ประเด็นเรื่องเพศเป็นหัวข้อคุกรุ่นอยู่เสมอท่ามกลางความเป็นสังคมอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้ การเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่เคยเป็นเรื่องง่าย พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันจากอคติทางเพศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด เพศหลากหลายได้รับผลกระทบอย่างมากจากการถูกเลือกปฏิบัติมากกว่าเดิม กระนั้นความตระหนักรู้และการผลักดันกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในเกาหลีใต้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในปี 2021 อ้างอิงผลสำรวจโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า คนเกาหลีใต้ 7 ใน 10 คนเชื่อว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อยทางเพศเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และ 9 ใน 10 คนสนับสนุนการบัญญัติกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ
หันกลับมาที่วงการบันเทิงเกาหลีใต้ ซึ่งเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ขยับขยายอิทธิพลไปทั่วโลก แม้มีคนบันเทิงเพียงหยิบมือที่กล้าเปิดเผยว่าเป็น LGBTQ+ แต่หากเจาะจงมาที่สื่อบันเทิงอย่างซีรีส์ ซึ่งค่อนข้างเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอตัวละครที่เป็นเพศหลากหลายอยู่เนืองๆ เช่น Life is Beautiful, Reply 1997, Schoolgirl Detectives, It’s Okay, That’s Love, Prison Playbook, At Eighteen, Love with Flaws, Hello Dracula และ Be Melodramatic ฯลฯ หรือเรื่องดังอย่าง Itaewon Class ของปีก่อนหน้านี้ คือก้าวสำคัญในการนำเสนอตัวละครภายในพื้นที่ย่านอีแทวอน ซึ่งเป็นภาพแทนของความหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ มาฮยอนอี เชฟทรานส์เจนเดอร์ที่ ‘พิสูจน์’ ว่าจริงๆ แล้วเธอไม่จำเป็นต้องพยายาม ‘พิสูจน์’ ความสามารถของตัวเองมากกว่าคนอื่น เพื่อให้สังคมยอมรับการเป็นผู้หญิงข้ามเพศ
ในปี 2021 นี้เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในซีรีส์เกาหลี เรื่องที่ต้องยกว่าโดดเด่นมากที่สุดจริงๆ คือ Mine ทั้งการ Empower ผู้หญิงและเพศหลากหลายผ่านตัวละครหลักสะใภ้ใหญ่ จองซอฮยอน ที่พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอไม่จำเป็นต้องขอโทษใครเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง หรือการปิดสรุปด้วยคำพูดที่คนอยากได้ยินจากคนรุ่นเก่าว่า “ขอโทษที่โลกใบนี้ทำให้เธอต้องซ่อนตัวตนเอาไว้ ทั้งที่เธอไม่ได้ผิดเลย”
สิ่งหนึ่งที่ LGBTQ+ มักจะเจอเมื่อเปิดเผยตัวตนคือ การถูกบอกว่าพวกเขาป่วยเป็นโรคทางจิต คำพูดเหล่านั้นยิ่งเจ็บปวดเมื่อมาจากครอบครัว ในซีรีส์เยียวยาหัวใจแห่งปีอย่าง Hometown Cha-Cha-Cha เลือกให้บท คุณครูยูโชฮี แอบชอบรุ่นพี่ผู้หญิงคนสนิท เมื่อแม่ของเธอรู้เข้าจึงตัดพ้อว่าจะส่งเธอเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเธอตอบกลับไปอย่างหนักแน่นว่าเธอปกติดีทุกอย่าง ไม่ใช่ความผิดของแม่ที่คิดว่าเลี้ยงลูกมาไม่ดี แต่การชอบใครสักคนก็ไม่ใช่ความผิดของเธอด้วยเช่นกัน
“การรักใครสักคนไม่ใช่เรื่องน่าอาย” ฮันกือรู พูดไว้ใน Move to Heaven ซีรีส์เรียกน้ำตาที่เล่าเรื่องยากๆ ของบริษัทรับจัดการข้าวของหลังจากคนคนหนึ่งลาโลกไปและทิ้งความทรงจำไว้ให้คนข้างหลัง ดังเช่นใน EP.5 จองซูฮยอน ผู้เสียชีวิต ได้ฝากจดหมายที่พ่อของเขาผู้เป็นทหารโยนทิ้งไป เพราะไม่อยากยอมรับว่าจดหมายนั้นจ่าหน้าถึง พัคเอียน คนรักของซูฮยอนที่เลิกรากันไป เพราะก่อนหน้านี้เขาตัดสินใจจะแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นตามที่ครอบครัวต้องการ เราได้เห็นซูฮยอนผู้คุ้นเคยกับสังคมเกาหลีมากกว่าไม่กล้าเปิดเผยในที่สาธารณะว่าเป็นเกย์ ซึ่งกว่าจะถึงวันที่เขารวบรวมความกล้าเพื่อกลับไปหาคนรักอีกครั้งก็สายเกินไปแล้ว ทั้งคู่อาจมีเวลาให้ได้สัมผัสความรักกันนานกว่านี้ หากปราศจากการกีดกันจากพ่อแม่และสังคม
ลดความเศร้าลงเล็กน้อย มาหาอีกสองเรื่องที่นำเสนอภาพของ LGBTQ+ ด้วยฉากเรียบง่ายอย่าง Nevertheless คู่รองหญิงหญิงอย่างยุนซลกับจีวาน นิยามของคำว่า ‘เฟื่อน’ ที่พัฒนาความสัมพันธ์มาเป็นคนรักกันในตอนท้าย หรือ Inspector Koo คู่กอนอุกกับแดโฮ ความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนที่เริ่มจากคนสนิทในที่ทำงาน สู่การออกปากชวนมาอยู่ด้วยกัน โดยต่างคนต่างรู้ดีว่าพวกเขารู้สึกต่อกันอย่างไร
อีกเรื่องที่ลืมไปไม่ได้คือ Vincenzo ซีรีส์แนวดาร์กคอเมดี้ที่สร้างเรตติ้งพุ่งสูงไปเมื่อต้นปี ก็มีตัวละครเกย์อย่าง ฮวังมินซอง ศัตรูของ วินเชนโซ ที่มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายคนรัก ทนายสาวฮงชายอง ใช้คำว่า ‘คู่เดต’ แทน ‘แฟนสาว/แฟนหนุ่ม’ และพูดว่าการเป็นเกย์ของเขาเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการทำร้ายร่างกายคู่เดตเป็นเรื่องผิดไม่ว่าจะเป็นเพศใด ถึงอย่างนั้นหลายฉากๆ ก็ได้รับคำวิจารณ์จากคนดูว่าแสดงลักษณะ Homophobia จนเกินไป และเป็นการผลิตซ้ำภาพจำของ LGBTQ+ ในแง่ลบ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ควรถูกหยิบมาพูดถึงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วผู้เขียนมองว่า ถึงบทที่กล่าวมาจะเป็นเส้นเรื่องรองเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ถูกฉายทางช่องใหญ่ซึ่งมีคนรับชมจำนวนมาก นี่คือหมุดหมายอันดีของการที่สื่อมีพื้นที่ให้กับเพศหลากหลายมากขึ้น ทั้งการเล่นประเด็นหนักๆ อย่างการถูกเลือกปฏิบัติ, ความเป็นอื่นจากสังคม, การ Coming Out เหล่านี้คือการฉายสปอตไลต์ให้คนมองเห็นว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริง และต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างไรบ้างจากอคติทางเพศของสังคม
กระทั่งซีรีส์แนว Boys Love ที่มักมีข้อถกเถียงกันว่าเป็นการนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายอย่างแท้จริงหรือไม่นั้น ในเกาหลีใต้เองก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นรูปแบบมินิซีรีส์/เว็บดราม่า เช่น ปี 2020 มีเรื่อง When Your Eyes Linger, Mr. Heart, Color Rush และปี 2021 มีเรื่อง To My Star, You Make Me Dance, Light On Me, My Sweet Dear, Nobleman Ryu’s Wedding ฯลฯ หลายเรื่องที่กล่าวไปข้างต้นมีซับไทยให้ชมแล้วทางสตรีมมิง จึงเป็นการเติบโตที่น่าจับตามองไม่น้อย
อย่างที่รู้กันว่าฟากเอกชนของเกาหลีใต้มีกำลังทุ่มทุนให้โปรดักชันจำนวนมาก และรัฐบาลเองก็มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม เมื่อหันกลับมายังบ้านเราที่ปีหน้ามีลิสต์ซีรีส์วายยาวเหยียดให้รอชมและมีฐานคนดูเข้มแข็งสุดๆ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร (และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ยังไม่ผ่านสักที) หากวันไหนที่เกาหลีใต้เริ่มเบนมาเจาะกลุ่มเป้าหมายคนดูในต่างประเทศอย่างจริงจัง ก็เป็นไปได้ว่าบ้านเรามีร้อนๆ หนาวๆ แน่นอน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนยอมรับว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อเรื่องเพศที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมอีกมากเช่นกัน ซึ่งในวันที่ LGBTQ+ ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะในเกาหลีใต้หรือไทยเองก็ตาม ในฐานะคนดู เราเชื่อว่าทุกภาพแทนที่ผู้ผลิตนำเสนอ และทุกการถกเถียงที่ต่อยอดมาจากสื่อบันเทิงเหล่านี้ รวมถึงที่กำลังจะมีในปีต่อๆ ไป ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้เราก้าวไปสู่สังคมที่เคารพในความหลากหลายของผู้คนได้ในเร็ววัน
อ้างอิง: