็ไม้ได้รับการตอบรับใดๆ จนส่งผลให้ซีรีส์เรื่องนี้ถูกแบนจากแฟนๆ ที่ต้องการสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้นให้กับวงการนักเขียนและซีรีส์วาย
ภาพจากซีรีส์ NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม (2021)
มาถึงซีรีส์ที่มีการพูดถึงปัญหาในท้องถิ่นผสมไปกับความโรแมนติกได้อย่างลงตัวอีกเรื่อง อย่าง ‘นิทานพันดาว’ เรื่องราวของ เธียร ที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจจาก ทอฝัน ครูอาสาของหมู่บ้านผาปันดาว
เธียรเดินทางไปเป็นครูอาสาที่หมู่บ้านผาปันดาวเพราะอยากตอบแทนทอฝัน จนได้พบกับ หัวหน้าภูผา เจ้าหน้าที่อุทยาน หัวหน้าหน่วยพระพิรุณที่มีหน้าดูแลหมู่บ้านผาปันดาวและช่วยเหลือเธียร
ความโดดเด่นและแปลกใหม่ของซีรีส์เรื่องนี้ คือการหยิบเอาอาชีพครูอาสาและเจ้าหน้าที่อุทยานที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในภาพยนตร์หรือละครเท่าไรมาบอกเล่า ร่วมกับการแทรกปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงปัญหาสวัสดิการรัฐในพื้นที่ห่างไกล โดยยังคงความโรแมนติกน่ารักของสองพระนายไว้ได้อย่างลงตัว ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นซีรีส์ย่อยง่ายที่โดดเด่นด้านเนื้อหาอีกเรื่องของปี
ภาพจากซีรีส์นิทานพันดาว (2021)
นอกจากนี้ ซีรีส์ที่หยิบเอารายละเอียดอาชีพมาพูดได้โดดเด่นไม่แพ้สองเรื่องด้านบนก็คือ นับสิบจะจูบ ซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวระหว่าง จีน นักเขียนนิยายวาย และ นับสิบ นักแสดงของซีรีส์ที่จีนเป็นคนเขียน
เนื้อหาของเรื่องนี้ค่อนข้างตีแผ่วงการนิยายและวงการซีรีส์วายได้ดี เกี่ยวกับปัญหาการตอบสนองวัฒนธรรม ‘การจิ้น’ ของนายทุนที่อยากสร้างกระแสคู่จิ้น การควบคุมนักแสดงให้อยู่ในบรรทัดฐานของวงการ ไปจนถึงการบังคับให้นักเขียนเพิ่มฉากเลิฟซีนเพื่อสร้างเรตติ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งนักเขียนและนักแสดงในวงการวาย เรียกว่าเป็นซีรีส์วายที่วิพากษ์วิจารณ์พื้นที่ที่ตัวเองอยู่ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ
รวมทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาของการ Coming Out หรือ การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศกับครอบครัว ข้อกังวลและมุมมองของครอบครัวต่อความรักร่วมเพศ รวมถึงการทำความเข้าใจและการพูดเรื่องเพศในครอบครัวอย่างละเมียดละไม
ภาพจากซีรีส์นับสิบจะจูบ (2021)
แม้ว่าประเด็นที่ซีรีส์วายพูดถึงนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมปัญหา และไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน LGBTQ+ ได้อย่างรอบด้าน แต่พล็อตของซีรีส์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นสะท้อนปัญหาของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย
แจ้งเกิดคู่จิ้นหน้าใหม่ พร้อมเคมีที่ลงตัว
เคมีของนักแสดงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ประสบความสำเร็จและได้กระแสตอบรับที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะตัดสินว่านักแสดงคู่ไหนมีเคมีลงตัวมากที่สุด เพราะคำว่าเคมีที่ลงตัวนั้นเป็นเรื่องปัจเจก ที่ขึ้นอยู่กับความชอบและสไตล์ของผู้ชมแต่ละคน เราจึงไม่สามารถตัดสินได้จากมุมมองของใครเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างเคมีที่ทำให้ใครต่อใครอินไปกับความสัมพันธ์ในเนื้อเรื่องได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยทักษะการแสดง บทบาทที่เหมาะสม และพล็อตเรื่องที่น่าดึงดูด ซึ่งซีรีส์ที่มีพล็อตโดดเด่นและแปลกใหม่ก็สามารถสร้างเคมีที่ลงตัวให้กับนักแสดง จนแจ้งเกิดคู่จิ้นหน้าใหม่ขึ้นมาได้
อย่างคู่ของ เอิร์ท-พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ (หัวหน้าภูผา) และ มิกซ์-สหภาพ วงศ์ราษฎร์ (เธียร) นักแสดงนำจากเรื่องนิทานพันดาว ที่ได้รับกระแสตอบรับจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม จนทำให้ #เอิร์ทมิกซ์ ขึ้นไปเหยียบอันดับ 1 เทรนด์ไทยในช่วงเดือนสิงหาคม และครองอันดับต้นๆ บนเทรนด์ Twitter ในหลายประเทศตลอดปีที่ผ่านมา
และจากข้อมูลภาพรวม Twitter ไทยในปี 2021 มิกซ์ หรือแอ็กเคานต์ @mixxiws ก็เป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ถูกทวีตถึงมากที่สุดในปี 2021 ด้วย
ภาพจากซีรีส์นิทานพันดาว (2021)
รวมถึงซีรีส์ ‘นับสิบจะจูบ’ ที่แจ้งเกิดคู่นักแสดง เก้า-นพเก้า เดชาพัฒนคุณ (นับสิบ) และ อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง (จีน) คู่นักแสดงที่มีกระแสและงานคู่ออกมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ แม้ว่า #ก้าวอัพ หรือ #kaoup จะไม่เคยติดเทรนด์ใน 20 อันดับแรกบน Twitter ไทย แต่แฮชแท็กอีเวนต์คู่หลายๆ งานก็ขึ้นเทรนด์ใน 5 อันดับแรกอยู่เรื่อยๆ
ภาพจากซีรีส์นับสิบจะจูบ (2021)
นอกจากนี้ยังมีคู่นักแสดงแจ้งเกิดที่มีกระแสโดดเด่นมากๆ อย่างคู่ของ โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี (ภัทร) และ นนน กรภัทร์ เกิดพันธุ์ (ปราณ) จากเรื่อง แค่เพื่อนครับเพื่อน Bad Buddy Series ที่เริ่มมีกระแสให้เห็นแววแจ้งเกิดมาตั้งแต่ต้นปี
โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา #ohmnanon ก็เคยติดเทรนด์ Twitter อันดับ 1 ในประเทศอินโดนีเซีย และต่อมาในเดือนธันวาคมแฮชแท็กนี้ก็กลับมาติดเทรนด์อีกครั้งในอันดับที่ 2 บน Twitter ไทย และอันดับที่ 3 บน Twitter ประเทศเวียดนาม
จนมาถึงปัจจุบัน (25 ธันวาคม 2021) Bad Buddy Series ออกอากาศถึงตอนที่ 9 ด้วยพล็อตที่ย่อยง่าย น่ารัก บวกกับเคมีที่เข้ากันจริงๆ ทำให้ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย ยุโรป และลาตินอเมริกา จน #BadBuddySeriesEP8 สามารถขึ้นเทรนด์อันดับที่ 1 เทรนด์โลก และเทรนด์อันดับต้นๆ ในอีก 21 ประเทศ จ่อสถานะซีรีส์ที่ติดเทรนด์ Twitter ได้มากที่สุดของปีนี้ (ข้อมูลจากวันที่ 18 ธันวาคม 2021)
ภาพจากซีรีส์ แค่เพื่อนครับเพื่อน Bad Buddy Series (2021)
ความสำเร็จของซีรีส์วายไทยในต่างประเทศ
หลายคนคงพอรู้มาบ้างแล้วว่าซีรีส์วายนั้นประสบความสำเร็จและเป็นกระแสอย่างมาก ทั้งในประเทศไทย และประเทศและดินแดนในแถบเอเชีย อย่างจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ‘สำรวจซีรีส์และละครไทย ไปดังที่ส่วนไหนของโลกบ้าง’)
ซึ่งในปี 2020 ซีรีส์วายไทยอย่าง TharnType The Series ก็เริ่มสร้างปรากฏการณ์ความนิยมไปทั่วโลก จนวันที่ 2 มกราคม #TharnTypeFinale ติดเทรนด์ Twitter ใน 31 ประเทศทั่วโลก มาจนถึง TharnType SS2 ในปีนี้ ที่ถึงแม้กระแสตอบรับอาจจะน้อยกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้ แต่ก็ยังทำให้ #TharnTypeSS2EP1 ติดเทรนด์ Twitter ไปทั้งหมด 21 ประเทศ และยังครองอันดับ 1 เทรนด์โลกได้อีกด้วย
ภาพจากซีรีส์ TharnType SS2 (7 Years of Love) (2021)
ต่อด้วยกระแสของซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ที่ #คั่นกูตอนจบ ก็ถูกพูดถึงบนโลก Twitter จนติดเทรนด์ใน 27 ประเทศ รวมถึงเทรนด์อันดับ 1 ของโลก นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับในแง่คุณภาพ การันตีด้วยรางวัล Special Award for Foreign จากงาน 14th Tokyo Drama Awards 2021 และ Asia Celebrity Award จากงาน 2021 Asia Artist Awards ต่อเนื่องมาถึงกระแส #ไบร์ทวิน ที่ยังดีต่อเนื่องไม่มีตก ลากยาวมาจนถึง ซีรีส์ F4 Thailand ที่ทั้งสองคนไม่ได้เล่นเป็นตัวละคร ‘คู่กัน’ แต่คนก็ยังคิดถึง ‘คู่นี้’ มากๆ อยู่ดี
ภาพจากซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (2020)
เช่นเดียวกับ ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 ที่กระแสตอบรับยอดเยี่ยมจาก หลายประเทศ รวมถึงประเทศบราซิลและเม็กซิโก ที่ทำให้ #แปลรักฉันด้วยใจเธอPart2 ติดอันดับ 1 เทรนด์โลก และในอีก 8 ประเทศในแถบเอเชียและลาตินอเมริกา
และการันตีคุณภาพด้วยรางวัลจากต่างประเทศ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่คว้ารางวัลจากงาน Seoul International Drama Awards 2021 ประเทศเกาหลีใต้ มาได้ 2 รางวัลคือ International Drama of the Year และรางวัล Asian Star Prize ที่มอบให้กับ พีพี กฤษฏ์ ในบทโอ้เอ๋ว โดยเฉพาะ
ภาพจากงานประกาศรางวัล 2021 Asia Artist Awards
ผลจากกระแสความนิยม และการเป็น Soft Power ของไทย
ซีรีส์วายถูกสร้างอยู่บนพื้นฐานของการเป็น ‘ไอดอล’ หรือศิลปินเน้นการสร้างกลุ่มแฟนคลับ ซีรีส์วายจึงไม่ได้ขายแค่เรื่องราวและเนื้อหา แต่ยังขายภาพลักษณ์ของนักแสดงเพื่อสร้างฐานแฟนคลับของซีรีส์และคู่นักแสดงนั้นๆ ไปพร้อมกันด้วย (ฟัง ทำไมซีรีส์วายไทย ถึงฮอตฮิตไปทั่วโลก? Feat. ออฟ นพณัช | โลกคือละคร EP.11 )
แฟนคลับคือกลุ่มคนที่มีความชื่นชอบในตัวศิลปิน เขาคือกลุ่มคนที่พร้อมจะมอบความรักและแรงสนับสนุนให้กับศิลปินในทุกมิติ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงแต่สนใจในผลงานของศิลปินเท่านั้น แต่พวกเขายังให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวของศิลปินคนนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ศิลปินพูด อาหารที่เขากิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เขาเคยไป
ดังนั้นนอกจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการฉายซีรีส์แล้ว ตัวตนของคู่นักแสดงก็สามารถสร้างรายได้จากการจัดแฟนมีตติ้ง การร้องเพลง และการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าร่วมกัน
ฟังเพลง กีดกัน (Skyline) OST.แปลรักฉันด้วยใจเธอ
เมื่อแทนค่าสิ่งเหล่านี้ด้วยคำว่า Soft Power เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการส่งออกซีรีส์วายของไทยคือปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิด T-Wave ลูกใหม่ได้ดีทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรมไทย อาหารไทย หรือการเพิ่มการลงทุนในประเทศก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตามมาจากแรงดึงดูดของอุตสาหกรรมซีรีส์วายได้เช่นกัน
ภาพบรรยากาศงานคอนเสิร์ต FANTOPIA 2020
ภาพบรรยากาศงานแฟนไซน์ MewGulf Calendar 2020
จะเห็นได้จากซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่ทำให้แฟนซีรีส์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยากจะไปเที่ยวภูเก็ตตามรอยตัวละครเต๋และโอ้เอ๋ว หรือซีรีส์เพราะเราคู่กัน ที่ก็ทำให้เพลงของวงสครับบ์ (Scrubb) กลับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของชาร์ตสตรีมมิงไทย เช่น คู่กัน, ใกล้, ทุกอย่าง และ รอยยิ้ม ฯลฯ
ฉากคอนเสิร์ต Scrubb ในซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (2021)
ตามข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่รายงานไว้ว่าซีรีส์วายสามารถสร้างรายได้กว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้วงการนี้กลายเป็นขุมทรัพย์ของผู้ผลิตสื่อไทย
ในปีนี้เราจึงเห็นซีรีส์วายเข้าไปเป็นโปรแกรมของรายการทีวีช่องหลักมากขึ้น และยังเห็นผู้จัดเจ้าใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในวงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดชื่อดังประจำช่อง 3 อย่าง แจ๋ว ยุทธนา ที่กำลังซุ่มถ่ายทำซีรีส์ คุณหมีปาฏิหาริย์ หรือค่าย Good Feeling ของผู้จัด คิง สมจริง และค่าย ดีทุกวัน 2019 ของ ก้อง ปิยะ และ ชุ ชุดาภา ที่ทำงานร่วมกับค่าย Dee Hup House (ดี ฮัพ เฮ้าส์) ในการผลิตซีรีส์ นับสิบจะจูบ
ภาพโปรโมตจากซีรีส์คุณหมีปาฏิหาริย์
แม้ว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถตัดสินได้ว่าการส่งออกซีรีส์วายของไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการท่องเที่ยวหรือการลงทุนจากต่างประเทศได้แค่ไหน เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด แต่จากการถูกพูดถึงอย่างล้นหลามในโซเซียลมีเดียตลอดปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เราแน่ใจได้ในส่วนหนึ่งว่า หากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นแล้ว ซีรีส์วายก็น่าจะนำพาแฟนจากต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวและสนใจในความเป็นไทยได้ไม่มากก็น้อย
สุดท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อมาเสมอว่า ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร รวมไปถึงความสามารถทางการผลิตสื่อและการแสดงที่น่าหลงใหล ดังนั้นหากรัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง กระแส T-Wave ที่หลายคนใฝ่ฝันถึงมันอาจจะไม่ได้ไกลอย่างที่คิดก็เป็นได้
ขอบคุณภาพจาก นาดาวบางกอก, GMMTV, Dee Hup House และ TV Thunder
ขอบคุณข้อมูลทางสติติจาก https://getdaytrends.com/
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจซีรีส์และละครไทย ไปดังที่ส่วนไหนของโลกบ้าง
- จับตาปรากฏการณ์ ‘ซีรีส์วาย’ จากไทยสู่เวทีโลก กับ GMMTV, Studio Wabi Sabi, EverY และแชนแนลหนังหน้าโรง
อ้างอิง: